xs
xsm
sm
md
lg

UOB ชี้เงินเฟ้อต่ำ-เสถียรภาพด้านต่างประเทศแข็งแกร่งเอื้อ ธปท.ลดดอกเบี้ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



นายเอ็นริโก้ ทานูวิดจายา นักเศรษฐศาสตร์ Global Economics and Market Research ธนาคารยูโอบี กล่าวว่า นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกต่างตั้งตารอผลการประชุมครั้งต่อไปของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve System) ในวันที่ 13 มิถุนายน ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต่างก็กำลังเตรียมพร้อมสำหรับการประชุมภายในประเทศเช่นกัน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะทบทวนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะตรึงดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับลดลง แต่ในกรณีของไทย อาจมีความเป็นไปได้ที่ ธปท. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงก่อนธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยแม้ว่าจะมีความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือน แต่เสถียรภาพด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่งและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ น่าจะช่วยเอื้อให้ ธปท. สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อช่วยให้การเติบโตทางเศรษฐกิจแข่งแกร่งขึ้นได้ โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกอาจเกิดขึ้นเร็วที่สุดในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 12 มิถุนายนนี้

แต่อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปการดำเนินนโยบายการเงินที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างธนาคารกลางสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก เมื่อมองย้อนไปในอดีต การทำนโยบายการเงินที่สวนทางกันระหว่างธนาคารกลางสหรัฐฯ กับธนาคารกลางในภูมิภาคนี้เกิดขึ้นน้อยครั้ง และส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะมาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการไหลออกของเงินทุนในช่วงวิกฤตการเงินเอเชีย หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง การว่างงานปรับเพิ่มสูงขึ้น และค่าเงินอ่อนค่าอย่างหนักและต่อเนื่อง ทำให้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเรื่องที่จำเป็นเพราะโดยทั่วไปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุน ดังนั้น เพื่อดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงจำเป็นต้องให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนที่สูงกว่า
ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผลพวงหนึ่งของวิกฤตโควิดคืออัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นทั่วโลก เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ทำให้ธนาคารกลางของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นต่ำกว่ามาก เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความรุนแรงน้อยกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมากกว่าร้อยละ 5 สู่ระดับสูงสุดที่ร้อยละ 5.5 และทรงตัวอยู่ในระดับดังกล่าวตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยของ ธปท.อยู่ที่ร้อยละ 2.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศมาเลเซียทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 3 ปรับเพิ่มขึ้นมาร้อยละ 1.25 อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6.25 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.75 ขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 6.5 อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ปรับเพิ่มขึ้นนั้นยังต่ำกว่าการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ

ปัจจุบัน อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียมีความเป็นอิสระด้านนโยบายการเงินมากขึ้น เนื่องจากเสถียรภาพภาคต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนผ่านดุลบัญชีเดินสะพัด ทุนสำรองระหว่างประเทศ และการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นมากกว่าในช่วงก่อนหน้านี้มาก ทั้ง 4 ประเทศนี้เคยมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดระหว่างร้อยละ 3.4 ถึงร้อยละ 7.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2539 ก่อนเกิดวิกฤตการเงินเอเชียปี 2540 อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ทั้ง 4 ประเทศมีสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมมาก

"เมื่อทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินลง ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็สามารถที่จะผ่อนคลายนโยบายทางการเงินได้เร็วกว่าหรือมากกว่าได้ ด้วยเสถียรภาพทางการเงินที่ดีขึ้น ทำให้มีความยืดหยุ่นในการปรับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อในประเทศของตน โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินตามธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต ดังนั้น ไม่ว่าธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะมีนโยบายอย่างไร ประเทศเหล่านี้มีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา และธนาคารกลางสหรัฐฯ ในฐานะผู้กำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลก มีอิทธิพลต่อทิศทางของนโยบายการเงินของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง"
กำลังโหลดความคิดเห็น