xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ครบ 32 ปีเร่งเครื่องก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย ปักธงต้นปี 68 เข้าพื้นที่เปิดไซต์ก่อสร้าง "สีส้ม"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รฟม.ครบ 32 ปี เร่งเครื่องก่อสร้างรถไฟฟ้า "สีชมพูต่อขยายเข้าเมืองทองธานี" เปิดบริการปี 68 สายสีม่วงใต้สร้างคืบหน้าแล้ว 38.22% เร่งประสาน กทม. ปักธงต้นปี 68 เปิดพื้นที่สร้าง "สายสีส้ม" สรุป "สายสีน้ำตาล" ระบบโมโนเรลเหมาะสม รอเสนอบอร์ด รฟม.ชุดใหม่

นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 ส.ค. 2567 รฟม.จัดงานวันคล้ายวันก่อตั้ง รฟม. ครบรอบ 32 ปี ตอกย้ำแนวคิด “Go Green Grow Together” ด้วยการสานต่อภารกิจพัฒนาและขยายโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตเมืองที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น เชื่อมต่อขนส่งสาธารณะระบบราง-ล้อ-เรือ ยกระดับการเดินทางแบบไร้รอยต่อให้แก่คนเมือง ซึ่งที่ผ่านมา รฟม.ได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าแล้วจำนวน 4 สาย ระยะทางเกือบ 150 กม. แนวเส้นทางครอบคลุมพื้นที่และรองรับการเดินทางและการขยายตัวของเมืองในระดับหนึ่ง ขณะที่ยังมีโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทางรวมประมาณ 3 กม. จำนวน 2 สถานี มีความก้าวหน้างานโยธา 69.99% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 49.95% ความก้าวหน้าโดยรวม 63.25% (ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2567) คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568, โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทางรวม 23.63  กม. มีความก้าวหน้างานโยธา 38.22% (ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2567) คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2571


และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่ง รฟม.ได้ออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ให้ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM แล้วเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567 ซึ่งการก่อสร้างถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินตลอดสายและผ่านพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่อนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ และลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา และปลายทางที่สถานีศิริราชซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟสายสีแดง และอาคารโรงพยาบาลศิริราช

สำหรับการเวนคืนที่ดินจะมี 2 ส่วน คือ 1. พื้นที่สาธารณะ ซึ่งได้เริ่มหารือกับ กทม.เพื่อวางแผนร่วมกันในการรื้อย้ายสาธารณูปโภคแล้ว 2. ส่วนนอกพื้นที่สาธารณะและที่ดินเวนคืน จะเป็นที่ดินของประชาชน เอกชน และส่วนราชการ โดย รฟม.ตั้งงบประมาณสำหรับเวนคืน วงเงินประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ผูกพัน 3 ปี เริ่มจากปี 2568 วงเงินประมาณณ 5-6 พันล้านบาท คาดว่าจะเริ่มเข้าพื้นที่สาธารณะได้ก่อน ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 เพื่อดำเนินการรื้อย้ายสาธารณูปโภค

ซึ่งตามเงื่อนไขสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน 1. งานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าช่วงตะวันออกจากศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 3 ปี 6 เดือน 2. ก่อสร้างงานโยธาอุโมงค์และสถานีใต้ดิน พร้อมติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ด้านตะวันตกจากบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี


ส่วนโครงการสีส้มด้านตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กม. จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธาเสร็จแล้วนั้น นายวิทยากล่าวว่า ขณะนี้ BEM อยู่ระหว่างออกแบบระบบและจัดซื้อจัดจ้าง ปัจจุบัน รฟม.ยังต้องรับผิดชอบและภาระค่าดูแลรักษา (Care of Works) โครงสร้างงานโยธาส่วนตะวันออกประมาณ 41 ล้านบาทต่อเดือนไปก่อน โดยใช้กรอบวงเงินของโครงการที่เหลืออยู่ ไม่กระทบงบประมาณแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้ คณะกรรมการมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ได้มีการเจรจากับ BEM และสรุปกำหนดจะมีส่งมอบพื้นที่ให้ BEM ในเดือนเม.ย. 2569 

“ตามปกติโครงการรถไฟฟ้า รฟม.จะก่อสร้างงานโยธาเองและให้สัมปทานงานระบบและเดินรถ ซึ่งตามกติกาเอกชนผู้รับสัมปทานจะรับมอบพื้นที่งานโยธาที่มีความพร้อมและสมบูรณ์เพื่อไปดำเนินการต่อ ซึ่งจะต้องมีการทดสอบระบบ ทดสอบการเชื่อมต่อศูนย์ควบคุม (CCR) เรียกว่า System Integrated Test (SIT) และเห็นชอบร่วมกันก่อนส่งมอบ แต่สายสีส้ม มีความแตกต่างจากเดิม จึงมีการเจรจาเพื่อขอให้เอกชนรับมอบก่อนถึง SIT ซึ่งตกลงกันในช่วงเดือน เม.ย. 2569”


@สรุป "สายสีน้ำตาล" ระบบโมโนเรลเหมาะสม รอเสนอบอร์ด รฟม.ชุดใหม่เดินหน้า

สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทางรวม 22.1 กม. มูลค่าลงทุนรวม 41,720 ล้านบาท นายวิทยากล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการทบทวนการศึกษาเพิ่มเติม ตามนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย เพื่อวิเคราะห์ปริมาณผู้โดยสารเสร็จแล้ว เตรียมนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ชุดใหม่จากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ​ต่อไป โดยรูปแบบที่เหมาะสมยังเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) เนื่องจากคาดว่าปริมาณผู้โดยสารไม่เกิน 25,000 คน/ชั่งโมง/ทิศทาง และใช้รูปแบบ PPP-Net cost คาดเริ่มก่อสร้างปี 2569

สำหรับนโยบายรถไฟฟ้าไม่เกิน 20 บาทตลอดสายนั้น มีผลตอบรับที่ดี ส่งผลให้สายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) มีผู้โดยสารสูงสุด (นิวไฮ) กว่า 8.6 หมื่นคน/วัน ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าประมาณการณ์ ทั้งนี้รฟม.ตั้งงบประมาณชดเชยรายได้สายสีม่วงตามนโยบาย 20 บาทตลอดสายที่ 190 ล้านบาท/ปี แต่คาดว่าสรุปผล 1 ปีจะชดเชยต่ำกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม กรณีไม่อุดหนุนเลยจะต้องมีผู้โดยสารมากกว่า 2 แสนคน/วัน




กำลังโหลดความคิดเห็น