xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจครึ่งปีในมือพาณิชย์ ดันส่งออกโต2%-กดเงินเฟ้อเหลือ0% “ภูมิธรรม”สั่งลุยหารายได้-ลดค่าครองชีพต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ช่วงเดือน ก.ค.2567 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจ ในช่วง 6 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) ที่อยู่ในความรับผิดชอบที่สำคัญ คือ ตัวเลขการส่งออก และตัวเลขเงินเฟ้อ รวมถึงตัวเลขการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขที่ได้ ถือว่าอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นแทบจะทุกตัว ส่งผลให้เกิดแรงผลักดันและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะชะลอตัวได้เป็นอย่างดี

โดยในด้านการส่งออก ที่เป็นหนึ่งในเครื่องจักรสำคัญ ที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศ ในฐานะที่สร้างรายได้ และนำเงินเข้าประเทศ ในช่วง 6 เดือนของปี 2567 สามารถทำรายได้มูลค่า 145,290 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 5,191,014 ล้านบาท ส่วนการนำเข้า มูลค่า 150,532.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 5,437,480 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 5,242.7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 246,466 ล้านบาท

ขณะที่ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ในช่วง 6 เดือนของปี 2567 มีอัตราการขยายตัวเท่ากับ 0% แม้ว่าสินค้าจะมีทั้งเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่เมื่อบวก ลบ คูณ หาร กันแล้ว เงินเฟ้อครึ่งปี ไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่า ภาวะค่าครองชีพของประชาชน อยู่ในช่วงที่ไม่กดดัน เหมือนในช่วงก่อนหน้านี้ ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ที่ต้องลุ้นกันเป็นรายเดือน


เปิดรายละเอียดส่งออกโต2%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่า การส่งออกช่วงครึ่งปี 2567 ที่เพิ่มขึ้น 2% มาจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 3.3% และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 2%

โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ส่งออกได้มาก อาทิ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง มูลค่า 3,955.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6% เนื่องจากผลไม้สดภาคตะวันออกหมดฤดูกาลแล้ว และผลไม้ภาคใต้ยังออกไม่มาก ทำให้ยอดส่งออกเดือน มิ.ย.2567 ลดลง เลยฉุดยอดส่งออกในภาพรวมลดลง แต่หลังจากเดือน ก.ค.เป็นต้นไป ยอดส่งออกน่าจะดีขึ้น ข้าว มูลค่า 3,303.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 48.1% ยางพารา มูลค่า 2,280.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.6% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มูลค่า 1,718.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 16.4% เพราะผลผลิตได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และปัญหาโรคใบด่าง และไก่แปรรูป มูลค่า 1,416.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 6.2%

สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรสำคัญที่ส่งออกได้มาก อาทิ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป มูลค่า 1,770.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 4.4% อาหารสัตว์เลี้ยง มูลค่า 305.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 26.6% ผลไม้กระป๋องและแปรรูป มูลค่า 136.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 15.6% เครื่องดื่ม มูลค่า 1,093.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 2.5% และน้ำตาลทราย มูลค่า 1,456.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 37.5%

สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งออกได้มาก อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 15,424.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.3% เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 11,016.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 23.2% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มูลค่า 4,762.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 12.4% เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 3,874.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 43% และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ มูลค่า 2,197.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 8.9%

ส่วนตลาดส่งออก ตลาดหลัก เพิ่ม 2.4% โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 11.2% อาเซียน 9 ประเทศ เพิ่ม 1.2% CLMV เพิ่ม 7% สหภาพยุโรป 27 ประเทศ เพิ่ม 4.4% แต่จีน ลด 1.2% ญี่ปุ่น ลด 7.5% ตลาดรอง เพิ่ม 4.3% โดยเอเชียใต้ เพิ่ม 5.5% ฮ่องกง เพิ่ม 14% ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 11.9% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 11.3% CIS เพิ่ม 9.5% แคนาดา เพิ่ม 11% ส่วนเกาหลีใต้ ลด 6.4% ไต้หวัน ลด 1.9% ตะวันออกกลาง ไม่ขยายตัว แอฟริกา ลด 4.7% สหราชอาณาจักร ลด 15.3% และตลาดอื่น ๆ ลด 46.3% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ลด 48.8%

แนวโน้มยังไปได้ดี ทั้งปีมีลุ้น 1-2%

นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมั่นใจว่าจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และยอดส่งออกทั้งปี น่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 1-2% โดยหากส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 22,973 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกจะโต 1% แต่ถ้าทำได้ถึงเดือนละ 24,248 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกจะโต 2% โดยมีจากปัจจัยหนุน คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3.2% ส่งผลให้กำลังซื้อ และความต้องการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้ปีนี้จะเป็นปีแรกที่มูลค่าส่งออกไทยเมื่อคิดเป็นเงินบาทจะทะลุ 10 ล้านล้านบาท


เปิดรายละเอียดเงินเฟ้อครึ่งปี 0%

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปี 2567 ที่ขยายตัว 0% มาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 0.08% แต่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.13%

โดยสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ที่สูงขึ้น อาทิ การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.53% การขนส่งและการสื่อสาร เพิ่ม 0.26% โดยเป็นการสูงขึ้นของค่าโดยสารสาธารณะ 0.94% น้ำมันเชื้อเพลิง 0.40% การสื่อสาร 0.11% การบันเทิง การอ่าน และการศึกษา เพิ่ม 0.55% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.31% และที่ลดลง อาทิ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลด 0.25% เคหสถาน ลด 0.35%

สำหรับสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ที่สูงขึ้น อาทิ ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่ม 3.76% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 3.62% ผักและผลไม้ เพิ่ม 0.80% โดยผักสด เพิ่ม 1.08% ผลไม้สด เพิ่ม 1.61% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 0.38% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.93% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.85% อาหารบริโภคนอกบ้าน เพิ่ม 0.58% ส่วนเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ลด 5.06%

คาดทั้งปีเพิ่ม 0-1% ค่ากลาง 0.5%

นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มเฟ้อทั่วไปไตรมาสที่ 3 ปี 2567 คาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 2 ปี 2567 โดยปัจจัยที่ยังทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า ตามมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อภาคการเกษตรมากขึ้น หลังจากสิ้นสุดช่วงอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ปริมาณผลผลิตและราคาสินค้าภาคการเกษตรปรับเข้าสู่ระดับปกติ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกรายใหญ่ รวมทั้งการค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ตามสภาวะที่มีการแข่งขันสูง

ทั้งนี้ ต้องจับตาปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น อาทิ ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่ากว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน และความไม่แน่นอนจากผลกระทบของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจทำให้ราคาน้ำมันและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าปรับตัวสูงขึ้น

“กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0–1.0% ค่ากลาง 0.5% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง”


ตั้งบริษัทใหม่ครึ่งปี 46,383 ราย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การจัดตั้งธุรกิจใหม่รวม 6 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) มีจำนวน 46,383 ราย ลดลง 2% ทุนจดทะเบียนรวม 145,078.60 ล้านบาท ลดลง 66% เพราะช่วงเดียวกันของปี 2566 มีบริษัทมูลค่าทุนจดทะเบียนเกิน 1 แสนล้านบาท ควบรวมกิจการกัน 2 บริษัท คือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น เป็น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น มีทุนจดทะเบียน 138,208.40 ล้านบาท และการแปรสภาพบริษัทจำกัด เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ของ บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีมูลค่าทุน 124,435.03 ล้านบาท จึงทำให้ทุนจดทะเบียนในปี 2566 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และการเลิกกิจการช่วง 6 เดือน มีจำนวน 6,039 ราย ลดลง 15% ทุนจดทะเบียน 76,748.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55%

“การจดทะเบียนตั้งใหม่ช่วงครึ่งปี 2567 ที่มีจำนวน 46,383 ราย เป็นไปตามเป้าที่กรมคาดไว้ที่ 44,000-47,000 ราย โดยแบ่งเป็นธุรกิจภาคบริการ 26,479 ราย คิดเป็น 57.09% ของจำนวนการจัดทั้งหมด ภาคขายส่ง ขายปลีก 15,152 ราย คิดเป็น 32.67% และภาคการผลิต 4,752 ราย คิดเป็น 10.25%”

สำหรับธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ ได้แก่ ภาคขายส่ง ขายปลีก อาทิ ธุรกิจขายปลีกชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมใหม่ของจักรยานยนต์ เพิ่ม 90.91% ธุรกิจขายส่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมใหม่ของจักรยานยนต์ เพิ่ม 75% และขายปลีกนาฬิกา แว่นตา และอุปกรณ์ถ่ายภาพ เพิ่ม 73.08% ภาคการผลิต อาทิ ธุรกิจผลิตโครงสร้างที่ใช้ในการก่อสร้างและเครื่องประกอบอาคาร เพิ่ม 106.67% ธุรกิจผลิตกระดาษลอนลูกฟูกและกระดาษแข็งลอนลูกฟูก เพิ่ม 104.00% และธุรกิจผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เพิ่ม 96.77% ภาคบริการ อาทิ ธุรกิจวิจัยและพัฒนาเชิงทดลองด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี เพิ่ม 132.35% ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางรถโดยสารประจำทางอื่น ๆ เพิ่ม 95.24% และธุรกิจก่อสร้างโครงการวิศวกรรมโยธาอื่น ๆ เพิ่ม 85.71%

อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกตามขนาดธุรกิจ พบว่า ธุรกิจขนาดเล็ก S มีสัดส่วนการจัดตั้งสูงสุด 99.64% ของจำนวนการจัดตั้งครึ่งปี 2567 หรือ 46,214 ราย ลดลง 1.91% ธุรกิจขนาดกลาง M สัดส่วน 0.30% หรือจำนวน 142 ราย เพิ่มขึ้น 10.08% และธุรกิจขนาดใหญ่ L สัดส่วน 0.06% หรือจำนวน 27 ราย ลดลง 34.15% และในจำนวนนี้ ตั้งธุรกิจในกรุงเทพฯ 13,819 ราย สัดส่วน 29.79% และส่วนภูมิภาค 32,564 ราย สัดส่วน 70.21%

ทั้งปีมีลุ้นเฉียด 1 แสนราย

สำหรับแนวโน้มการตั้งใหม่ครึ่งปีหลัง นางอรมนประเมินว่า จะอยู่ที่ 90,000-98,000 ราย เพิ่ม 5-15% โดยมีปัจจัยสนับสนุน เช่น นโยบายของภาครัฐ การเดินหน้านโยบายเงินดิจิทัลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการดึงดูดการลงทุนจากชาวต่างชาติที่มีการกระตุ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี เช่น มาตรการวีซ่าพำนักระยะยาว มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการผลิตและกิจการ รวมทั้งการลงทุนจากภาครัฐที่กำลังดำเนินการหลังจากที่เริ่มงบประมาณปี 2567 ภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ และเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน แต่ก็ต้องจับตาปัญหาหนี้สินภาครัวเรือนและภาคธุรกิจ อัตราเงินเฟ้อ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การใช้จ่ายงบประมาณรัฐ


ส่งออกข้าวครึ่งปีทะลุ 1.17 แสนล้าน

นอกเหนือจากสถิติการส่งออก เงินเฟ้อ และการจดตั้งบริษัทใหม่แล้ว ยังมีตัวเลขการส่งออกสินค้าที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่ง คือ สินค้าข้าว โดยนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่า การส่งออกข้าวไทยในช่วง 6 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) มีปริมาณ 5.08 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 25.12% มูลค่า 117,836 ล้านบาท (ประมาณ 3,304 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้น 55.50% โดยได้รับผลดีจากผู้นำเข้าข้าวมีความต้องการนำเข้าข้าวเพื่อใช้บริโภคและเก็บเป็นสต็อกเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ประกอบกับอินเดียยังคงใช้มาตรการควบคุมการส่งออกข้าว และค่าเงินบาทอ่อนค่าอยู่ที่ประมาณ 36–37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่แข่งขันได้

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 กรมได้หารือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และเห็นตรงกันว่า จะปรับเป้าส่งออกปีนี้ เพิ่มเป็น 8.2 ล้านตัน จากเดิม 7.5 ล้านตัน โดยมีปัจจัยบวกจากประเทศผู้นำเข้าสำคัญอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย มีความต้องการนำเข้าข้าว เพื่อบรรเทาผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อและภัยแล้ง โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้มีคำสั่งปรับลดอัตราภาษีนำเข้าข้าวจากเดิม 35% เหลือ 15% จนถึงปี 2571 เพื่อควบคุมแรงกดดันเงินเฟ้อของสินค้าข้าวภายในประเทศ และคาดว่าในปีนี้ฟิลิปปินส์มีแนวโน้มนำเข้าข้าวสูงถึง 4.70 ล้านตัน ขณะที่อินโดนีเซียมีแนวโน้มนำเข้าข้าวประมาณ 3.60–4.30 ล้านตัน ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิต จึงเป็นโอกาสในการส่งออกข้าวของประเทศผู้ส่งออก โดยเฉพาะไทย รวมทั้งยังมีแรงหนุนจากผลผลิตข้าวนาปีของไทย ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาปรับลดลง และแข่งขันได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามมาตรการการส่งออกข้าวของอินเดีย ซึ่งรัฐบาลอินเดียอาจผ่อนคลายมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวก่อนผลผลิตข้าวฤดูกาลผลิตหลักจะออกสู่ตลาดในเดือน ต.ค.2567 อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตข้าวของประเทศผู้ส่งออกข้าว ได้แก่ เวียดนาม ปากีสถาน เมียนมา และกัมพูชา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผลผลิตข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้นและมีการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างสูง รวมทั้งมีปัจจัยเสี่ยงจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้ากลุ่มพลังงานและสถานการณ์ความผันผวนของค่าระวางเรือที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยท้าทายที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567


จับของปลอมได้ 1.724 ล้านชิ้น

ขณะที่การจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้ข้อมูลว่า ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนเจ้าของสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง โดยมีสถิติการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาช่วง 6 เดือน ของปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกรมศุลกากร ดำเนินคดีได้ 747 คดี ยึดของกลางได้ 1.724 ล้านชิ้น โดยจำนวนคดีลดลง 20.19% จากช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่ดำเนินคดี 936 คดี แต่จำนวนของกลางเพิ่มขึ้น 33.73% จากช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่ยึดได้ 1.289 ล้านชิ้น เพราะจับผู้ผลิต ผู้ค้ารายใหญ่ได้ โดยจะมีพิธีทำลายของกลางที่ยึดได้และคดีถึงที่สุดแล้ววันที่ 23 ส.ค.2567 ที่จะถึงนี้

โดยการจับกุมในรอบครึ่งปี มีสถิติที่น่าสนใจ คือ ในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.2567 เจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) และตัวแทนเจ้าของสิทธิ์ ตรวจสอบร้านค้าที่ศูนย์การค้าเอ็มบีเค พบร้านค้าจำหน่ายกระเป๋าปลอมเครื่องหมายการค้าชาแนล พราด้า มิวมิว เอ็มซีเอ็ม มองบลังก์ ซึ่งดำเนินคดีรวม 3 คดี จับกุมผู้ต้องหาได้ 3 คน ยึดของกลางได้ 71 ชิ้น และยังพบร้านจำหน่ายต่างหู แหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ นาฬิกา ปลอมเครื่องหมายการค้าชาแนล แวนคลีฟ โรเล็กซ์ คาร์เทียร์ บุลการี ปาเต๊ะฟิลลิปป์ ดำเนินคดี 2 คดี จับกุมผู้ต้องหา 1 คน ยึดของกลาง 213 ชิ้น

“ที่ผ่านมา กรมได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบการจำหน่ายสินค้า ในพื้นที่ ๆ มีการขายสินค้าละเมิดมาก โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยว ทั้งในกรุงเทพฯ เช่น ถนนสีลม ถนนสุขุมวิท ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ และในต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย พัทยา กระบี่ รวมถึงโรงเกลือ ที่เป็นแหล่งค้าขนาดใหญ่ โดยสามารถจับกุมผู้ค้าสินค้าละเมิด พร้อมยึดของกลางได้จำนวนมาก และยังได้รณรงค์ให้คนไทยตระหนักรู้ถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา และการซื้อ การใช้สินค้าที่มีทรัพย์สินทางปัญญาถูกต้องด้วย”นายอาวุธกล่าว

สำหรับศูนย์การค้าเอ็มบีเค ที่สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีว่าเป็นแหล่งขายสินค้าละเมิดนั้น ได้รับการยืนยันจากศูนย์การค้าว่า ได้ดำเนินการเอาจริงเอาจังกับผู้ค้าสินค้าละเมิดอย่างมาก หากพบว่าใครขายของปลอม ของก๊อปปี้ จะยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่ทันที ทำให้การขายของละเมิดลดลง


“ภูมิธรรม”สั่งลุยหารายได้-ลดค่าครองชีพ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในฐานะที่กระทรวงพาณิชย์เป็นหนึ่งในหน่วยงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีภารกิจทั้งการหารายได้เข้าประเทศจากการขับเคลื่อนการส่งออก การดูแลค่าครองชีพของประชาชน การช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย ได้กำหนดแผนการขับเคลื่อนการทำงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยให้เพิ่มความเข้มข้นทุกด้าน เพื่อให้งานของกระทรวงพาณิชย์มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มรายได้ และลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน

โดยในด้านการส่งออก มีกิจกรรมที่จะดำเนินการกว่า 50 กิจกรรม ทั้งการเดินสายเปิดประตูการค้า นำทีมโดยนายภูมิธรรมเอง มีเป้าหมาย เช่น คาซัคสถาน แอฟริกาใต้ การจัดเทรด มิชชัน ไปเจรจาการค้า และสำรวจตลาด อาทิ แอฟริกา ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เมียนมา เป็นต้น มุ่งขยายการค้าและเจาะตลาดเมืองรอง ระดับมณฑล เมือง รัฐ โดยเฉพาะตลาดจีน ที่จะต้องทำเพิ่มขึ้น การใช้ประโยชน์จากซอฟต์ พาวเวอร์ ผลักดันสินค้าและบริการของไทย เช่น ร้านอาหาร วัฒนธรรม ภาพยนตร์ แอนิเมชัน และการท่องเที่ยว การใช้ Marketing Platform รูปแบบใหม่ คิดนอกกรอบ เพื่อโอกาสใหม่ ๆ อาทิ การผลักดันสินค้าและบริการไทยผ่านซีรีส์วาย และซีรีส์ยูริ การใช้ผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ อินฟลูเอนเซอร์ ช่วยขายสินค้าไทย การใช้ร้านอาหาร Thai SELECT เป็นโชว์รูมสินค้า และผลักดันซอฟต์ พาวเวอร์ การผลักดันขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ รวมไปถึงแผนใหม่ ๆ ที่จะดำเนินการ อาทิ การยกระดับตรา Thai Select เป็น Global Brand ระดับโลก การจัดมหกรรม International Live Commerce เพื่อขายสินค้าไทย และการสร้างแบรนด์ประเทศไทย

ส่วนการเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับเกษตรกร นอกเหนือจากมาตรการหลักที่ดูแลสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพาราแล้ว ยังมีมาตรการสำคัญที่จะใช้ดูแลพืชเกษตรตัวรอง โดยจะร่วมมือกับบริษัทรายใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เข้ามาช่วยดูแลผลผลิตทางการเกษตรในประเทศ ทั้งการช่วยรับซื้อ การนำไปขาย หรือนำไปทำตลาด เพื่อดูแลเกษตรกรให้ขายผลผลิตได้ราคาที่ดีขึ้น

“ปกติบริษัทใหญ่ ๆ หรือบริษัทเจ้าสัว เขามีการทำงาน หรือทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR อยู่แล้ว ก็ขอให้เขาเข้ามาช่วยกระทรวงพาณิชย์ในการดูแลพืชผลทางการเกษตร จะใช้วิธีการแบบเดิม ๆ พอมีปัญหาด้านราคา ก็เข้าไปแทรกแซง เข้าไปซื้อ มันไม่ยั่งยืน เราต้องดึงเจ้าใหญ่มาช่วย ซึ่งเท่าที่ได้หารือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เขาพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์”

โดยรายใหญ่ว่าที่ อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เครือไทยเบฟ ห้างค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้งโลตัส บิ๊กซี แม็คโคร ท็อปส์ โก โฮลเซลล์ เซ็นทรัล เดอะมอลล์ ไอคอนสยาม เอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ เอเชียทีค ห้างท้องถิ่นรายใหญ่ รวมถึงสถานีบริการน้ำมัน อาทิ พีทีที สเตชัน พีที เชลล์ บางจาก เป็นต้น

ส่วนพืชเกษตรเศรษฐกิจตัวรองที่จะเข้าไปดูแล มีจำนวน 18 ชนิด แยกเป็นผลไม้ 11 ชนิด ได้แก่ 1.ทุเรียน 2.มังคุด 3.เงาะ 4.ลองกอง 5.ลำไย 6.สับปะรด 7.ลิ้นจี่ 8.ส้มโอ 9.ส้มเขียวหวาน 10.มะยงชิด 11.มะม่วง ผัก 4 ชนิด ได้แก่ 1.มะนาว 2.มะเขือเทศ 3.ฟักทอง 4.พริกขี้หนูจินดา และพืชสามหัว 3 ชนิด ได้แก่ 1.หอมแดง 2.หอมหัวใหญ่ 3.กระเทียม
นอกจากนี้ จะเร่งหาทางเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย โดยจะช่วยเพิ่มช่องทางการค้าขาย ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะกว่าเงินดิจิทัล วอลเล็ต จะออกมา ก็ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จึงต้องหาทางช่วยเพิ่มรายได้ให้ก่อน

สำหรับการดูแลค่าครองชีพ สินค้าธงฟ้า ยังมีความจำเป็นในบางพื้นที่ ก็ให้พิจารณาจัดให้เหมาะสม และต้องไม่กระทบต่อการค้าขายปกติของผู้ประกอบการ ส่วนกรุงเทพฯ ที่ปัจจุบันมีการจัดโมบายธงฟ้า นำสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพไปจำหน่าย ก็ให้ดำเนินการต่อ เพราะในกรุงเทพฯ มีคนเป็นจำนวนมาก ทั้งคนหาเช้ากินค่ำ แรงงาน คนชั้นกลาง ยังจำเป็นต้องได้รับการดูแลเช่นเดียวกัน และโมบายธงฟ้ายังเป็นอีกหนึ่งช่องทาง ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ด้วยการนำสินค้าเกษตรมาจำหน่ายและช่วยระบายในช่วงที่ผลผลิตออกมาได้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น