xs
xsm
sm
md
lg

กำลังซื้อ ปท.หด-หนี้ครัวเรือนท่วม ฉุดดัชนีผลผลิตอุตฯ มิ.ย. 67 วูบต่อ ลุ้นครึ่งปีหลังมีสัญญาณดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับ 96.08 หดตัวร้อยละ 1.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากกำลังซื้อภายในประเทศหด ปัญหาหนี้ครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง ด้าน MPI ไตรมาส 2 ปี 2567 หดตัวร้อยละ 0.27 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ 3.58 ชี้ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น กระทบภาคการผลิต และสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย มั่นใจดัชนี MPI เดือน ก.ค.ดีขึ้น หลังนำอุตสาหกรรมใหม่ทั้ง EV SSD โซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มาคำนวณ ลุ้นปีนี้ GDP อุตสาหกรรมโตร้อยละ 1.5

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาคการผลิตของไทยยังคงหดตัวจากปัญหาขาดกำลังซื้อภายในประเทศ ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นและสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทะลักเข้าไทยส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต กดดันดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับ 96.08 หดตัวร้อยละ 1.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 58.41 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ การหดตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2567 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เฉลี่ยอยู่ที่ 94.74 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 0.27 แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ 3.58 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 57.79 ในขณะที่ภาพรวม 6 เดือนแรกปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 97.83 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.01 และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 59.11 สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง


นางวรวรรณกล่าวว่า ระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนกรกฎาคม 2567 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังทั้งหมด ความเชื่อมั่นและการลงทุนหดตัวลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ซบเซา ส่งผลต่อการบริโภคและการค้าในประเทศ ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณปกติเบื้องต้น โดยภาคการผลิตของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวในระยะนี้

ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในสินค้าหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ประมาณร้อยละ 25 ถึง 100 คิดเป็นมูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 660,000 ล้านบาท ซึ่งพุ่งเป้าไปที่สินค้าที่นับเป็นกลุ่มยุทธศาสตร์ของจีนทั้งพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีใหม่ โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ โดยสหรัฐฯ ได้ให้เหตุผลว่าต้องการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ จากความกังวลต่อสินค้าจีนที่อาจทะลักสู่ตลาดสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา อีกทั้งยังเป็นการสกัดกั้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของจีน ซึ่งประเด็นการขึ้นภาษีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลกในหลายมิติ

“ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมในการขยายการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ทดแทนจีน โดยเฉพาะเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ ขณะเดียวกันหากถูกเลือกเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ของจีน จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง และนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงต้องมีการปรับสมดุลการนำเข้าสินค้าไม่ให้นำเข้าจากจีนมากจนเกินไป โดยปรับเพิ่มภาษีนำเข้า หากสินค้าที่นำเข้ามีราคาต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ” นางวรวรรณกล่าว


อย่างไรก็ดี ทาง สศอ.อยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ในการจัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ได้แก่ SSD (Solid State Drive) โซลาร์เซลล์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ และรถยนต์นั่งแบตเตอรี่ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งเมื่อนำผลิตภัณฑ์ใหม่มาคำนวณจะส่งผลให้ดัชนี MPI ปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าจะเห็นในดัชนี MPI เดือนกรกฎาคมนี้ และมีผลทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ภาคอุตสาหกรรมในปีนี้อาจขยายตัวอยู่ที่ 1.5% จากเดิมที่คาดว่า GDP อุตสาหกรรมอยู่ที่ 0.5-1.0% ซึ่งเดิม สศอ.ไม่คาดคิดว่ากำลังซื้อในประเทศจะหดตัวลงขนาดนี้ 

อย่างไรก็ดี ทาง สศอ.ประเมินว่าครึ่งหลังปี 2567 ทิศทางดัชนี MPI และ GDP อุตสาหกรรมมีสัญญาณดีขึ้น หากมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเงินดิจิทัลวอลเล็ต การเบิกจ่ายงบประมาณเข้าสู่ภาวะปกติ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนมิถุนายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 41.90 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เป็นหลัก เนื่องจากปริมาณผลปาล์มเข้าสู่โรงงานเพิ่มขึ้น ตลาดส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคู่ค้าอย่างประเทศอินเดีย จีน ปากีสถาน และยุโรป เนื่องจากราคาในตลาดโลกสูงกว่าในประเทศ

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.58 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องบินและน้ำมันเบนซินเป็นหลัก ตามการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและประชาชนในประเทศ

อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.33 จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปเป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่ขยายตัวจากตลาดต่างประเทศ ประกอบกับการปรับลดราคาสินค้าลงตามราคาวัตถุดิบที่ลดลง

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนมิถุนายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.05 จากรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดในประเทศ ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง หนี้ครัวเรือนสูง และสถาบันการเงินยังคงความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.08 จาก PCBA และ Integrated circuits (IC) เป็นหลัก โดยเป็นไปตามภาวะตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลก โดยหดตัวทั้งจากตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์

จักรยานยนต์หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.42 ตามการหดตัวของตลาดในประเทศ ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ ประกอบกับความต้องการของประเทศคู่ค้าลดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น