xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤต EA กระทุ้งตลาดหุ้น เปิดเพิ่มข้อมูล FORCE SELL

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



วิกฤตหุ้น “พลังงานบริสุทธิ์” แรงกระตุ้นให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยข้อมูล FORCE SELL เต็มร้อย หวังเป็นเครื่องมือช่วยรายย่อยสู้รายใหญ่ที่เอาเปรียบ ด้านผู้บริหาร EA ยืนยันเรื่องร้ายจบแล้ว พร้อมมุ่งหน้าธุรกิจ จับตาใครจะนั่งเชิดแทนคนเก่า หลังถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษจนต้องพ้นจากบอร์ด

สถานการณ์หุ้นบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ในตอนนี้ คงต้องเอาใจช่วยบรรดานักลงทุนรายย่อยที่ยังกัดฟันถือหุ้นของบริษัทมาตั้งแต่ 2 ปีก่อน นั่นเพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นถือว่าใหญ่หลวงไม่แพ้รุ่นพี่ อย่าง MORE และ STARK เลย

รวมถึงการกลับมาตั้งคำถามต่อตลาดทุนไทยว่า “ถึงเวลาที่จะต้องชำระ กฏเกณฑ์เงื่อนไขในการควบคุมบริษัท รวมถึงผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง จนสร้างความเสียหายต่อนักลงทุนแล้วหรือยัง?” มิเช่นนั้นเชื่อว่าในอนาคตก็จะเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก จนความน่าเชื่อถือที่ปัจจุบันมีน้อยนิดอยู่แล้ว ยิ่งน้อยลงไปหรือหมดไป

เหตุการณ์ ของ EA ในตอนนี้  นักลงทุนกำลังจับตาผลจากการกล่าวโทษของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต่อนายสมโภชน์ อาหุนัย และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการและผู้บริหาร EA และบริษัทย่อยที่ EA เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.99 (ได้แก่ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด) และนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ว่าจะมีผลต่อบริษัทอย่างไร 

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงและหลักฐานที่พิจารณาได้ว่า ในช่วงปี 2556-2558 บุคคลทั้ง 3 รายได้ร่วมกันกระทำการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และ/หรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัท เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 รายได้รับผลประโยชน์ จำนวนรวม 3,465.64 ล้านบาท

จากการกระทำของบุคคลดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/7 ประกอบมาตรา 89/24 มาตรา 311 มาตรา 313 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี  ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 3 รายต่อ DSI เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไปพร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้นต่อ ปปง. อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ขณะเดียวกันเนื่องจากเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ในการรวบรวมเอกสารหลักฐานในคดีดังกล่าวทำให้ ก.ล.ต. ได้ประสานความร่วมมือและได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานกำกับดูแลของต่างประเทศหลายแห่ง

ถูกกล่าวโทษต้องพ้นบอร์ด

สิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติม หลังจากก.ล.ต.กล่าวโทษครั้งนี้คือ การกระทำของบุคคลทั้ง 3 รายเป็นความผิดทุจริตตามมาตรา 311 ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา จึงไม่สามารถใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งได้ ขณะเดียวกันการกล่าวโทษในกรณีนี้ ส่งผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษขาดคุณสมบัติในการเป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน/บริษัทหลักทรัพย์

เนื่องจากการถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนนับตั้งแต่วันที่ถูกกล่าวโทษไปจนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี ตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 3/2560

ส่องศักยภาพธุรกิจ

สำหรับ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ก่อตั้งบริษัทขึ้นในปี 2551 จากชื่อเดิม บริษัท ซันเทค ปาล์มออยส์ จำกัด และก่อสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซล โดยปี 2553 เริ่มดำเนินธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว และปีต่อมา ขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จากนั้นนำหุ้นสามัญเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในปี 2556 พร้อม เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. เมื่อปี 2558

เมื่อปี 2560 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อนุมัติให้ EA เข้ามาซื้อขายบนกระดานใหญ่ หรือ SET ในกลุ่มทรัพยากร หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค โดยมีธุรกิจ 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจไบโอดีเซล ผลิต และจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล (B100) กรีนดีเซล กลีเซอรีนบริสุทธิ์ ผลิตภัณฑ์พลอยได้ ฯลฯ

กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม

กลุ่มธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ธุรกิจพัฒนา ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน

กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจพัฒนา ผลิตและจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจบริการสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าธุรกิจให้เช่าซื้อยานยนต์ไฟฟ้า

กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจวิจัยและพัฒนา ธุรกิจให้บริการงานออกแบบ จัดหาก่อสร้าง ติดตั้งแบบครบวงจร และบริหารจัดการโครงการ ธุรกิจกำจัดขยะและโรงไฟฟ้าขยะ

โดยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 5 ปี พบว่า ปี 2563 รายได้รวม 5,204.57 ล้านบาท กำไรสุทธิ 17,199.14 ล้านบาท ต่อมาปี 2564รายได้รวม รายได้รวม 20,558.10 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,100.07 ล้านบาท ขณะที่ ปี 2565 รายได้รวม 27,546.81 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7,604.29 ล้านบาท

ส่วนปี 2566 รายได้รวม 31,597.76 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7,606.17 ล้านบาท และไตรมาสแรกปี 2567 บริษัทมีรายได้รวม 5,881.06 ล้านบาท กำไรสุทธิ 888.70 ล้านบาท


ยืนยัน FORCE SELL จบแล้ว

ด้าน สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ EA กล่าวว่า กรณีถูกบังคับขายหรือ FORCE SELL หุ้น EA ในส่วนของตนได้หมดลงแล้ว ส่วนการรายงานสรุปแบบ 246-2 ล่าสุดโดย บริษัท เอสพีบีแอล โฮลดิง จำกัด (บริษัทของนายสมโภชน์) รายงานการจำหน่ายหุ้น EA เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 จำนวน 36 ล้านหุ้นนั้น เป็นรายการเดิมที่รายงานไปก่อนหน้านี้แล้วในแบบ 59-1 ที่ผ่านมา

สำหรับสาเหตุที่ต้องรายงานซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากตามเกณฑ์ของตลาดฯ ในการขายหุ้นของผู้บริหารจะต้องรายงานเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้น ตั้งแต่ระดับ 5% หรือ 10% ซึ่งเป็นกฎทั่วไป

ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2567 เป็นต้นมา จะมีเฉพาะของการปรับพอร์ตหุ้น EA ในกลุ่มพันธมิตรเท่านั้น และยังคงมีต่อเนื่อง แต่เหลืออีกไม่มากแล้ว โดยการขายหุ้นบิ๊กล็อต ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมาจำนวน 30 ล้านหุ้นจำนวน 3 รายการ รวมมูลค่าราว 396 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 13.20 บาท เป็นการขายให้กับนายชัยวิทย์ อรุณเนตรทอง และนางสิริลักษณ์ อรุณเนตรทอง ซึ่งถือเป็นกลุ่มเดียวกัน เนื่องจากทั้งสองคนนี้เป็นเพื่อนของตน 

ขณะที่การเดินหน้าธุรกิจ จากนี้จะไปโฟกัสการดำเนินงานของบริษัท โดยยอมรับว่าที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาหุ้นค่อนข้างมาก มีการชะลอส่งมอบรถ EV จริง แต่ขณะนี้ได้เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนจะถึงเป้าหมาย 5 พันคันหรือไม่นั้น ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ก็ต้องพยายามให้ดีที่สุด โดยวางแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ของ EV ในอนาคตให้มากกว่ารายได้จากโรงไฟฟ้า ดังนั้นจึงไม่น่ากังวลว่า ADDER จะหมดไปในอนาคต

ส่วนแผนเพิ่มทุน บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX ล่าสุดได้จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง หรือ PP ให้แก่นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา (หลิน เข่อนัว) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NEX เพียงรายเดียว เพราะยืนยันว่าจะสามารถหาเงินมาใส่เพิ่มทุนได้ ขณะที่วอร์แรนต์ที่ออกให้นั้น เป็นเรื่องของอนาคต หากบริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้น ทุกคนก็พร้อมจะแปลงสิทธิ์

แทบจะนับกันไม่ทันแล้วว่า นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ออกมาชี้แจงแถลงข่าวกี่ครั้งแล้วเกี่ยวกับทุกปัญหาและข้อสงสัยใน EA แต่ยังไม่สามารถหยุดวิกฤตราคาหุ้นที่ทรุดฮวบ สร้างจุดต่ำสุดใหม่ในรอบ 10 ปีได้ 

 ย้อนรอยการชี้แจงบิ๊ก EA

โดยปกตินายสมโภชน์ ไม่ได้เปิดตัวแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนมากนัก โดยเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่เก็บเนื้อเก็บตัวเงียบ นานทีอาจปีละครั้ง จึงออกโรงมาแถลงถึงแผนธุรกิจหรือแนวโน้มการดำเนินงานของ EA แต่ในรอบเดือนที่ผ่านมา นายสมโภชน์ ออกมาแถลงข่าวถี่ยิบ และเปิดให้สื่อมวลชนซักถามในทุกประเด็นปัญหาของ EA ทั้งปัญหาในอดีต ปัจจุบันและอนาคตค รวมทั้งข่าวลือ และแม้แต่การถูกบังคับขายหุ้นหรือ FORCE SELL

นายสมโภชน์ ชี้แจงข้อสงสัยเกี่ยวกับ EA จนหมดไส้หมดพุงแล้ว เผชิญหน้าให้สื่อมวลชนซักจนแทบไม่มีประเด็นคำถามค้างคา โดยมีเป้าหมายดับกระแสข่าวลือ เรียกความมั่นใจนักลงทุนว่า EA ยังมีอนาคตที่สดใสและการบังคับขายหุ้นที่นำไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้จบสิ้นไปแล้ว เพราะหุ้น EA ที่นำไปวางเป็นหลักทรัพย์คำประกันประมาณ 3% ถูกบังคับขายเกลี้ยง

การแถลงข่าวของนายสมโภชน์ ในแต่ละครั้ง ไม่ได้สูญเปล่าเสียทีเดียว เพราะช่วยให้ราคาหุ้น EA และหุ้นในกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นหุ้น บมจ. เน็กซ์พอยท์ หรือ NEX และหุ้น บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD มีอาการดีขึ้น เพราะราคาปรับตัวขึ้น แต่ขึ้นได้เพียงชั่วคราว ก่อนถูกถล่มขาย จนราคาทรุดกันลงมาใหม่ และทรุดลงหนักกว่าเดิม

รวมทั้งการแถลงข่าวใหญ่ครั้งล่าสุด โดยยืนยันว่าแรงขาย FORCE SELL จบแล้ว ซึ่งปลุกให้ราคาหุ้น EA ดีดตัวขึ้นแรง จนนักลงทุนคิดว่าหุ้น EA คงหมดทุกข์หมดโศก ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว

แต่จากนั้นไม่นาน หุ้น EA ถูกถล่มขายจนราคาทรุดฮวบลงมาอีก ปิดที่ 11.90 บาท ทำให้การชี้แจงข่าวของนายสมโภชน์ เกี่ยวกับ EA ในทุกประเด็นที่ผ่านมาสิ้นมนต์ขลัง

ขณะเดียวกัน แรงขาย FORCE SELL หุ้นที่นายสมโภชน์นำไปตึ๊งจบลงแล้ว การถูกโจมด้วย ROBOT TRADE SHORT SELL และ NAKED SHORT หรือการขายโดยไม่มีหุ้นอยู่ในมือ ตลาดหลักทรัพย์ตรวจสอบแล้วว่า ไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น EA ร่วง

สถานการณ์ของ EA ทำท่าจะฟื้นหลายครั้ง แต่ราคาโงหัวขึ้นมาเมื่อไหร่จะถูกทุบร่วงลงทุกครั้ง จนนักลงทุนที่เข้าไปไล่ช้อนหุ้นเจ็บในทุกไม้ที่ซื้อ ดังนั้น จะเข้าไปเล่นกับ EA จึงต้องระวัง แม้ราคาระดับ 10 บาทต้นๆ จะถูกมากก็ตาม และแต่ตราบใดที่คลื่นลมการถล่มขายยังไม่สงบ จึงมีโอกาสเห็นหุ้น EA ในราคาที่ถูกกว่าอีก


FORSELL ฝันร้ายของรายย่อย

ขณะเดียวกันวิกฤตการบังคับขายหุ้น หรือ FORCE SELL แม้คลี่คลายลงไปแล้ว แต่ปัญหายังไม่จบเสียทีเดียว เพราะผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนที่นำหุ้นไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน สินเชื่อเพื่อการซื้อหุ้น หรือมาร์จิ้นกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนตกอยู่ในความเสี่ยง

หุ้นที่ดิ่งลงเหวตกติดฟลอร์ 30% หลายวันติด จนผู้ถือหุ้นรายย่อยขาดทุนป่นปี้ เกิดจากการ FORCE SELL ของผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียน ซึ่งแอบนำหุ้นไปจำนำเพื่อขอมาร์จิ้นมาเล่นหุ้นเมื่อราคาหุ้นปรับตัวถึงจุดหนึ่ง ถ้าผู้ขอมาร์จิ้นไม่มีหลักทรัพย์วางเพิ่ม หุ้นจะถูกบังคับขาย ฉุดให้ราคาหุ้นทรุดฮวบ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วกับหุ้นนับสิบๆ บริษัท

อย่างไรก็ตาม การ FORC SELL เกิดขึ้น 2 กรณีคือ ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนไม่มีหลักทรัพย์ที่จะวางค้ำประกันเพิ่มจริงๆ แต่อีกกรณี ผู้ถือหุ้นใหญ่จงใจให้ถูก FORCE SELL โดยไม่ยอมนำหลักทรัพย์ไปวางเพิ่ม แม้จะมีหลักทรัพย์อยู่ก็ตาม เพราะได้ขายหุ้นในราคาสูงไปก่อนหน้า แต่รอจังหวะซื้อหุ้นคืนในราคาต่ำๆ เมื่อหุ้นถูก FORCE SELL

บริษัทจดทะเบียนที่มีสัดส่วนการนำหุ้นไปค้ำประกันมาร์จิ้นสูงจึงมีความเสี่ยง เพราะถ้าถูก FORCE SELL จะมีหุ้นจำนวนมากที่ถูกบังคับขาย กดให้ราคาหุ้นรูดลงแรงต่อเนื่อง จนติดฟลอร์ 2-3 วัน

ทำให้นักลงทุนจึงต้องหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีสัดส่วนการขอเปิดบัญชีมาร์จิ้นสูง ๆ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์มีข้อมูลให้ตรวจสอบได้ว่าหุ้นตัวไหนขอมาร์จิ้นในสัดส่วนเท่าไหร่ โดยรายงานข้อมูลบัญชีมาร์จิ้นหุ้นรายตัวเดือนต่อเดือน เพื่อให้นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน

อย่างไรก็ตาม เพียงแต่ข้อมูลบัญชีมาร์จิ้นหุ้นรายตัวที่รายงาน แจ้งเพียงสัดส่วนหุ้นที่ถูกนำไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยในบริษัทจดทะเบียน เพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบว่า หุ้นที่ถูกนำไปจำนำมีสัดส่วนเท่าไหร่

สิ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยต่อทุนจดทะเบียนต่ำ แต่มีสัดส่วนหุ้นที่นำไปจำนำสูง จะสะท้อนให้เห็นว่าหุ้นที่ถูกนำไปวางค้ำประกันมาร์จิ้น น่าจะเป็นหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่

หวังเกณฑ์ใหม่ให้ความเป็นธรรม

ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯกำลังเตรียมขยายการเปิดเผยข้อมูลการนำหุ้นไปค้ำประกันมาร์จิ้น โดยกำหนดให้ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนต้องรายงานการนำหุ้นไปวางค้ำประกันมาร์จิ้น แจ้งว่านำหุ้นไปจำนำจำนวนเท่าใด สัดส่วนเท่าไหร่ของทุนจดทะเบียน เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาก่อนตัดสินใจการลงทุนหุ้นแต่ละบริษัท

เรื่องดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนโดยตรง เพราะมีข้อมูลที่ครบถ้วนในการพิจารณาลงทุนหุ้นแต่ละบริษัท ทั้งสัดส่วนหุ้นที่นำไปวางค้ำประกันมาร์จิ้น และตัวบุคคลที่นำหุ้นไปวางค้ำ โดยเฉพาะผู้บริหารหรือเจ้าของหุ้น เพราะคงไม่มีนักลงทุนคนใดอยากลงทุนหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นบริษัทลงมาเล่นหุ้นแข่งกับนักลงทุนทั่วไป เพราะผู้บริหารหรือเจ้าของหุ้นได้เปรียบทุกประตูอยู่แล้ว

 “รองรักษ์ พนาปวุฒิกุล” รองผู้จัดการ ในฐานะโฆษก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อรวบรวมข้อมูลมาประกอบใช้ในการพิจารณาหามาตรการเพิ่มเติมมาเพื่อควบคุมเรื่องดังกล่าว และจะเข้าไปหารือกับทาง ก.ล.ต.ในการร่วมกันหามาตรการด้วย เพื่อป้องกันผลกระทบจากการที่หุ้นถูก Force sell จากการนำไปวางมาร์จิ้นจำนวนมากด้วย และเป็นการช่วยดูแลนักลงทุนรายย่อย

ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ต้องเปิดโปงให้หมดว่า ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนแห่งใดนำหุ้นไปวางค้ำมาร์จิ้น ขอเงินกู้เพื่อเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น แย่งอาชีพนักลงทุนโดยไม่ละอายแก่ใจ และขอภาวนาให้ EA เป็นหุ้นตัวสุดท้ายที่นักลงทุนรายย่อยต้องเจ็บช้ำ รวมถึงยังต้องลุ้นกันต่อว่าใครจะมาถือหางเสือพาบริษัทฟื้นตัวกลับมา
กำลังโหลดความคิดเห็น