xs
xsm
sm
md
lg

GGC เผยคดีถึงที่สุดกรณีปัญหาเรื่องวัตถุดิบคงคลังขาดหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



โกลบอลกรีนเคมิคอลเผยคดีถึงที่สุดกรณีปัญหาเรื่องวัตถุดิบคงคลังขาดหายเชื่อมั่นความโปร่งใส ยืนยันผลพิพากษา ส่งผลดีต่อบริษัท

นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยความคืบหน้าด้านคดีความถึงที่สุดในปี 2567 หลายคดี ส่งผลดีต่อบริษัทเป็นอย่างมาก โดยพบว่ามีคดีสำคัญ ดังนี้
คดีที่บริษัทเป็นโจทก์ฟ้องคู่ค้าผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ คดีถึงที่สุดแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยศาลอุทธรณ์ตัดสินให้จำเลยชำระเงินให้แก่บริษัท จำนวน 299.90 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ผิดสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น 

ขณะนี้อยู่ระหว่างการบังคับคดี
คดีที่บริษัทตกเป็นจำเลยเรื่องผิดสัญญาใช้บริการถังเก็บผลิตภัณฑ์และละเมิด ซึ่งมีทุนทรัพย์ที่ฟ้องจำนวน 449.77 ล้านบาท คดีถึงที่สุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ตัดสินยกฟ้องบริษัท ส่งผลดีให้บริษัทไม่ต้องชำระเงินตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องดังกล่าว

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 บริษัทได้แจ้งข่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงผลพิพากษาคดีที่บริษัทตกเป็นจำเลย ซึ่งเป็นกรณีที่อดีตผู้บริหารร่วมมือกับบริษัท อนัตตา กรีน จำกัด (คู่ค้า) ทำเอกสารการซื้อขายวัตถุดิบอันเป็นเท็จ เพื่อให้คู่ค้านำเอกสารไปเบิกเงินกู้จากบริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ACAP) และคู่ค้าได้โอนสิทธิการรับเงินตามสัญญาให้แก่ ACAP

ซึ่งภายหลังจากที่บริษัทตรวจพบปัญหาวัตถุดิบคงคลังกลางปี 2561 ACAP ได้นำเอกสารมาเรียกร้องให้บริษัทชำระหนี้ค่าวัตถุดิบรวม 11 รายการ แต่บริษัทได้ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเอกสารที่ไม่อยู่ในระบบของบริษัท และไม่พบหลักฐานการส่งมอบวัตถุดิบจากคู่ค้า บริษัทจึงปฏิเสธการชำระเงิน และต่อมาในเดือนสิงหาคม 2561 ACAP ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง เรียกร้องให้บริษัทอนัตตาฯ และบริษัทร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายให้ ACAP จำนวน 289.56 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี หากบริษัทไม่ชำระหนี้ให้ครบถ้วน ให้บริษัทอนัตตาฯ ชำระหนี้ส่วนที่เหลือ 

บริษัทจึงยื่นฎีกา และเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 ศาลฎีกาพิพากษาแก้ โดยลดดอกเบี้ยจากร้อย 15 ต่อปี เป็นร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดแต่ละสัญญา จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป คิดเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 400 ล้านบาท ทั้งนี้ในปี 2564 บริษัทได้ตั้งสำรองความเสียหายจากคดีดังกล่าวไว้แล้วจำนวน 444 ล้านบาท ทำให้บริษัทสามารถกลับรายการตั้งสำรองได้ประมาณ 44 ล้านบาท จึงไม่มีผลกระทบทางลบกับผลประกอบการของบริษัทแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม การกระทำของอดีตผู้บริหารและบริษัทอนัตตาฯ ดังกล่าวข้างต้นทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย โดยบริษัทได้แจ้งความดำเนินคดีอาญากับบุคคลดังกล่าว และเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งด้วย ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ บริษัทยังได้ฟ้องอดีตผู้บริหารเพื่อไล่เบี้ยความเสียหายจากกรณีดังกล่าวข้างต้นด้วย โดยศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้อดีตผู้บริหารมีความผิดจริงและให้ชดใช้ค่าเสียทั้งหมดคืนให้แก่บริษัท ซึ่งอยู่ระหว่างการบังคับคดี

บริษัทได้มีการดำเนินการด้านคดีความอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่งผลให้คดีความต่างๆ มีความคืบหน้ามาก ดังนี้
1.ความคืบหน้าคดีอาญา คดีอยู่ในชั้นศาล 3 คดี ตัดสินลงโทษจำเลยแล้ว 1 คดี อยู่ในชั้นอัยการ 1 คดี และอยู่ในชั้นสอบสวนอีก 4 คดี

2.ความคืบหน้าคดีแพ่ง กรณีที่บริษัทเป็นโจทก์มีอยู่ 5 คดี บริษัทชนะคดีทั้งหมดและคดีเกือบทั้งหมดถึงที่สุดแล้ว กรณีที่บริษัทเป็นจำเลย มีอยู่ 6 คดี บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล 2 คดี ชนะคดีแล้ว 3 คดี ยกเว้นคดีข้างต้น

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา GGC ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหากรณีวัตถุดิบคงคลังขาดหาย เพื่อพิสูจน์ความโปร่งใสของบริษัท และเพื่อประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นทั้งหมดอย่างต่อเนื่องเสมอมา” นายกฤษฎา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น