xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการเรียกความเชื่อมั่น ปลุกหุ้นไทยให้ฟื้น..จริงหรือ??

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ดัชนีหุ้นไทยฟื้นเริ่มกระเตื้อง หลังรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการต่อเนื่อง เรียกความเชื่อมั่น ทั้งการปรับเกณฑ์ THAI ESG เพื่อดูดเงินลงทุนไหลเข้า ขณะ ตลท . เดินหน้าออกมาตรการต่อเนื่อง เพื่อสกัดกลโกงและป้องกันปกป้องนักลงทุน ส่วน ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์การรับหุ้นใหม่ให้งบการเงินมั่นคงขึ้น และมาตรการ UPTICK RULE ที่เริ่มบังคับใช้และเห็นผล ล่าสุดจับมือ 4 พันธมิตร ลง MOU "โครงการรายงาน การวิเคราะห์อุตสาหกรรมแยกตามรายธุรกิจ ดึงเงินเข้าหุ้น New Economy

ตลาดหุ้นเริ่มคึกอีกครั้ง หลัง 3 หน่วยงานอย่าง กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ร่วมกันออกมาแถลงข่าวเพื่อเรียกความเชื่อมั่น เพราะมีความคาดหวังมาตรการเรียกความเชื่อมั่นการลงทุน แต่ไม่มีการยกเลิกการทำรายการยืมหุ้นมาขายหรือ SHORT SELL และการซื้อขายด้วยโปรแกรม หรือ ROBOT TRADE ยังดำรงอยู่ต่อไป ส่วนการขายโดยไม่มีหุ้นอยู่ในมือ หรือ NAKED SHORT จะแก้กฎหมาย เพิ่มบทลงโทษทั้งทางแพ่งและความผิดทางอาญา

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า มาตรการที่โดดเด่นและน่าสนใจ คือ การขยายสิทธิประโยชน์การลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนหรือ Thai ESG โดยจะเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีจากปีละไม่เกิน 1 แสนบาท เป็นไม่เกิน 3 แสนบาท และลดระยะเวลาการถือครองหน่วยลงทุนจาก 8 ปีเหลือ5 ปี ทำให้คาดว่าจะมีเงินลงทุนไหลเข้ามาปีละ 30,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ปัญหาที่คาใจนักลงทุน คงไม่พ้น SHORT SELL ,ROBOT TRADE และ NAKED SHORT เพราะ ไม่มีอะไรนอกเหนือจากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯเคยแถลงไว้แล้ว โดยจะเพิ่มมาตรการกำกับ ดูแล ควบคุมและตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น ป้องการการเอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป มีบทลงโทษผู้กระทำผิดที่หนักขึ้น

เนื่องจาก SHORT SELL ซึ่งนักลงทุนเชื่อว่า เป็นอีกตัวการสำคัญที่ทำให้หุ้นตกจนโงหัวไม่ขึ้น และมีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกนั้น นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยืนยันจะไม่ยกเลิก เพราะการยกเลิกจะส่งผลเสียระยะยาว และขัดกับหลักสากล โดย SHORT SELL เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ

อย่างไรก็ดีมาตรการเรียกความเชื่อมั่นโดยรวม อาจทำให้นักลงทุนในประเทศ เกิดความหวังว่า บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นน่าจะกระเตื้องขึ้นบ้าง เพราะดัชนีหุ้นดีดกลับไปเกือบ 20 จุด

ตลท.ออกและเร่งใช้มาตรการต่อเนื่อง ฟื้นความเชื่อมั่น

สืบเนื่องจากดัชนีตลาดหุ้นดิ่งลงต่อเนื่อง ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียกความเชื่อมั่น ที่น่าสนใจคือมาตรการลดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ เริ่มจากการปรับคุณสมบัติของหุ้นที่จะถูกขายชอร์ตเซล หรือ Short Sell, การเพิ่ม Uptick ทุกหลักทรัพย์, การเพิ่ม Daily Short Sell Limit, จัดให้มี Central Platform เพื่อเช็กหุ้นก่อนขาย, เพิ่ม Circuit Breaker หุ้นรายตัว (Dynamic price band) ที่กำหนดให้รายหุ้นที่บวก/ลบ 10% ของราคาซื้อขาย รวมทั้งเพิ่มมาตรการ Auction ในมาตรการกำกับการซื้อขาย Level 2

นอกจากนี้ ยังใส่ใจและกำกับพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม ด้วยการกำหนดให้มี Auto Halt รายหุ้นเมื่อมีจำนวนคำสั่งซื้อหรือขายรวมสูงกว่า 15% ของหุ้นจดทะเบียน, มาตรการ Central Order Screening Platform, Minimum Resting Time และ Registered HFT หรือการลงทะเบียน นักลงทุนที่จะส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น HFT พร้อมกับเพิ่มบทลงโทษ และการเปิดเผยการถือ NVDR รวมทั้งกรณีของหลักทรัพย์ที่จะขายชอร์ตเซลได้ หากเป็นหุ้นที่อยู่นอก SET100 ต้องมีมาร์เก็ตแคปไม่ต่ำกว่า 7.5 พันล้านบาท และมีอัตราการซื้อขายหมุนเวียนเฉลี่ยในรอบ 12 เดือน ที่ 2% เหล่านี้คือมาตรการที่ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด ตลท. และทยอยมีผลบังคับใช้แล้ว

ล่าสุด เดือน ก.ค.นี้ ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้คือ มาตรการ Uptick รายหลักทรัพย์ ซึ่งกำหนดให้การขายชอร์ตเซล จะทำได้ราคาสูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย จากปัจจุบันให้ขายได้ที่ราคาเท่ากับ หรือสูงกว่า หรือ Zero-pius Tick และต้องเปิดเผยข้อมูลผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งซื้อขายไม่เหมาะสมให้กับโบรกเกอร์ทุกราย และกำหนดให้โบรกเกอร์และลูกค้าที่ใช้ HFT ต้องยื่นคำขอและไฟลิ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถเห็นข้อมูลผู้ลงทุนในระดับ Sub-Account ของ Omnibus Account

ขณะที่ มาตรการ Auction หุ้นที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขาย Level 2 จะเริ่มขึ้น ในไตรมาส 3 รวมทั้งกำหนดเวลาขั้นต่ำของ order ก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่ง (Minimum Resting Time) โดยกำหนด Minimum Resting Time ของคำสั่งก่อนที่จะสามารถแก้ไข/ยกเลิก ไว้ที่ 250 milliseconds ทั้งนี้คำสั่งที่มีการแก้ไข/ยกเลิกก่อนเวลาดังกล่าวจะถูกยกเลิก (reject) โดยระบบ หากพบว่าฝ่าฝืนโทษจะเพิ่มเป็น 3 เท่า ส่วน Central Platform ในการตรวจสอบหลักทรัพย์ก่อนขาย เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลกลางสำหรับบริษัทสมาชิกและตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือโบรกเกอร์ ในการตรวจสอบ Availability ของหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนก่อนขายจะเริ่มใช้ในไตรมาส 4 ปีนี้

ก.ล.ต.คุมตั้งแต่ต้นทาง

ขณะเดียวกัน สำนักงาน ก.ล.ต.เองก็เดินหน้าหามาตรการเพื่อป้องกันและป้องปรามและบังคับใช้ ซึ่งตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่ กล่างคือ บริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือ SET จะต้องมีกำไรล่าสุด 75 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ 30 ล้านบาท ขณะกำไร 3 ปีสุดท้ายก่อนระดมทุนขายหุ้น IPO ต้องทำได้ 125 ล้านบาท จากเดิมเพียง 50 ล้านบาท และ มีส่วนผู้ถือหุ้นหลัง IPO ต้องมี 800 ล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ที่ 300 ล้านบาท และทุนชำระแล้วหลัง IPO ปรับลงมาที่ 100 ล้านบาท จากเดิม 300 ล้านบาท

สำหรับบริษัท ที่จะเช้าตลาด mai ต้องมีกำไรล่าสุดเเป็น 25 ล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ที่ 10 ล้านบาท ส่วนกำไร 3 ปีสุดท้าย ก่อนขายหุ้น IPO ต้องอยู่ที่ 40 ล้านบาท จากเดิมที่ไม่กำหนด และต้องมีส่วนผู้ถือหุ้นหลัง IPO เพิ่มเป็น 100 ล้านบาท จากเดิมแค่ 50 ล้านบาท

Uptick เห็นผล ฉุด Short Sell ลงต่ำ ต่างชาติซื้อหนัก

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ออกบทวิเคราะห์ กล่าวถึง การบังคับใช้ Uptick Rule เพื่อควบคุมเรื่อง Short Sell ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้วันแรกเมื่อ 1 ก.ค.ที่ผ่านมาพบว่า ทำให้มูลค่าธุรกรรม Short Sell ปรับลดลงจาก ค่าเฉลี่ย 5.5 พันล้านบาท/วัน ลงมาอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท หรือลดลง 79% ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมาย

โดยประเมินว่าการลดลงของธุรกรรม Short Sell น่าจะมีส่วนทำให้แรงกดดันต่อราคาหุ้นลดระดับลง แต่ในขณะเดียวกันที่ทำให้มูลค่าการซื้อขายของตลาดฯ ลดลงไปด้วย ซึ่งจากนี้ ต้องหวังพึ่งการกลับมาของนักลงทุนในประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งผ่านกลไกของ TESG เกณฑ์ใหม่ และวายุภักษ์จะเริ่มเห็นในไตรมาส 3 ปีนี้

สำหรับปัจจัยแวดล้อมทางพื้นฐานยังให้ความสำคัญกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย โดยยังเชื่อว่า FED น่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย.67 ขณะที่ไทยคงไว้ที่เดิม ภาวะดังกล่าวน่าจะช่วยลดการไหลออกของเงินได้ระดับหนึ่ง ซึ่งปี 2566 และ 2567 จากช่วงต้นปีต่างชาติมีสัดส่วนซื้อขายหุ้นไทยสูงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าซื้อขายรวมที่ 52.3% และ 54.0% ตามลำดับ และนักลงทุนไทยเหลือสัดส่วนถึงครึ่ง 47.7% และ 46.0% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของฝ่ายวิจัยฯ จุดเริ่มต้นเปลี่ยนเกมอาจเกิดขึ้น หลังตลาดฯ ประกาศใช้กฎ Uptick Rule เป็นวันแรก ผลลัพธ์ถือว่าทำงานได้ดี และน่าจะเป็นจุดเริ่มต้น ค่อย ๆ ยึดกระดานตลาดหุ้นไทยคืนจากต่างชาติได้ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังนี้ คือ ต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยในตลาดหุ้นไทย 338 ล้านบาท (หลังจากขายสุทธิติดต่อกันยาวนานถึง 27 วันทำการกว่า 5.16 หมื่นล้านบาท) ต่างชาติสลับมา LONG สุทธิ SET50 FUTURES 1,984 สัญญา (หลังจากขายสุทธิติดต่อกัน 3 วัน) ขณะที่สัดส่วนการ Short Sell เหลือเพียง 3.7% ของมูลค่าซื้อขาย และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปีนี้ (YTD) ที่ 12.9% มูลค่าธุรกรรม Short Sell ลดลงเหลือ 1.2 พันล้านบาท ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย Short Sell ในปีนี้ (YTD) ที่ 5.5 พันล้านบาทต่อวัน หรือลดลงกว่า 79% และเป็น % ที่ลดลงเท่ากับช่วงที่ใช้มาตรการ Uptick ตอนเกิดโควิด-19 พอดี

ขณะที่ปริมาณการ Short Sell ผ่าน NVDR เหลือเพียง 392 ล้านบาท น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 1 เดือนกว่าๆ ที่ 3.1 พันล้านบาทต่อวัน หรือลดลงกว่า 87% โดยทั้ง 5 ส่วนที่กล่าวมา แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ต่างชาติชะลอการ Short Sell ปกติ และ Short ผ่าน NVDR รวมถึงขายสุทธิน้อยลงที่สำคัญคือ เริ่มเห็นสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนไทยในวันที่ 1 ก.ค.67 ที่กลับมาเกินครึ่งหนึ่งหรืออยู่ที่ 55.3% มาจากนักลงทุนรายย่อยถึง 37.7% และกองทุน 8.7% คาดว่าสัดส่วนการซื้อขายของกองทุนจะค่อย ๆ เร่งตัวขึ้นหลังมีกองทุน THAIESG เข้ามา น่าจะหนุนให้สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 11% - 13% เหมือนช่วงที่มีกองทุน LTF ในปี 2560 - 2563 ได้

ตลท. เร่งออกบทวิเคราะห์ ดึงเงินเข้าหุ้น New Economy

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท. ร่วมกับ 4 หน่วยงาน พันธมิตร ได้แก่ศูนย์วิจัยธนาคาร กรุงไทยคอมพาส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและ ธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และทริสเรทติ้ง ลงนาม MOU "โครงการรายงาน การวิเคราะห์อุตสาหกรรมแยกตามรายธุรกิจ เพิ่มจำนวนรายงานการวิเคราะห์ รายอุตสาหกรรมให้ครอบคลุม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อบริษัทจดทะเบียนและผู้ลงทุนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน ตั้งเป้าผลิต 70 ฉบับภายใน 18 เดือน เผยแพร่ผ่านช่องทางตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานพันธมิตรตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2567

เนื่องจากปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมในตลาด SET และ mai มีศักยภาพสูง โดยสัดส่วน 30% เป็นธุรกิจประเภท New Economy ซึ่งมีสัดส่วนถึง 20% เป็นบริษัทลูกที่เป็นธุรกิจ New S-Curve แต่ยังขาดบทวิเคราะห์หรือรายงานการวิเคราะห์เชิงอุตสาหกรรม ขณะที่การเพิ่มความเชื่อมั่นนักลงทุนด้วยมาตรการ Uptick มีผลเมื่อ 1 ก.ค. 2567 ทำให้นักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาซื้อหุ้นไทย ครั้งแรกในรอบ 28 วันนั้น มองว่า ผลของ มาตรการ Uptick สะท้อนออกมาตามสภาพตลาดหุ้นไทยที่เห็นแล้ว ส่วนการขึ้นทะเบียนผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความเร็วสูง (HFT) ยังมีระยะเวลา 2 สัปดาห์ก่อนเริ่มใช้งาน จึงยังต้องติดตามผลก่อนตัดสินใจว่าควรต้องยกระดับมาตรการเข้มงวดเพิ่มอีกหรือไม่

ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท. เผยว่า ในครึ่งหลังปี 2567 เริ่มเห็นสัญญาณเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกในประเทศกำลังพัฒนาแสดงถึงเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว นอกจากนี้ เงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาอันใกล้ ทำให้ธนาคารกลางสำคัญในหลายประเทศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหลังจากดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวมากว่า 3 ปี อย่างไรตามผู้ลงทุนยังคงรอธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรก ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นปีนี้ อีกทั้งหากพิจารณาข้อมูลในอดีตพบว่าหาก FED ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นในประเทศ Emerging Market

สำหรับเศรษฐกิจมหภาคของไทยส่งสัญญาณการฟื้นตัวดีต่อเนื่องจากภาคการส่งออกและท่องเที่ยวที่เติบโตดีกว่าคาด อีกทั้งเริ่มเห็นสัญญาณการนำเข้าสินค้าเพื่อนำไปผลิตต่อในภาคเอกชน รวมถึงการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคและการลงทุนของภาครัฐที่มีการเบิกจ่ายเพิ่มสูงขึ้น หลังจากการทำงบประมาณมีความล่าช้าช่วงก่อนหน้า ตัวชี้วัดเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มแข็งแกร่งช่วงครึ่งหลังปี 2567 หากพิจารณาอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/B ratio) ซึ่งเทียบราคาหุ้นของบริษัทกับมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น โดยหุ้นไทยมี P/B ratio ต่ำกว่าหนึ่งถึง 51.5% แสดงถึงตลาดกำลังประเมินมูลค่าบริษัทต่ำกว่ามูลค่าสินทรัพย์ของบริษัท ขณะที่การประกาศใช้ Uptick Rules ที่เริ่มในเดือนกรกฎาคม 2567 จะส่งผลทำให้มูลค่าการ Short Sell เฉลี่ยรายวันปรับลดลงและช่วยลดความผันผวนของ SET Index อีกทั้งการปรับเกณฑ์กองทุน ThaiESG ให้มีระยะเวลาถือครองลดลงไปใกล้เคียงกองทุน LTF ทำให้มีแนวโน้มที่จะมีเม็ดเงินลงทุนผ่านผู้ลงทุนสถาบันในประเทศจะช่วยให้ SET Index ปรับตัวดีขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 SET Index ปิดที่ 1,300.96 จุด ปรับลดลง 3.3% จากเดือนก่อนหน้า และปรับลดลง 8.1% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 โดยผู้ลงทุนยังรอความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและประเมินผลกระทบจากมาตรการเรียกความเชื่อมั่นในตลาดทุนที่เพิ่งประกาศ ใช้โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index คือ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มเทคโนโลยี ส่วน Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับ 14.0 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชีย ซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.4 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 15.6 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.2 เท่า ขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับ 3.62% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.16%

ล่าสุดดัชนีหุ้นไทย 9 ก.ค. ปิดที่ 1,319.92 จุด ลดลง 2.58 จุด หรือ 0.20 % เคลื่อนไหวในกรอบ 1,317.02- 1,305.18 จุด มูลค่าซื้อขาย 38,111.14 ล้านบาท แบ่งการซื้อขายตามกลุ่มดังนี้คือ สถาบันขายสุทธิ 867.37 ล้านบาท ,บัญชี บล.ซื้อสุทธิ 199.65 ล้านบาท , นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 916.01 ล้านบาท และนักลงทุนในประเทศซื้อสุทธิ 1,384.09 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น