เดินหน้าปิดดีลแก้ไฮสปีด 3 สนามบิน รายงานคืบหน้าบอร์ด กพอ.วันนี้ (10 มิ.ย.) หลังคณะ กก.กำกับฯ ไฟเขียวปลดล็อกเงื่อนไข NTP ตัดบีโอไอ ปรับรัฐจ่ายเงินร่วมทุนเร็วขึ้น แลกเอกชนวางแบงก์การันตี 1.3 แสนล้านบาท สร้างเสร็จโอนกรรมสิทธิ์ให้ รฟท.ทันที ปิดทุกความเสี่ยง มั่นใจไม่ซ้ำรอย 'โฮปเวลล์' คาดเซ็นสัญญาในปีนี้ เริ่มสร้างอย่างช้าต้นปี 68
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในวันนี้ (10 มิ.ย. 2567) เวลา 09.30 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด กพอ.) โดยคาดว่าจะมีการรายงานความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และการแก้ปัญหาโครงการฯ ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธานในการประชุมเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 ได้รับทราบข้อสรุปผลการเจรจาเรื่อง หลักการแก้ไขปัญหาโครงการฯ ตามที่ รฟท. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด (บริษัทในเครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด) คู่สัญญาผู้รับสัมปทานฯ ได้ตกลงร่วมกันแล้ว
และเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมาคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (คณะกรรมการกำกับฯ) ตาม พ.ร.บ.อีอีซี ได้มีการประชุมและรับทราบผลการแก้ไขปัญหาตามที่คณะทำงานร่วม 3 ฝ่ายได้ข้อสรุปแล้ว ดังนั้น ตามขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นการเสนอบอร์ด กพอ.พิจารณาเห็นชอบเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ก่อนส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาฯ ส่วนแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จ สามารถลงนามแก้ไขสัญญาได้ในปลายปี 2567 และ รฟท.จะสามารถส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) เริ่มก่อสร้างไม่เกินต้นปี 2568
รายงานข่าวแจ้งว่า หลักการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอยู่ภายใต้หลักการภาครัฐ โดยรฟท.ไม่เสียผลประโยชน์ และเอกชนจะไม่ได้รับผลประโยชน์เกินควร ซึ่งทุกฝ่ายต้องการให้โครงการได้เริ่มต้นเดินหน้าก่อสร้างเสียที เนื่องจากลงนามสัญญามานานแล้ว
สำหรับการแก้ไขสัญญามี 4 ประเด็น คือ 1. ปรับให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดย รฟท.ได้รับค่าสิทธิฯ ครบจำนวน 10,671.09 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสของ รฟท.อีกจำนวน 1,060 ล้านบาท รวมเป็น 11,717.09 ล้านบาท โดยให้ผ่อนจ่าย 7 งวด โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย ซึ่ง กพอ.ได้เห็นชอบและรายงาน ครม.รับทราบไปก่อนหน้านี้แล้ว
2. การปรับเปลี่ยนวิธีการชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนโครงการ (PIC) คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันไม่น้อยกว่า 119,425 ล้านบาท ซึ่งกำหนดให้รัฐร่วมลงทุนในปีที่ 6-ปีที่ 15 หรือเมื่อก่อสร้างโครงการเสร็จเปิดเดินรถแล้ว แต่เนื่องจากการดำเนินงานมีปัญหาอุปสรรค ทั้งโรคโควิด-19 สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤตการณ์ของระบบสถาบันการเงิน อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เอกชนไม่สามารถกู้เงินได้ จึงเสนอแก้ไข ปรับการจ่ายเงินที่ฝ่ายรัฐร่วมลงทุนให้เร็วขึ้น เป็นเดือนที่ 18 หรือประมาณ 1 ปีครึ่ง นับจากออก NTP ซึ่งจะเป็นการปรับจากรัฐจ่ายร่วมลงทุนเมื่อโครงการเสร็จเป็นสร้างไป-จ่ายไป
3. ยกเลิกเงื่อนไขออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) เดิมที่ระบุให้เอกชน ผู้รับสัมปทานฯ ต้องขอส่งเสริมการลงทุนกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก่อน รวมไปถึงเรื่องการส่งมอบพื้นที่ TOD มักกะสันขนาด 150 ไร่ โดยเอกชนต้องจดทะเบียนสิทธิการเช่า ปัญหาที่ต้องถอนสภาพ ‘ลำรางสาธารณะ’ ก่อนทั้งหมด เป็นการปลดล็อก และจะทำให้ รฟท.สามารถออก NTP ได้ทันทีหลังลงนามแก้ไขสัญญา
4. ให้เอกชนวางหนังสือค้ำประกันโดยธนาคารหรือแบงก์การันตี เพิ่มเติมอีก 2 ส่วน คือ 1. แบงก์การันตีในส่วนของค่าสิทธิร่วมลงทุนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671.09 ล้านบาท เพื่อยืนยันกรณีแบ่งจ่ายค่าแอร์พอร์ตเรลลิงก์จากงวดเดียวเป็น 7 งวด โดยเมื่อแก้ไขสัญญา เอกชนจ่ายงวดแรก 1,067 ล้านบาท และวางแบงก์การันตีที่เหลือประมาณ 9,600 ล้านบาท ส่วนดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมทางการเงินอื่นๆ ที่ต้องจ่ายจากการผ่อนชำระจะแยกจ่ายอีกส่วนหนึ่งในแต่ละงวด ทั้งนี้หลังลงนามแก้ไขสัญญา เอกชนต้องชำระค่าสิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิงก์งวดแรกทันที
ส่วนที่ 2 เป็นแบงก์การันตีเต็มวงเงินค่าก่อสร้างหรือในส่วนของเงินฝ่ายรัฐร่วมลงทุน วงเงิน 119,425 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้ภาครัฐมีความมั่นใจว่าเอกชนคู่สัญญาจะสามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ กรณีปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินภาครัฐจากปีที่ 6 เป็นสร้างไปจ่ายไป โดยวางแบงก์การันตีภายใน 270 วันหลังลงนามแก้ไขสัญญา
รายงานข่าวแจ้งว่า การแก้ไขสัญญาครั้งนี้ เป็นการปลดล็อกเงื่อนไขที่ทำให้โครงการต้องติดขัดเดินหน้าไม่ได้ และยังทำให้รัฐมั่นใจว่าโครงการจะสำเร็จตามเป้าหมาย รวมถึงภาครัฐไม่ต้องรับความเสี่ยง โดยเอกชนยอมวางแบงก์การันตีเต็มมูลค่าก่อสร้าง ดังนั้นกรณีที่เอกชนไม่ทำโครงการต่อ รฟท.ยังมั่นใจว่ามีเงินที่จะก่อสร้างโครงการต่อไปได้ อีกทั้งหลังก่อสร้างเสร็จเอกชนจะต้องโอนกรรมสิทธิ์รฟท.ทันที รูปแบบ B-T-O ดังนั้น หากเกิดเหตุที่อาจทำให้ต้องยกเลิกสัญญาระหว่างทาง โครงการนี้จะไม่ซ้ำรอยโฮปเวลล์ที่ ยกเลิกสัญญาแล้วแต่ รฟท.เข้าพื้นที่ไม่ได้ เพราะเอกชนยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ จนกลายเป็นปัญหาข้อพิพาทยืดเยื้อ