“ปันติ่มซำ” เราได้รับโอกาสมาแล้วเราก็สามารถมอบโอกาสให้กับเด็กคนหนึ่งเหมือนกัน ทุก ๆ เข่งที่ทุกคนทานในร้านก็จะปันให้กับเด็ก 1 บาทซึ่งผมมองว่า มันไม่มากหรือไม่น้อยเกินไปเพราะว่าเราก็ต้องอยู่ได้ในแง่ของคนทำธุรกิจแต่ 1 บาทถ้าเรารวมกันสามารถที่จะเป็นก้อนที่เด็กคนหนึ่งสามารถที่จะมีเงินที่จะไปดูแลตัวเองและก็ใช้ในการศึกษาเอาไว้ใช้ชีวิต โดยที่ร้านไม่ได้รบกวนลูกค้าหรือไม่ได้จัดโปรโมชั่นใด ๆ ”
วินัย วัตตธรรม หรือคุณต๊ะเจ้าของร้าน “ปันติ่มซำ” บอกกับเราว่า ตนเองเป็นชาวจังหวัดกระบี่ซึ่งเดิมทีครอบครัวทำธุรกิจเกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำมานานหลายปีมาก ในยุคของพ่อแม่เรียกได้ว่าผ่านมาทั้งช่วงรุ่งเรืองและก็จนมาเจอวิกฤตของกุ้งแต่ว่า การสืบทอดกิจการซึ่งก็ยังมีพี่ชายทำอยู่ต่อไปในปัจจุบัน หลังการลองผิดลองถูกมากับการทำธุรกิจหลายอย่างมีการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนเอาที่ดินนากุ้งของแม่ไปจำนองด้วยหวังว่าจะสร้างเป็นอาชีพใหม่ให้กับตัวเอง แต่ทว่าสุดท้ายก็ล้มไม่เป็นท่าไปทั้งหมดอาจจะเพราะไม่มีความถนัดด้วยกลายเป็นก่อหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก จากนั้นก็มาทำเกี่ยวกับการรวบรวมกุ้งส่งนอกและต่อมาถึงเป็นคนกลางในการส่งกุ้งจำหน่ายทั่วประเทศด้วย ยุคก่อนที่จะเริ่มการระบาดหนักของโควิด-19 จนมาถึงคาบเกี่ยวที่คนมีการตุนเสบียงกันช่วงนั้นถือว่าธุรกิจที่ทำอยู่บูมมาก ๆ จนกระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งของชีวิตมีการเลิกรากับภรรยาด้วยปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจกันและครั้งนั้นก็ทำให้ตนเองรู้สึกว่า เฟล ในชีวิตอย่างหนักมาก ทิ้งทุกอย่างที่ทำอยู่ทั้งหมด ป่วยเป็นซึมเศร้า(หนักถึงขั้นเกือบจะคิดฆ่าตัวตาย!) ช่วงนั้นรู้สึกดาวน์กับชีวิตมาก ๆ ซึ่งกว่าจะกลับมาได้ก็ด้วยการช่วยเหลือของเพื่อน ๆ และก็ครอบครัวที่ช่วยกันดึงให้กลับมาเริ่มต้น “ชีวิตใหม่” อีกครั้ง การมาอยู่ที่กรุงเทพฯ พร้อมเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ร้านปันติ่มซำ คือเป็น “โอกาส” ที่ตนเองได้รับมาด้วย
“ผมก็มานั่งถามตัวเองว่าเออถ้าผมจะทำอะไร ผมก็คง ต้องมีความสุขกับสิ่งที่จะทำ มีความสุขก่อน ก็ได้ศึกษาเกี่ยวกับ “ศาสตร์พระราชา” เป็นเศรษฐกิจพอเพียงจริง ๆ ก็เลยมาประมวลตัวเองว่า เราชอบอะไร เราถนัดอะไรแล้วเรามีอะไร ก็เลยเอา 3 ห่วง 2
เงื่อนไขนั่นล่ะครับมาใช้จริง ๆ ในการเลือกว่าอ้อเรา ก็เลยเกิดมาเป็น ปันติ่มซำ” การมาอยู่ที่กรุงเทพฯ คือเพื่อเสี่ยงโชค ในการที่จะสร้างตัวได้อีกครั้ง เราไม่มีความรู้ด้านการทำธุรกิจมากรุงเทพฯ ด้วยความตั้งใจอีกอย่างหนึ่ง คือ ต้องการจะสร้างแบรนด์อยากมี “แบรนด์” เป็นของตัวเอง สิ่งที่ได้จากโครงการพัฒน์ (Plus) คือได้เรียนรู้การทำธุรกิจประกอบด้วยอะไร เราเก่งอะไร ข้างนอกมีอะไรกำหนดกรอบตัวเองก่อนว่าเราจะทำอะไร กับสองคือเรื่อง “ศาสตร์พระราชา” หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขที่เรารู้สึกว่ามันเอาไปใช้ได้
“คิดถึงแม่ อยากนั่งกินข้าวกับแม่แต่แม่ไม่อยู่แล้ว เรารู้สึกว่าเออว่ะอยากทำร้านอาหารสักร้านหนึ่ง ที่คนที่ยังมีโอกาสได้ทำได้นั่งกินข้าวกับแม่ได้ดูแลแม่ ใช่ ๆ เราอยากเห็นมัน เราอยากเห็นว่าเอ้อคนที่มีโอกาสเฮ้ยนี่แหละสุดยอดมีค่ามาก กับการได้มีเวลาใช้ชีวิตด้วยกัน ผมอยากให้คนที่มีโอกาสได้ทำ”ทำไมต้องเป็น “ติ่มซำ”? เพราะว่าตัวเองเป็นคนชอบทานติ่มซำอยู่แล้ว มันคือเมนูที่กินร่วมกัน ซึ่งพอเราคิดว่าเราอยากจะทำร้านติ่มซำเริ่มโพสต์ลงโซเชียลฯ ส่วนตัวก่อนก็มี พี่ ๆ เพื่อน ๆ เข้ามาแนะนำว่าเอาอันนี้ไหม เอาอันนี้ไหมฉันมีอันนี้ ฉันเอาอันนี้ ซึ่งขณะที่ตนเองตอนนั้นก็ยังไม่มีทุน “เพื่อน ๆ ก็ตั้งกลุ่มไลน์เล่นแชร์กัน เพื่อหาทุนมาให้น้องมันได้ไปทำงานอะไรเงี้ย ก็เริ่มมาจากตรงนั้น มันก็คือการแบ่งปันจากเพื่อน ๆ จริง ๆ” สองก็คือมาจากความตั้งใจของแม่ซึ่งตนเองก็มาจากความคิดถึงแม่จริง ๆ ที่มาของชื่อร้าน แม่เคยตั้งใจไว้ว่าอยากจะให้โอกาสในการเป็นทุนการศึกษาให้เด็กได้เรียนหนังสือ สัก1 คน เพราะแกเรียนมาน้อยเลยรู้สึกว่าพอตัวเองเริ่มที่จะไหวแล้วก็อยากให้เราเป็นคนหาให้แกหน่อย ก็เคยรับปากแม่ไว้แต่ว่า ณ ตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้เห็นความสำคัญเลยยังไม่ได้ทำสักที แต่มันก็ยังอยู่ในใจเรา ก็เลยคิดว่าพอเราจะ ทำร้านแล้วก็เอาสิ่งที่แม่อยากทำมาในร้านเลย
เอาวัฒนธรรมใต้มาส่วนหนึ่ง เอาของวัตถุดิบที่ดี ๆ ของแต่ละจังหวัดเพราะว่าที่ร้านก็จะมีหลาย ๆ รูปแบบของจุดเด่นของแต่ละจังหวัด มาผสมรวมกันเป็นอาหารที่ร้านด้วย“ไม่จีนจ๋าไปเสียทีเดียว เพราะว่าติ่มซำใต้มันจะมีความจัดจ้านของน้ำจิ้ม มันจะมีความหลากหลายที่มันไม่เหมือนภัตตาคาร มันมีความมีเสน่ห์ของมันในการที่แบบ แล้วที่โน่นเขาจะกินกันเป็นวัฒนธรรม ที่แบบว่าได้นั่งทานข้าวเช้าด้วยกัน เราก็จับเอาสิ่งที่มันเป็นจุดเด่นอยู่คือว่าเออนั่งทานด้วยกันจริง ๆ มาเป็นอาหารหลักในร้าน เอาตัวสิ่งที่เด่นของแต่ละที่มาแมตช์กันที่ร้าน มีเมนูไทยบ้างที่ไม่เลี่ยนบ้างที่ทำให้รู้สึกเด็กก็กินได้ ผู้ใหญ่ก็เอนจอย”ในร้านก็จะมีเมนูแนะนำด้วยอย่างเช่นว่า ก๋วยเตี๋ยวกรอบ(ฮ้อยกุ้ง) เป็นเมนูซิกเนเจอร์ของที่ร้านส่วนใหญ่จะได้รีวิวที่ดีจากลูกค้า เพราะว่ามันจะมีความคล้ายฮ่องกงแต่เราปรับด้วยการใช้ อินกรีเดียนไทย ๆ ที่มันเป็นเครื่องเทศที่เฉพาะของมันก็เลยจะมีความเด่นและหาทานยาก โซวจิวกึ้น ก็จะเป็นอาหารจีนโบราณหาทานยาก ซึ่งในร้านก็จะมีหลายอย่างหรือเมนูเด่น ๆ ก็จะเป็นของทอดของที่ร้านอย่างเช่น จ๊อปูจักรพรรดิ ก็จะเป็นแบบให้เนื้อปูแบบเน้น ๆ เป็นต้น ตอนนี้ก็จะมีอยู่ประมาณ 52 รายการให้ลูกค้าเลือกทานได้ แล้วทุกเดือนก็ยังมีเมนูใหม่ ๆ ที่จะทยอยออกมาอีกด้วย“ถ้าพูดถึงติ่มซำเราก็จะนึกถึงฮ่องกงใช่มั้ยครับ แต่ของเราปรับให้มันแบบรสชาติจัดจ้านขึ้นมีความเป็นไทยขึ้น ด้วยเครื่องเทศแบบไทย ๆ ราคาเริ่มต้นที่ 28 บาท เพราะเรามองว่าเราไม่ได้วางตัวเป็นภัตตาคาร เราไม่ได้เป็นเชฟแบบจีนจ๋าจริง ๆ แต่เราใส่ความเป็นไทยลงไปในติ่มซำด้วย”
ลูกค้าจะเป็นกลุ่มอายุประมาณ 35-45 มองว่าเป็นกลุ่มที่น่าจะเข้าถึงและก็เขาอยากจะพาครอบครัวมาทาน ซึ่งมันก็ตอบโจทย์ แล้วก็มีการตอบรับที่ดีรู้สึกว่าเราได้เห็นเขาพาพ่อแม่มา พาลูกมา แนะนำเพื่อนมา ซึ่งในร้านเองจะมีการรวบรวมรูปภาพเก่า ๆ มาติดเอาไว้เพื่อให้เล่าเรื่อง ได้พูดถึงรูปข้างหลัง เจตนาว่าอยากให้คนเก่า ๆ ได้พูดถึง อยากให้คนใหม่ ๆ ได้เห็นว่าเอ้อนี่คือการเปลี่ยนแปลง ที่เป็นสัจธรรมของชีวิตจริง ๆ ถ้าเป็นร้านติ่มซำที่ภาคใต้จะเริ่มปิดที่ประมาณบ่ายโมงหรือบ่ายสอง แต่สำหรับที่ร้านคือจะปรับนิดหนึ่งเพราะว่าเรามองว่าคนกรุงเทพฯ ช่วงเช้าอาจจะเร่งรีบนิดหนึ่ง ร้านก็เลยตั้งเวลาเปิดไว้ที่ประมาณ 10.00 น. ซึ่งอาจจะมีคนทานเช้าก็มาทานได้แล้วก็คาบเกี่ยวไปจนถึง 20.00 น. ก็มีทั้งมื้อเที่ยงและก็มื้อเย็นด้วย คิดว่าไม่ดึกเกินไป
“เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเราได้การบอกต่อที่ดีครับ จากลูกค้าที่เข้ามาทานแล้วชอบก็มีการรีวิวร้านให้ด้วย ช่วงแรก ๆ ก็เงียบนิดหนึ่งแต่ว่าพอมีการเริ่มบอกต่อตอนนี้ยอดขายก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ทุกเดือน ซึ่งถือเป็นกำลังใจที่ดีมากที่เรามีรีวิวจากลูกค้าแบบเป็นออร์แกนิคเลย ลูกค้าแบบประทับใจรีวิวให้ถ่ายวิดีโอให้ แนะนำให้ ให้คะแนนดี ดีใจ ดีใจครับเป็นกำลังใจที่ดีในการทำงาน น้อง ๆ ทุกคนก็ได้อ่านก็จะมีความรู้สึกว่า มันดีกับใจของทุกคน”
ไม่ได้ต้องการให้ มีลูกค้าที่แน่นที่สุด ไม่ได้ต้องการลูกค้าแบบเยอะที่สุด แต่อยากให้ลูกค้าที่เข้ามาทานแล้ว “สบายใจ” ที่สุด มากกว่าที่จะเป็นเงินที่เยอะที่สุด“ผมว่าผมพอแบบตรงนี้มากกว่า เท่านี้ครับ จริง ๆ ตั้งเป้าหมายไว้คือประมาณ 20 โต๊ะต่อวัน ผมว่ามันไม่หนักไปและก็ไม่น้อยไปเราอยู่ได้ระดับนี้ แต่ในอนาคตถ้าเราจะเติบโตเราต้องหาวิธีขยับขยาย” มีลูกค้าถามเยอะ ถือว่าเยอะ เพราะตั้งแต่เปิดมาเข้าเดือนที่4 น่าจะมีถึง 6-7 รายแล้ว เริ่มที่จะถาม แต่เรารู้สึกว่าควรที่จะแข็งแรงก่อนมากกว่านี้ ในอนาคตถ้าจะทำ “แฟรนไชส์” จริง ๆ น่าจะต้องเข้าใจก่อนว่าร้านนี้ มันคือการแบ่งปันจริง ๆ นะ มันคือการใช้เวลาด้วยกันจริง ๆ นะ เราอยากให้แกนหลักตรงนี้มันยังอยู่ แม้ว่าเราจะทำร้านเล็ก ๆ เราก็สามารถที่จะแบ่งปันได้
คุณต๊ะ-วินัย วัตตธรรม เจ้าของร้าน “ปันติ่มซำ” การนำหลักการของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” มาใช้ว่าเอ้อเราจะทำ ทำไม? ด้วยอะไร? ภูมิคุ้มกันของคุณคืออะไร? ในอนาคต“อย่างน้อย ๆ ร้านนี้ผมรักมันน่ะ ก็เป็นภูมิคุ้มกันที่ดีของผมแล้ว ผมรักมัน แล้วผมว่าผมจะอยู่กับมัน เรามีน้อง ๆ ที่แบบแฮปปี้กับการทำงานเราก็เป็นภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่งของเราแล้ว ที่เหลือก็คือพัฒนากันไปต่อ ๆ ไป” เราได้ทำอะไรอย่างหนึ่งที่มันมีคุณค่า และก็มันได้นึกถึงคนที่เรารัก ได้มอบอะไรบางอย่างให้กับใครสักคนหนึ่ง ที่ไม่ต้องหวังผลอะไรมากแต่แค่มันให้ “โอกาส” ได้กับอีกคน แค่นี้ก็พอแล้ว
จากคนที่ได้รับ “โอกาส” ส่งต่อการแบ่งปันผ่าน “ปันติ่มซำ” ขอบคุณสำหรับแรงบันดาลใจดี ๆ จากคุณต๊ะ-วินัย วัตตธรรม ที่มาร่วมแชร์เรื่องราวการทำธุรกิจร้านติ่มซำจากภาคใต้ที่นำมาให้คนกรุงเทพฯ ได้รู้จักกับวัฒนธรรมที่อบอุ่นนี้ช่วยเติมเต็ม “ความสุข” ภายใต้เจตนาหลักของเจ้าของธุรกิจด้วยที่นอกเหนือการไม่มุ่งเน้นเรื่องกำไรเป็นที่ตั้งแต่จะเน้น “ความสบายใจ” ของลูกค้าที่มาทานในร้านมากกว่า และยังมีโอกาสในการเป็นผู้ให้เพื่อแบ่งปันทุนการศึกษาให้กับน้อง ๆ จากการทานติ่มซำทุก ๆ เข่งเท่ากับปัน1 บาท แบบที่ลูกค้าเองก็ไม่ถูกคะยั้นคะยอ เพราะเป็นการจ่ายค่าอาหารตามปกติแต่สิ่งที่ได้ เชื่อว่าพอลูกค้าที่มาทานได้ทราบแล้วต้องยิ้มกริ่มด้วยความ “อิ่มใจ” อย่างแน่นอน
สามารถแวะไปอุดหนุนทางร้านได้ที่ “ปันติ่มซำ” ตั้งอยู่เลขที่ 99/140 ซอยท่าอิฐ ต.ไทรม้า อ.เมือง จ.นนทบุรี หรือโทร.061-324-5987 เพจ: ปัน ติ่มซำ
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด