xs
xsm
sm
md
lg

“สายสีเหลือง” ซ่อมเสร็จแล้ว รอ ICE ตรวจรับรองขั้นสุดท้าย ดีเดย์ 16 มิ.ย.วิ่งเต็มรูปแบบเก็บค่าโดยสารตามปกติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รฟม.เช็กความพร้อมรถไฟฟ้าสีเหลือง หลังซ่อมรางนำไฟฟ้าและนอตยึดเสร็จแล้ว เหลือทดสอบระบบและรอขั้นตอนสุดท้าย ICE ตรวจสอบรับรองความปลอดภัย ตั้งเป้าเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ เก็บค่าโดยสารตามเดิม เริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท 16 มิ.ย.นี้

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการเดินรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง หลังเกิดอุบัติเหตุแผ่นเหล็ก (finger plate) และชิ้นส่วนอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้าหลุดร่วง ช่วงระหว่างสถานีกลันตัน (YL12) ถึงสถานีศรีอุดม (YL16) ฝั่งมุ่งหน้าสถานีสำโรง (YL23) (south bound) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2567 ว่า เมื่อคืนวันที่ 10 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา หลังจากโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง ปิดให้บริการเดินรถและเคลียร์ผู้โดยสารเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ รฟม. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ( EBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบการติดตั้งรางนำไฟฟ้าที่หลุดร่วง ช่วงระหว่างสถานีกลันตัน (Y12) ถึงสถานีศรีอุดม (Y16) ฝั่งขาออกมุ่งหน้าสำโรงและตรวจสอบการขันนอตยึดแผ่น finger plate กับคานทางวิ่ง (Guideway Beam) จุดต่างๆ โดยใช้นอตจำนวน 40,000 ตัว ขณะนี้เอกชนดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของงานแก้ไขปรับปรุงส่วนอื่นๆ ตอนนี้เหลือการต่อสายเคเบิลเชื่อมระบบบริเวณ Joint ส่วนที่เหลือ และตรวจสอบแนวระดับและค่าแรงบิด (torque) การติดตั้งนอตอีกครั้ง ก่อนจะทำการทดสอบระบบการเชื่อมต่อและการทดสอบระบบล้อรถไฟฟ้า (rolling stock) มีปัญหาสะดุดตรงจุดใดหรือไม่ หากเรียบร้อยไม่มีปัญหาจะเชิญวิศวกรที่ปรึกษาอิสระ (Independent Certification Engineer :ICE) มาตรวจสอบเพื่อรับรองอีกครั้ง

หลังจากตรวจสอบเสร็จเรียบร้อย ทาง ICE จะต้องส่งเอกสารรับรองให้ รฟม.พิจารณา หากไม่มีปัญหาคาดว่าจะแจ้งให้ EBM เปิดให้บริการเดินรถและความถี่ตามปกติ และเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราปกติ จากปัจจุบันที่ EBM ได้ปรับลดอัตราค่าโดยสาร 20% ได้อย่างช้าในวันที่ 16 มิ.ย. 2567 นี้

หลังเกิดอุบัติเหตุ MRT สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ได้ปรับการเดินรถไฟฟ้า ช่วงที่เกิดปัญหาแผ่นเหล็ก (finger plate) และชิ้นส่วนอุปกรณ์ยึดรางร่วงหล่น เดินรถได้ฝั่งเดียวช่วงสถานีหัวหมาก (YL11)-สถานีศรีเอี่ยม (YL17) เรียกว่าเดินรถแบบ Shuttle Service ฝั่งขาขึ้น (NB) ปิดชานชาลาฝั่งขาล่อง (SB) ชั่วคราว ความถี่ในการเดินรถ 25 นาที/ขบวน ทำให้ต้องปรับลดอัตราค่าโดยสาร 20% โดยเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2567 ผู้โดยสารสายสีเหลืองมีจำนวน 35,875 คน-เที่ยว จากปกติที่มีกว่า 40,000 คน-เที่ยว/วัน ส่วนช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ผู้โดยสารมีจำนวนเฉลี่ย 25,000 คน-เที่ยว/วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น