xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.เซ็น MOU สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พัฒนาองค์ความรู้การรักษาความปลอดภัยระบบรถไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รฟม.ร่วมลงนาม MOU กับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มุ่งพัฒนาองค์ความรู้และสร้างนวัตกรรมด้านการรักษาความปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้ามหานคร

วันนี้ (10 มิถุนายน 2567) นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ นาวาอากาศเอก คมสันต์ ประพันธ์กาญจน์ รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม ด้านการรักษาความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยในเขตระบบรถไฟฟ้า โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นประธานในพิธี ณ ห้องราชเสนีพิทักษ์ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า ปัจจุบัน รฟม.มีรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบที่เปิดให้บริการแล้วทั้งสิ้น 4 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (MRT สายสีเหลือง) และรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี โดย รฟม. ได้กำกับดูแลการให้บริการรถไฟฟ้าทุกสายให้มีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว รวมถึงมีมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยภายในเขตระบบรถไฟฟ้า โดยมีฝ่ายรักษาความปลอดภัยและกู้ภัย รฟม. เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ซึ่งที่ผ่านมา รฟม. ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรักษาความปลอดภัยในเขตระบบรถไฟฟ้า เช่น ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด เครื่องตรวจจับโลหะอัตโนมัติ ระบบความปลอดภัยด้านอัคคีภัย เป็นต้น

และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนา ต่อยอดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รฟม.จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี สามารถให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนภารกิจด้านการดูแลรักษาความปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้าของ รฟม.ได้เป็นอย่างดี เพื่อดำเนินงานวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนร่วมกัน


ทั้งนี้ รฟม.เชื่อมั่นว่าทั้งสองหน่วยงานจะสามารถร่วมกันสร้างสรรค์เทคโนโลยีในการรักษาความปลอดภัยที่จะเข้ามาช่วยในการปฏิบัติงาน ลดความเสี่ยงต่อบุคลากร ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถด้านการรักษาความปลอดภัยในเขตระบบรถไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและอุ่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการและประชาชน พร้อมทั้งขับเคลื่อนภารกิจของ รฟม.ในการพัฒนาองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อต่อยอดเป็นนวัตกรรมระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของประเทศ ที่สามารถนำมาใช้สนับสนุนการดำเนินงานได้จริง และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ตลอดจนเป็นการผลักดันให้ รฟม.ก้าวไปสู่องค์กรแห่งนวัตกรรมที่สามารถช่วยยกระดับเมืองและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น