xs
xsm
sm
md
lg

TOP ลั่นครึ่งหลังปี 67 ดีกว่า 6 เดือนแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ไทยออยล์” ชี้ผลดำเนินงานครึ่งหลังปี 67 ดีกว่าครึ่งปีแรก มาจากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าการกลั่นปรับขึ้นเล็กน้อย และธุรกิจอะโรเมติกส์สเปรดปรับขึ้น ส่วนโอเลฟินส์ยังได้รับผลกระทบจากกำลังการผลิตใหม่ ลุ้นปลายปีนี้สรุปเดินหน้าโครงการ CAP2 ที่อินโดนีเซีย

นางสาวทอแสง ไชยประวัติ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการเงิน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก เนื่องจากภาพรวมตลาดน้ำมันที่ดีขึ้น มีความต้องการใช้น้ำมันในช่วงฤดูหนาว คาดราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ค่าการกลั่นปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย

ส่วนกลุ่มธุรกิจอะโรเมติกส์ ทั้งพาราไซลีน (PX) และเบนซีน (BZ) พบว่าสเปรดยังแข็งแกร่ง หลังจากมีสัญญาณฟื้นตัวที่ดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/2567 จากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น แต่ในช่วงครึ่งปีหลังคงต้องจับตาซัปพลายใหม่ แต่เชื่อว่าจะไม่ได้เข้ามามากนัก ส่วนกลุ่มโอเลฟินส์ยังเป็นปีที่ท้าทาย เนื่องจากมาร์จิ้นยังคงได้รับผลกระทบจากซัปพลายใหม่ที่เข้ามาสูง

แม้ว่าค่าการกลั่นในไตรมาส 2/2567 จะปรับลดลง แต่คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะปรับตัวดีขึ้น โดยรับแรงหนุนจากฤดูกาล โดยปีนี้จะมีกำลังการผลิตจากโรงกลั่นใหม่เข้ามา ได้แก่โรงกลั่น Dangote ในประเทศไนจีเรีย ที่จะทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้น คาดว่าจะเดินเครื่องเต็มกำลังผลิตในช่วงกลางปี 2568 รวมทั้งโรงกลั่นน้ำมันที่คูเวต ซาอุฯ และอิรัก ก็จะทยอยเข้ามา ทำให้ค่าการกลั่นในครึ่งปีหลังดีขึ้นแต่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก


ความคืบหน้าการลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ที่จะเพิ่มกำลังการกลั่นจาก 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้ากว่า 96.6% และเริ่มทดลองเดินเครื่องหน่วย HDS-4 ไปแล้วเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยบริษัทเตรียมเดินเครื่องยูนิตถัดไป คือ CDU-4 ในต้นปี 2568 และหน่วย RHCU ต่อไป

ส่วนกรณีที่โรงกลั่นเอสโซ่ที่มีการเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการขายน้ำมันของโรงกลั่นไทยออยล์ เนื่องจากลูกค้ารายใหญ่ คือบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่โรงกลั่นเอสโซ่กลั่นเพิ่มขึ้นคือดีเซล ซึ่งไทยออยล์จำหน่ายให้กับลูกค้าในประเทศทั้งหมดแทบไม่ได้มีการส่งออก

นางสาวทอแสงกล่าวต่อไปว่า แผนขยายโครงการ Petrochemical Complex แห่งที่ 2 (CAP2) ของ PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ที่จะขยายกำลังการผลิตอีกเท่าตัวเป็น 8.10 ล้านตันต่อปีนั้น ยังเป็นไปตามแผนเดิม แม้ว่าสถานการณ์ธุรกิจโอเลฟินส์ยังเป็นขาลงทั่วโลก ทำให้ผลประกอบการถูกกดดัน แต่กลยุทธ์การลงทุนของ PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk ซึ่งเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้กระจายการลงทุนไปยังธุรกิจใหม่เพิ่มเติม เช่นไฟฟ้า และน้ำ รวมทั้งทาง CAP เตรียมเสนอโครงการ CAP2 เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริษัทในช่วงปลายปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น