xs
xsm
sm
md
lg

จับตา!ปตท.จ่อลดการถือหุ้นกลุ่มปิโตรเคมีและโรงกลั่น เปิดทางพาร์ทเนอร์ใหม่เสริมแกร่งธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ปตท.ส่งสัญญาณลดการถือหุ้นในธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น เปิดทางพาร์ทเนอร์ใหม่ถือหุ้นโดยตรงทั้ง TOP -PTTGC-IRPC หวังสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ ลั่นจ่อสปินออฟ”อินโนบิก”เข้าตลาดหุ้น โดยจะหาพาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่งร่วมทุนก่อน

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทฯได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์กลุ่ม ปตท.( PTT Group Strategic Thinking Session :STS)แล้ว และขณะนี้ปตท.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อกำหนดงบลงทุน 1 ปี (ปี 2568) และแผนลงทุน 5 ปี (ปี 2568-2572) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้

กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ “ ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน ” โดยปี 2567 เป็นปีที่ปตท. Refocus โดยเน้นธุรกิจ Hydrocarbon เช่นก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของปตท.ที่ทำได้ดี แต่คงไม่สามารถทำแบบเดิมได้ ต้องทำควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดสินทรัพย์ที่ไม่สร้างผลกำไร


ซึ่งธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย (Downstream) จำเป็นต้องมีการปรับตัว ทางปตท.หาพาร์ทเนอร์หรือพันธมิตรร่วมทุนที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาถือหุ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งในธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น ทำให้ปตท.ตัวเบาลง สามารถนำเงินไปลงทุนธุรกิจอื่นๆได้ รวมทั้งยังแสวงหาโอกาสในการสร้าง Synergy ร่วมกันเพิ่มเติม โดยปตท.จะเปิดให้พาร์ทเนอร์ที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการต่างๆหรือเข้าถือหุ้นในตัวบริษัทลูกโดยตรง

ปัจจุบันบริษัทในกลุ่มปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันของปตท. ประกอบด้วย บมจ. ไทยออยล์ (TOP) ปตท.ถือหุ้นอยู่ 45.03% บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ปตท.ถือหุ้น 45.18 % และบมจ.ไออาร์พีซี(IRPC) ปตท.ถือหุ้น 45.05 % ซึ่งหากปตท.มีการตัดขายหุ้นบริษัทลูกดังกล่าวออกไป แต่ปตท.ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และบริษัทเหล่านี้ยังFlagship ของปตท.เหมือนเดิม

"ปตท. มีแผนลดสัดส่วนการถือหุ้นในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นลง เนื่องจากเราไม่จำเป็นต้องถือหุ้นเท่าเดิม แต่ต้องการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับบริษัทลูก โดยพันธมิตรดังกล่าว จะต้องมีความแข็งแกร่ง และมีความเชี่ยวชาญในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวไม่ใช่แค่มีเงินอย่างเดียว อาทิ จีน ต้องการใช้ไทยฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปกลุ่มประเทศยุโรป และอเมริกา"


ส่วนธุรกิจ Upstream and Power จะต้องเร่งขยายแหล่งสำรวจและผลิตร่วมกับพาร์ทเนอร์ เพื่อให้มีต้นทุนที่แข่งขันได้ รวมถึงการผลักดันการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา (OCA) เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ในส่วนของธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้ามี Mandate ให้เสริมสร้าง Reliability และ Decarbonize ให้กับกลุ่ม ปตท.
สำหรับธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีกจะต้องมุ่งหน้าเป็น Mobility Partner ของคนไทย ปรับพอร์ตการลงทุนให้มี Substance และ Asset Light รวมถึงการรักษาการเป็นผู้นำตลาด ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ Non-Hydrocarbon

สำหรับแนวทางการลงทุนในธุรกิจ Non-Hydrocarbon ประกอบด้วยธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า( EV )ปตท. จะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจบรรจุกระแสไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging) ซึ่งจะต้องมีการควบรวมแบรนด์ต่างๆ ภายใต้กลุ่ม ปตท. และใช้ OR Ecosystem ที่มี Touch Point อยู่ทั่วประเทศให้เป็นประโยชน์ ส่วนโรงประกอบรถอีวีอยู่ระหว่างพิจารณา , ธุรกิจ Logistics ปตท. จะเน้นไปเฉพาะธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับ Core Business ของ ปตท. และมี Captive Demand อยู่แล้ว โดยยึดหลัก Asset-light และมี Partner ที่แข็งแรง


ส่วนธุรกิจ Life Science ที่มีบริษัท อินโนบิก(เอเซีย)จำกัด เป็นแกนนำโดยปตท.ถือหุ้น 100% เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่และแตกต่างจากที่ปตท.ทำอยู่มาก ดังนั้นปตท.จะหาพาร์ทเนอร์ที่มีจุดแข็งเข้ามาร่วมลงทุน และเมื่อตลาดหุ้นดีขึ้นก็จะนำอินโนบิกฯเข้าระดมทุนขายหุ้นIPOในตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไป

อย่างไรก็ดีการตัดสินใจรุกธุรกิจ Non-Hydrocarbon จะประเมินใน2มุม คือ1.ธุรกิจต้องมีความน่าสนใจ (Attractive) และ 2.ปตท. มี Right to Play หรือมีจุดแข็ง สามารถเข้าไปต่อยอดในธุรกิจนั้นๆ ได้ และมีพาร์ทเนอร์ที่แข็งแรง


นายคงกระพัน กล่าวอีกว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม( E&P )ปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้น ธุรกิจก๊าซฯคาดมาร์จิ้นทรงตัว เมื่อเทียบกับงวดครึ่งปีแรก ส่วนธุรกิจโรงกลั่นฯ ค่าการกลั่นดีขึ้น ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงได้รับผลกระทบจากกำลังผลิตใหม่ที่เข้ามา ทำให้ภาพรวมครึ่งปีหลัง มีโอกาสปรับตัวดีขึ้น เทียบกับผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2567 ที่มีกำไรสุทธิ 64,437 ล้านบาท โตขึ้น 34.4% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2566 ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2567 ที่ 0.80 บาทต่อหุ้น

ปตท. มีแผนการสร้างสมดุล ESG ให้เหมาะสมกับบริบทองค์กร ควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ผ่านการผลักดันธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับไฮโดรเจน และการดำเนินโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Storage : CCS) โดยทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทั้งกลุ่ม ปตท. รวมทั้งให้ความสำคัญเรื่อง Operational Excellence หรือ OpEx อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั้งกลุ่ม อีกทั้งมุ่งเน้นเสริมศักยภาพบุคลากรและการมุ่งรักษาพื้นฐานที่สำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น