เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ“เอสซีจีซี”ขับเคลื่อนบทบาทผู้นำธุรกิจพอลิเมอร์ครบวงจรในระดับภูมิภาค ซึ่งมุ่งเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับการสร้างความยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ จึงนำหลักการ ESG ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล มาใช้พร้อมกับการให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ และเมื่อเร็วๆ นี้ “เอสซีจีซี” เปิดตัวโมเดล “มหัศจรรย์ชุมชน” การเดินหน้าสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อนสู่สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต่อไป
“เอสซีจีซีมีฐานการผลิตปิโตรเคมีหลักอยู่ในจังหวัดระยอง เราอยู่มานานกว่า 40 ปี จึงมีความใกล้ชิดกับชุมชนมาโดยตลอด ทั้งการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม การดูแลสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชน ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา เราช่วยสร้างรายได้กว่า 56 ล้านบาท จากกิจกรรมต่างๆ เช่น การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน การจัดตลาดนัดชุมชนภายในโรงงาน การใช้บริการต่างๆ จากท้องถิ่น และด้วยการทำงานร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นมุมมอง ความคิด และศักยภาพ รวมถึงการดำเนินชีวิต ของกลุ่มชุมชนต่างๆ นำมาสู่การถอดบทเรียนเพื่อสร้างอาชีพอย่างมีคุณค่า ภายใต้โมเดลมหัศจรรย์ชุมชน ซึ่งประกอบด้วย 4 คุณสมบัติหลัก คือ 1. คิดพึ่งพาตนเอง พร้อมเรียนรู้ ปรับตัว และพัฒนาอยู่เสมอ 2. ประกอบอาชีพด้วยความสุจริต 3. สร้างโอกาส สร้างอาชีพให้ผู้อื่น 4. ใส่ใจสิ่งแวดล้อม หากเราพัฒนาชุมชนไปในหลักการดังกล่าว เชื่อมั่นว่าชุมชนและสังคมของเราจะเติบโตอย่างยั่งยืนแน่นอน”
“โดยนำ 3 ชุมชน 3 กลุ่มวัย จากโมเดลนี้มาเป็นตัวอย่างสะท้อนให้เห็นถึงพลังของกลุ่มต่างๆ ที่สามารถชนะอุปสรรค สู้กับความท้าทาย มุ่งสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้อย่างไม่ย่อท้อ ซึ่งเราหวังว่าจะเป็นพลังบวก สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ต่อไป” นางสาวน้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์และกิจการเพื่อสังคม จาก SCGC กล่าวถึงบทบาทสำคัญในการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งให้ยั่งยืน
๐ พลังผู้สูงวัย จากชุมชนเลี้ยงชันโรงบ้านทับมา
สร้างคุณค่าใหม่ให้ชีวิตหลังเกษียณ
ตัวแทนพลังมหัศจรรย์จากกลุ่มผู้สูงวัย “นางประไพ คชรินทร์” ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา เล่าถึงการค้นพบความสุขในวัยเกษียณว่า “ด้วยความสนใจจะหางานอดิเรกทำ หลังเกษียณอายุราชการจากการเป็นครู จึงค้นคว้าหาข้อมูลมากมาย จนได้มาพบกับ ‘ชันโรง’ ผึ้งตัวจิ๋วที่สร้างคุณค่ามหาศาล ด้วยการให้น้ำผึ้งที่เป็นผลผลิตจากธรรมชาติ และยังต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีประโยชน์หลากหลาย เช่น สบู่ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก จึงมองเห็นโอกาสและก่อตั้งกลุ่มเครือข่ายผู้เลี้ยงชันโรง รวมทั้งพัฒนาสินค้าภายใต้แบรนด์ “บ้านมีชันดี” สามารถสร้างรายได้สร้างอาชีพอย่างมีคุณค่า”
ที่สำคัญเพิ่มขึ้นคือการผลักดันให้ผู้สูงวัยในชุมชนหันมาสร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจให้ตนเอง ด้วยการเลี้ยงชันโรง เพราะชันโรงดูแลไม่ยาก ไม่มีเหล็กในจึงไม่เป็นอันตราย อีกทั้งยังเป็นตัวชี้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี เป็นการเพิ่มรอยยิ้มและเติมกำลังใจให้ผู้สูงวัยกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เป็นการสร้างเครือข่ายความสุขในวัยเกษียณได้อย่างแท้จริง และในวันนี้กลุ่มวิสาหกิจฯ มีเครือข่ายผู้เลี้ยงชันโรงมากกว่า 50 ราย สร้างรังให้ชันโรงกว่า 400 รัง โดย SCGC ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจริงจัง ด้วยการนำผู้เชี่ยวชาญมาต่อยอดองค์ความรู้ นำน้ำผึ้งที่ได้ไปทดสอบเพื่อจะขอรับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ GAP รวมทั้ง ช่วยขยายเครือข่ายและยกระดับผลิตภัณฑ์สู่สินค้าประจำจังหวัดระยอง วิสาหกิจฯ จึงถือเป็นตัวอย่างของพลังผู้สูงอายุที่ส่งต่อแรงบันดาลใจได้อย่างดี ในวันที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัย
๐ พลังสตรี จากชุมชนมาบชลูด
งานหลักทำหน้าที่ในบ้าน งานรองเสริมสร้างรายได้
ตัวแทนพลังมหัศจรรย์กลุ่มสตรี “นางประคอง เกิดมงคล” ประธานวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้า ชุมชนมาบชลูด เล่าว่า “กลุ่มฯ เกิดจากการรวมตัวของแม่บ้านที่มีข้อจำกัดและมีความจำเป็นในการดูแลสมาชิกในครอบครัว จึงร่วมกันรับงานตัดเย็บเสื้อผ้าในชุมชน แต่เพราะการเดินทางมาตัดเย็บชิ้นงานของแต่ละคนเป็นอุปสรรค ทำให้ต้องเปลี่ยนเป็นการตัดเย็บกระเป๋าผ้า ซึ่งสมาชิกทุกคนสามารถทำได้ที่บ้าน และทำได้วันละหลายชิ้น โดยเรามีการแบ่งงานและจัดสรรรายได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ช่วยให้กลุ่มแม่บ้านทำหน้าที่อย่างมีความสุขมากขึ้น ทั้งงานหลักคือการดูแลสมาชิกในครอบครัว และงานรองคือการสร้างรายได้จากงานฝีมือ ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจและกลับมาเห็นคุณค่าของตนเองอีกครั้ง“
ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะยืนหยัดและพึ่งพาตนเองให้ได้ สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มพลังสตรีจึงพยายามพัฒนาฝีมือ เกิดการสร้างสรรค์กระเป๋าผ้าหลากหลายรูปแบบ ภายใต้แบรนด์ “ชะลูด” หรือ “Chalüd” ที่มีสโลแกนว่า “ทุกรอยเย็บ มาจากรอยยิ้ม” ด้วยคุณภาพที่ดีและราคาที่เหมาะสม พร้อมกับเรื่องราวที่นาสนใจทำให้ผลิตภัณฑ์กระเป๋าผ้าจากชุมชนมาบชลูดได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค สามารถสร้างรายได้และมีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง โดยที่ผ่านมา SCGC ได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนชุมชน ทั้งการพัฒนารูปแบบสินค้า การเสริมทักษะการตัดเย็บและการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ การดีไซน์สินค้าที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน การทำการตลาดออนไลน์ และการออกร้านในกิจกรรมต่างๆ เพื่อยกระดับความสามารถและก้าวสู่ความสำเร็จใหม่ๆ
๐ พลังคนรุ่นใหม่ จากชุมชนบ้านรลิณ
มุ่งมั่นสร้างสรรค์“ผลิตภัณฑ์เพื่อเราเพื่อโลก”
ตัวแทนพลังมหัศจรรย์คนรุ่นใหม่ “นางสาวรัณยณา จั่นเจริญ” ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านรลิณ กรีน ลีฟวิ่ง เล่าว่า “นอกจากความตั้งใจแรกที่ต้องการให้สมาชิกในครอบครัวได้ใช้ของที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ 100% ใช้แล้วปลอดภัยไม่เกิดอาการแพ้ และคิดว่าการดูแลสิ่งแวดล้อมต้องเริ่มที่ตัวเรา จึงเริ่มต้นศึกษาหาวิธีการทำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติอย่างจริงจัง เพื่อให้ได้สูตรที่ปลอดภัยทั้งผู้ใช้และใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาอเนกประสงค์ และสบู่เหลว โดยทดลองใช้กันเองในครอบครัวก่อน เมื่อเห็นผลลัพธ์ที่ดี จึงเริ่มแบ่งให้คนรอบตัวทดลองใช้ และผลิตขายในจำนวนไม่มากภายใต้แบรนด์ “บ้านรลิณ” โดยมีจุดขายอยู่ที่การใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ 100% คัดเลือกอย่างพิถีพิถันเป็นพิเศษ จากเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งนอกจากจะช่วยกระจายรายได้ให้กับเกษตรกรแล้ว ยังช่วยลดมลพิษจากการใช้สารเคมีอีกด้วย”
การเข้ามามีส่วนช่วยเติมเต็มวิสาหกิจชุมชน “บ้านรลิณ” ในเรื่องกระบวนการขอรับการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์การอาหารและยา หรือ อย. การทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และการร่วมกันพัฒนาสารสกัดจากธรรมชาติ รวมถึงเรื่องการสร้างแบรนด์ การออกแบบโลโก้ และทำการตลาด เป็นแนวทางที่ “เอสซีจีซี” ใช้สนับสนุนชุมชนต่างๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละชุมชน
ด้วยบทบาทการเป็นพี่เลี้ยง เป็นผู้ส่งเสริม เพื่อให้ชุมชนมุ่งมั่นตั้งใจ ใช้ความพยายาม พัฒนา และขับเคลื่อนไปด้วยตนเอง “เอสซีจีซี” จึงเป็นเหมือน “ลมใต้ปีก” ที่ช่วยเสริมส่งให้ “ชุมชน” ทะยานไปสู่ความสำเร็จได้ตามเป้าหมายอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน