"สุริยะ" เช็กงานก่อสร้าง "ถนนพระราม 2" หลังตั้งคณะทำงานไล่บี้รับเหมา ห่วง 2 สัญญาช่วงสะพานแม่น้ำท่าจีน ลั่นต้องปิดจ็อบ มิ.ย. 68 ดีเดย์ปลายปี 67 เปิดใช้สะพานคู่ขนานพระราม 9 สั่งเร่งต่างระดับบางขุนเทียน จุดเชื่อม M82 ใช้ปีใหม่ 68 ระบายรถลงใต้
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการติดตามโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างบนถนนพระราม 2 (ทางหลวงหมายเลข 35) ซึ่งมีทั้งทางด่วน และทางยกระดับ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) (M82) สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว ซึ่งมีปัญหาความล่าช้าในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากผู้รับเหมาประสบปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 67 ได้อนุมัติให้สำนักงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 600.35 ล้านบาท จ่ายเงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้กับงานที่ก่อสร้างเสร็จแล้วของบริษัทรับเหมาที่ทำงานบนถนนพระราม 2 ในปัจจุบันประมาณ 17 บริษัท เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้บริษัทเหล่านั้นและสามารถทำงานบนถนนพระราม 2 แล้วเสร็จตามสัญญาทั้งหมดเดือน มิ.ย. 2568
โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ของกรมทางหลวง M82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงที่ 1 (บางขุนเทียน-เอกชัย) ระยะทาง 11.7 กม. วงเงิน 10,500 ล้านบาท มีจำนวน 3 ตอน จะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย. 2567 โดยตอนที่ 1 ช่วง กม.ที่ 11+959 - กม.ที่14+535 ระยะทาง 2.575 กม. วงเงิน 3,994 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า เอ็นทีเอ (กลุ่ม บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 69.835% ล่าช้า 0.696% (แผน 97.531%) ตอนที่ 2 ช่วง กม.ที่ 14+535 - กม.ที่ 18+642 ระยะทาง 4.1 กม. วงเงิน 3,991 ล้านบาท มี บจ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 93.520% เร็วกว่าแผน 0.003% (แผน 93.517%) และตอนที่ 3 ช่วง กม.ที่ 18+642 - กม.ที่ 20+295 ระยะทาง 1.65 กม. วงเงิน 2,491 มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 96.021% เร็วกว่าแผน 0.984% (แผน 95.037%)
ด้านนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามนโยบายของรมว.คมนาคม ต้องการให้เร่งรัดจุดเชื่อมต่อระหว่างทางด่วนสายพระราม 3- ดาวคะนอง-ถ.วงแหวน สัญญาที่ 1 กับมอเตอร์เวย์ M82 สัญญาที่ 1 ที่บริเวณต่างระดับบางขุนเทียน เพื่อระบายรถจากถนนวงแหวนด้านตะวันตก (บางขุนเทียน) สู่ภาคใต้ในช่วงปีใหม่ 2568
ส่วน M82 (ช่วงที่ 2 เอกชัย-บ้านแพ้ว) ระยะทาง 16.4 กม. วงเงิน 18,759 ล้านบาท มีจำนวน 10 ตอน ซึ่งขณะนี้มี 2 ตอนที่อยู่ใกล้กับสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน มีความล่าช้าและต้องจับตาและเร่งรัดงานก่อสร้างเป็นพิเศษ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ให้กรมทางหลวงแต่งตั้งผู้รับผิดชอบในแต่ละสัญญาเพื่อติดตามเร่งรัดงานอย่างละเอียดและรายงานกระทรวงฯทุกเดือนเพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคได้ทันเวลา ทำให้ยังมั่นใจว่าเวลาอีก 11 เดือนจะสามารถเร่งรัดงานให้เสร็จและเปิดทดลองวิ่งได้ตามเป้าหมายเดือน มิ.ย. 2568
ทั้งนี้ M82 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว จำนวน 10 ตอน ปัจจุบันมี 5 ตอนที่ก่อสร้างล่าช้า ได้แก่
ตอนที่ 1 ช่วงกม.ที่ 20+295 - กม.ที่ 22+474 ระยะทาง 2.179 กม. วงเงิน 1,757 ล้านบาท มี บจ.อุดมศักดิ์เชียงใหม่เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 67.759% ล่าช้า 1.727% (แผน 69.486%)
ตอนที่ 3 ช่วงกม.ที่ 24+670 - กม.ที่ 25+734 ระยะทาง 1.064 กม. ค่างานก่อสร้าง 1,910 ล้านบาท กิจการร่วมค้าวีเอ็น (ประกอบด้วย บจ.จิตรภัณฑ์ และบจ.นภาก่อสร้าง) คืบหน้า 50.413% ล่าช้า 4.634% (แผน 55.047%)
ตอนที่ 5 ช่วงกม.ที่ 26+998 - กม.ที่ 28+664 ระยะทาง 1.666 กม. วงเงิน 1,903 ล้านบาท มี บจ.บางแสนมหานคร เป็นผู้รับจ้า70.512% ล่าช้า 0.932% (แผน 71.444%)
ตอนที่ 8 ช่วงกม.ที่ 31+207 - กม.ที่ 33+366 ระยะทาง 2.159 กม. วงเงิน 1,910 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าซีซีเดสพี-เดอะซีอีซี (ประกอบด้วย บมจ. ซีวิลเอนจิเนียริและบจ.เดอะ ซี.อี.ซี. คอนสตรัคชั่น) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 63.190% ล่าช้า 7.233% (แผน 70.423%)
ตอนที่ 10 ช่วงกม.ที่ 35+511 - กม.ที่ 36+645 ระยะทาง 1.134 กม. วงเงิน 1,946 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าเอส.เค. (ประกอบด้วย บจ.เสริมสงวนก่อสร้าง และบจ. เค อาร์ ซี ทรานสปอร์ต แอนด์เซอร์วิส) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 61.092% ล่าช้า 1.841% (แผน 62.933%)
สร้างเร็วกว่าแผน 5 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 2 ช่วง กม.ที่ 22+474 - กม.ที่ 24+670 ระยะทาง 2.196 กม. วงเงิน 1,861 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้ากรุงธน-ไทย (ประกอบด้วย บจ.กรุงธนเอนยิเนียร์ และ บจ.ไทย เอ็นยิเนียร์) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 55.815% เร็วกว่าแผน 2.99% (แผน 52.825%)
ตอนที่ 4 ช่วง กม.ที่ 25+734 - กม.ที่ 26+998 ระยะทาง 1.264 กม. วงเงิน 1,876 ล้านบาท มี บจ.กรุงธนเอนยิเนียร์ เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 46.415% เร็วกว่าแผน 4.366% (แผน 42.049%)
ตอนที่ 6 ช่วง กม.ที่ 28+664 - กม.ที่ 29+772 ระยะทาง 1.108 กม. วงเงิน 1,865 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้ายูเอ็น-เอเอสไอ (ประกอบด้วย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บจ.อสิตากิจ) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 41.111% เร็วกว่าแผน 2.511% (แผน 38.600%)
ตอนที่ 7 ช่วง กม.ที่ 29+772 - กม.ที่ 31+207 ระยะทาง 1.435 กม. วงเงิน 1,868 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 35.851% เร็วกว่าแผน 0.607% (แผน 35.244%)
ตอนที่ 9 ช่วง กม.ที่ 33+366 - กม.ที่ 35+511 ระยะทาง 2.145 กม. วงเงิน 1,859 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าซีเอ็มซี-ทีบีทีซี (ประกอบด้วย บจ.เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น และ บจ.กิจการร่วมค้า ทีบีทีซี) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 82.885% เร็วกว่าแผน 3.456% (แผน 79.429%)
@ปลายปี 67 เปิดใช้สะพานคู่ขนานทางด่วน "พระราม 3-ดาวคะนอง"
โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก ระยะทางรวม 18.7 กม. ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) สถานะ เดือน ส.ค. 2567 มีความก้าวหน้าภาพรวมโครงการ 80.92% คาดการณ์เปิดให้บริการเดือน มิ.ย. 68 ส่วนสะพานทศมราชัน หรือสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ของโครงการทางพิเศษสายดังกล่าวนั้น ขณะนี้การก่อสร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รอการก่อสร้างเชื่อมต่อทางขึ้นลงที่ด่านสุขสวัสดิ์ คาดว่า จะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2567
ทางด่วน พระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก แบ่งการก่อสร้าง 4 สัญญา ประกอบด้วย
สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางยกระดับ จากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 (กม.13+000-กม.6+630) ระยะทาง 6.369 กม. มีกิจการร่วมค้า ยูเอ็น-ซีซี (ประกอบด้วย บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น ร่วมกับ บมจ.ซีวิล เอนจีเนียริง) เริ่มสัญญาวันที่ 10 ม.ค.2565 -วันที่ 25 ต.ค. 2567 ขยายตามมาตรการโควิดไปสิ้นสุดวันที่ 15 ก.ค. 2568 ค่าก่อสร้างตามสัญญา 7,350 ล้านบาท ผลงาน 70.19% (แผนงาน 69.91% ) เร็วกว่าแผน 0.28% คาดทางหลัก(Mainline) แล้วเสร็จเดือนมิ.ย.2568 ทางทางขึ้น-ลงโครงสร้างระดับชั้นที่ 2 แล้วเสร็จเดือนธ.ค. 2568
สัญญานี้มีปัญหาอุปสรรคการปรับรูปแบบก่อสร้างบริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน เนื่องจากแบบเดิมตามสัญญาติดอุปสรรคจากโครงสร้างและสาธารณูปโภคในพื้นที่ ตลอดจนการใช้วิธีการก่อสร้างที่ป้องกันความปลอดภัยและลดผลกระทบต่อผู้ใช้ทางปัจจุบัน กรมทางหลวงได้อนุญาตให้ดาเนินการตามรูปแบบที่เสนอแล้ว และข้อจำกัดช่วงเวลาทำงานได้เฉพาะเวลากลางคืน (21.00-05.00 น.) ตามมาตรการ Double Safety
สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ช่วงเซ็นทรัลพระราม 2-โรงพยาบาลบางปะกอก 9 ระยะทาง 5.3 กม. มีกลุ่มไชน่าฮาร์เบอร์ฯ-ทิพากร-บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง เป็นผู้ก่อสร้าง เริ่มสัญญาวันที่ 6 พ.ค. 2563 -วันที่ 19 ก.ค. 2566 ขยายตามมาตรการโควิดไปสิ้นสุดวันที่ 9 ต.ค. 2568 วงเงินโครงการ 6,440 ล้านบาท ผลงาน 80.16% (แผนงาน 88.04%) เร็วกว่าแผน 1.12%
ปัญหาอุปสรรคเรื่องพื้นที่ก่อสร้างจำกัด เพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบต่อผู้ใช้ทาง จำกัดเวลาทำงานเฉพาะเวลากลางคืน (21.00-05.00 น.) ให้รับจ้างเพิ่มกำลังคนและเครื่องจักร
สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร จากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 5 กม. มีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-วีซีบี (ประกอบด้วย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ร่วมกับ บจ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง) เป็นผู้ก่อสร้าง เริ่มสัญญาวันที่ 10 ม.ค. 2565 -วันที่ 25 ต.ค. 2567 ขยายตามมาตรการโควิดไปสิ้นสุดวันที่ 15 ก.ค. 2568 วงเงินโครงการ 7,359.3 ล้านบาท ผลงานสะสม 76.38% (แผนงาน 69.91%) เร็วกกว่าแผน 6.47%
ปัญหาอุปสรรค จำกัดเวลาทำงานเฉพาะเวลากลางคืน (21.00-05.00 น.) และได้ปรับระยะเวลาดำเนินงานก่อสร้างเป็นช่วงเวลากลางวัน (09.00-15.00 น.) เพื่อเร่งรัดการก่อสร้าง คาดทางขึ้น-ลง (ด่านฯ สุขสวัสดิ์) แล้วเสร็จเดือน พ.ย. 2567 ทางหลัก (Mainline) เสร็จเดือน มิ.ย. 2568
สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างช่วงสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขนานกับสะพานพระราม 9 ขนาด 8 ช่องจราจร และงานทางด่วน ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 2 กม. มี บมจ. ช.การช่าง เป็นผู้ดำเนินการ วงเงินโครงการ 6,636 ล้านบาท แล้วเสร็จ 100% แล้ว
สัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร วงเงิน 877 ล้านบาท กทพ.อยู่ระหว่างการจัดทำร่างขอบเขตประกวดราคาก่อสร้าง