“สุรพงษ์”ถก2 รมต.เพื่อไทย“ประเสริฐ จันทรรวงทอง”และ”สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศ”พร้อมผู้ว่าฯ โคราชและตัวแทนภาครัฐ-เอกชนหาข้อสรุปก่อสร้างรถไฟทางคู่ ยันไม่ทุบสะพานสีมาธานี ข้อดีมากกว่าเสีย พร้อมเปิด 2 แนวทางรถไฟยกเหนือหรือลอดใต้สะพาน สั่งรฟท.ทำข้อมูลทำความเข้าใจประชาชน
วันที่ 11 มิถุนายน 2567 ที่กระทรวงคมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการประชุมร่วมกับ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หอการค้า และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เพื่อหาแนวทางและข้อสรุป ในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา และ รถไฟทางคู่ เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา โดยมี นางสาวณภัทรา กมลรักษา เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรมทางหลวง (ทล.) ร่วมประชุม
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ได้มีการหารือกับกลุ่มผู้แทนภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชนจังหวัดนครราชสีมา เพื่ออธิบายข้อเท็จจิง ความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของแนวทางการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา เพื่อให้กลุ่มผู้นำในจังหวัดนำไปสื่อสารชี้แจงและทำความเข้าใจให้ประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาได้รับทราบ โดยแนวทางก่อสร้าง โดยไม่มีการทุบสะพานรถยนต์ บริเวณโรงแรมสีมาธานี
ซึ่ง จากการออกแบบโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในส่วนที่ผ่านตัวเมืองนครราชสีมาตลอดแนว จะเป็นทางยกระดับ มีความสูง 8 เมตร ซึ่งประชาชนทั้งสองฝั่งทางรถไฟสามารถสัญจรไปมาได้สะดวก โดยใช้ทางลอดใต้ทางรถไฟ และไม่เป็นการแบ่งแยกตัวเมืองออกเป็นสองฝั่ง รูปแบบก่อสร้างไม่ได้ทำให้น้ำท่วมตัวเมืองอย่างแน่นอน
ส่วนกรณีที่ประชาชนในพื้นที่เรียกร้องให้ก่อสร้างก่อสร้างเป็น อุโมงค์ทางลอด (Underpass) ทดแทน ซึ่งรูปแบบนี้จำเป็นต้องทุบสะพานสีมาธานีนั้น ข้อสรุปตอนนี้คือ ไม่ทุบสะพานสีมาธานี เพราะมีผลกระทบมาก โดยในส่วนที่ผ่านตัวเมืองบริเวณสะพานสีมาธานี รฟท. ได้ชี้แจงและทำความเข้าใจถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการก่อสร้าง ใน 2 แนวทาง ดังนี้
1. ก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ ลอดใต้สะพานสีมาธานี ซึ่งจะมีช่วงที่รถไฟ ลดระดับลงลอดใต้สะพานสีมาธานีและไต่ขึ้นไปเป็นทางยกระดับ ระยะทางประมาณ 1,600 เมตร โดยไม่ต้องทุบสะพานสีมาธานี
2. ก่อสร้างทางรถไฟ ยกระดับข้ามสะพานสีมาธานี แนวทางนี้ รฟท. ชี้แจงว่า จะทำให้รถไฟต้องไต่ระดับเพื่อยกข้ามสะพานสีมาธานี ซึ่งไม่สามารถลดระดับเพื่อหยุดที่สถานีโคราชได้ เนื่องจากระยะทางไม่เพียงพอ ทำให้อาจต้องย้ายสถานีโคราชไปอยู่ที่เหมาะสม หรือวิ่งผ่านสถานีโคราชไปก่อน ถึงจะค่อยๆลดระดับ เข้าสู่สถานีจิระที่อยู่ห่างจากสถานีโคราชประมาณ 700 เมตรแทน นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลกระทบกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา ที่ต้องหยุดที่สถานีโคราชอีกด้วย
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ รฟท. ดำเนินการออกแบบเป็นภาพกราฟฟิกทั้ง 2 แนวทาง เพื่อให้ผู้นำในจังหวัดนครราชสีมาเห็นภาพที่ชัดเจน และนำไปสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ต่อไป
“ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ไม่ทุบสะพานสีมาธานี เป็นแนวทางที่จะแก้ปัญหา ไม่มีผลกระทบระหว่างก่อสร้าง และประชาชนไม่ได้ถูกแบ่งแยกเป็นน 2 ฝั่งอย่างแน่นอน และจะทำให้ทั้งโครงการรถไฟทางคู่ และไฮสปีดไทย-จีนเดินหน้าได้ 100%”
โดยกระทรวงคมนาคม ได้มีการประเมินผลกระทบ กรณีมีการทุบสะพานสีมาธานีและก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด หรือ Underpass พบว่า ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ใหม่ โดยใช้เวลาประมาณ 24 เดือนก่อนจึงจะเริ่มก่อสร้างได้ เนื่องจาก มติ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ได้อนุมัติดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ ในแนวทางการก่อสร้างทางรถไฟตามแนวเส้นทางเดิมเป็นระดับดินลอดใต้สะพานสีมาธานี และไม่ทุบสะพาน
และเนื่องจาก ทางหลวงหมายเลข 2 หรือถนนมิตรภาพ มีปริมาณการจราจรกว่า 77,819 คันต่อวันดังนั้นการทุบสะพานสีมาธานี จะเกิดปัญหาจราจรอย่างหนัก เกิดคอขวดในการเดินทางผ่านถนนเส้นนี้ทั้งหมด โดยมีความยาวแถวคอยสูงสุด 738 เมตร และใช้ระยะเวลาแถวคอยสะสมประมาณ 3 ชั่วโมง 8 นาที หากเป็นช่วงเทศกาล รถจะติดเพิ่มขึ้นอีก 40-50% รวมถึง ต้องใช้เวลาในการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดไม่น้อยกว่า 33 เดือน หรือประมาณ 3 ปี ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับ ความสะดวกในการจราจรจากการก่อสร้างเพิ่มขึ้น
ส่วนข้อดีของการไม่ทุบสะพาน และทำทางรถไฟยกระดับลอดใต้สะพานสีมาธานีนั้น จะทำให้ทางรถไฟไม่แบ่งแยกชุมชน การสัญจรของประชาชนไปได้เหมือนเดิมโดยสะดวก ไม่มีผลกระทบต่อการจราจรของทางหลวงจากการรื้อสะพาน อีกทั้งยังแก้ปัญหาจุดตัดเสมอระดับ ทางลักผ่านได้ทุกจุด โดยไม่ต้องก่อสร้างสะพานลอย อุโมงค์ และจุดกลับรถรวมทั้งหมด 9 จุด อีกทั้ง ไม่กีดขวางทางระบายน้ำด้วย
สำหรับเส้นทางช่วงดังกล่าวอยู่ใน โครงการรถไฟทางคู่ สายตะวันออกเฉียงเหนือช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระสัญญาที่ 2 (คลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ) ระยะทาง 69 กม. ค่าก่อสร้าง 7,060.58 ล้านบาท ที่ผ่านมา ติดปัญหา ช่วงสะพานข้ามแยกสีมาธานี รฟท.จึงยังไม่ได้เปิดประมูล
ขณะที่งานสัญญาที่ 1 (มาบกะเบา-คลองขนานจิตร) ระยะทาง 58 กม.ค่าก่อสร้าง 7,560 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้รับจ้าง ผลงานล่าสุดคืบหน้า 96.310%
สัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ ระยะทาง 8 กม. มีจำนวน 3 อุโมงค์ โดยอุโมงค์ที่ 1 ระยะทาง 5.85 กม. อุโมงค์ที่ 2
ระยะทาง 0.65 กม. อุโมงค์ที่ 3 ระยะทาง 1.40 กม. ค่าก่อสร้าง 9,290 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า อิตาเลียนไทย ไรท์ทีนเนลลิ่ง (ITD-RT) เป็นผู้รับจ้าง ผลงานล่าสุดคืบหน้า 98.188%