รัฐมนตรีคมนาคมสหรัฐฯ ชี้อเมริกาไม่สามารถเพิกเฉยต่อการปฏิวัติยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมชำแหละปักกิ่งไม่ได้สนับสนุนอุตสาหกรรมอีวีเพราะใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่เจตนาที่แท้จริงคือต้องการครอบงำอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมดและเอาชนะตะวันตก
ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ และบริษัทรถอเมริกันที่ยึดติดกับจุดยืนเดิมๆ ยังคงถกเถียงกันโดยไม่ได้ข้อสรุปว่า ควรทุ่มเทให้กับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคอีวีมากน้อยแค่ไหน จีนกลับกระโจนเข้าใส่อุตสาหกรรมนี้โดยไม่ลังเล ผลลัพธ์คือจีนมีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสถานีชาร์จที่แข็งแกร่ง อีวีราคาถูก และความเร็วในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ก้าวล้ำค่ายรถตะวันตกดั้งเดิมส่วนใหญ่
พีต บุตติเจจ รัฐมนตรีคมนาคมสหรัฐฯ กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าวแอกซิออสเมื่อเร็วๆ นี้ว่า อเมริกาไม่สามารถนิ่งเฉยและปล่อยให้จีนครอบงำอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และสำทับว่า การทุ่มอุดหนุนผู้ผลิตอีวีในท้องถิ่นของปักกิ่งถูกขับเคลื่อนจากความต้องการครอบงำอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์และเอาชนะตะวันตก
บุตติเจจแจงว่า นโยบายอีวีของจีนนำไปสู่การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งทำให้เกิดการบิดเบือนทางการตลาด นอกจากนั้นยังไม่ได้เป็นเพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่ที่ทำไปก็เพื่อกลยุทธ์ล้วนๆ เพราะจีนเข้าใจมูลค่าเชิงกลยุทธ์ของการพยายามครอบงำตลาดอีวี เนื่องจากตลาดอีวีคือทิศทางอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมด
ความคิดเห็นของบุตติเจจสอดคล้องกับที่อดัม เฮิร์ช นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสและผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกา-จีนของสถาบันนโยบายเศรษฐกิจ เคยเปิดเผยกับคอลัมนิสต์ของอินไซด์อีวีส์เมื่อเดือนพฤษภาคมว่า ผู้ผลิตรถจีนได้รับการอุดหนุนและสิทธิประโยชน์ในทุกระดับ โดยหลายบริษัทได้รับความช่วยเหลือในรูปที่ดินราคาถูกสำหรับสร้างโรงงาน มาตรการจูงใจโดยตรงจากรัฐบาล การผ่อนคลายกฎระเบียบที่ลดความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของพนักงาน และมาตรการจูงใจสำหรับผู้บริโภค นอกจากนั้นการจัดลำดับความสำคัญด้านกฎระเบียบยังช่วยให้จีนหลีกเลี่ยงกระบวนการอนุมัติที่ยากลำบากซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สุดที่อเมริกาเผชิญในการสร้างสถานีชาร์จอีวี
บุตติเจจยังกล่าวหานโยบายของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยบอกว่า คณะบริหารชุดที่แล้วจงใจเปิดโอกาสให้จีนได้เปรียบและปล่อยให้บริษัทอเมริกันล้าหลัง
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญ นักการเมือง และบริษัทรถตะวันตกส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ใจจริงจังกับอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้
ขณะเดียวกัน สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของอเมริกา (อีพีเอ) ในยุคทรัมป์ก็ไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างที่ควรจะเป็น มิหนำซ้ำนโยบายของทรัมป์ยังขัดขวางความทะเยอทะยานของบริษัทอเมริกัน กระนั้น ต้องยอมรับว่า แม้แต่ประเทศที่มีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าและมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเชิงรุกอย่างเยอรมนียังเพลี่ยงพล้ำต่อจีน
อย่างไรก็ตาม คณะบริหารชุดปัจจุบันของอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เพิ่มงบประมาณสนับสนุนการผลิตอีวีและสถานีชาร์จ เนื่องจากตระหนักว่า การผ่อนคลายเป้าหมายการปล่อยไอเสียและชะลอแผนการเกี่ยวกับอีวีจะเปิดโอกาสให้จีนสะสมความได้เปรียบเพิ่มขึ้น
การตัดสินใจดังกล่าวกำลังผลิดอกออกผลเป็นที่น่าพอใจ เห็นได้จากมูลค่าการลงทุนในการผลิตอีวีในช่วง 11 ปีก่อนที่อเมริกาจะผ่านกฎหมายลดเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ที่อยู่ที่เพียง 91,000 ล้านดอลลาร์ แต่หลังจากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้เพียง 15 เดือน บริษัทมากมายประกาศโครงการลงทุนผลิตอีวีใหม่ๆ รวมมูลค่า 82,000 ล้านดอลลาร์ ไม่รวมงบประมาณของรัฐบาลสำหรับโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จอีวีสาธารณะอีกหลายพันล้านดอลลาร์
การลงทุนเหล่านี้สะท้อนการเพิ่มการอุดหนุนการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้าและการป้องกันสถานการณ์เลวร้ายที่สุดในด้านสภาพภูมิอากาศ
บุตติเจจบอกว่า โลกเคยใช้เวลา 100 ปีในการสร้างเครือข่ายปั๊มน้ำมันแบบที่มีอยู่ในวันนี้ แต่สำหรับเครือข่ายสถานีชาร์จอีวีคงไม่ต้องรอนานขนาดนั้น ก่อนทิ้งท้ายว่า โลกต้องการระบบคมนาคมขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากอเมริกาไม่ลงมือทำ จีนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ยังมีประเทศอื่นที่พร้อมทำแทน