สนค.ติดตามสถานการณ์โลก พบความต้องการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ก็เพิ่มขึ้น ชี้เป็นโอกาสของไทยที่จะขยายตลาดส่งออก และก้าวไปเป็นผู้ส่งออกติด 1 ใน 3 ของประเทศส่งออกโซลาร์เซลล์สูงสุดในโลก จากปัจจุบันอยู่ลำดับ 4 พร้อมแนะภาคธุรกิจ ครัวเรือน ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อลดต้นทุนพลังงาน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานทดแทน กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยที่เร่งให้ทั่วโลกลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและเกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโลก มาจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน และยังพบว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2025 สัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนจะเป็นร้อยละ 35 ของการผลิตไฟฟ้าโลก โดยมีจีนเป็นผู้นำด้านการผลิตรายสำคัญ
ส่วนตลาดโซลาร์เซลล์ทั่วโลกมีมูลค่า 90,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 และคาดว่าจะเติบโตเป็น 215,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 11.5 สำหรับการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ พบว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่นำเข้าแผงโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลกในปี 2023 โดยนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์มากถึง 54 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 82 จากปี 2022 โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย
สำหรับไทย มีการคาดว่าตลาดโซลาร์เซลล์จะเติบโตสูงขึ้นเช่นเดียวกัน จากการที่รัฐบาลส่งเสริมให้ภาคประชาชนประเภทบ้านที่อยู่อาศัยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในบ้าน และส่วนที่เหลือขายคืนการไฟฟ้า และภาคธุรกิจ ก็มีการส่งเสริมให้ติดตั้ง โดยไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขออนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้มูลค่าตลาดโซลาร์เซลล์ในช่วงปี 2022-2025 จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 22 ต่อปี จนมีมูลค่า 67,268 ล้านบาท ในปี 2025 และมูลค่าการผลิตโซลาร์เซลล์ในไทยปี 2023 อยู่ที่ 6,147.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 184.35 จากปี 2022 (2,161.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์ของไทยปี 2023 อยู่ที่ 4,433.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 80.87 จากปี 2022 (2,451.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มูลค่าการส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของการส่งออกโซลาร์เซลล์ในตลาดโลก
นายพูนพงษ์กล่าวว่า จากการเติบโตของภาคพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นโอกาสของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่สามารถผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนพลังงาน และยกระดับระบบพลังงานไฟฟ้าไทยให้มีความเสถียรในระยะยาว และยังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย ที่จะสามารถขยายส่วนแบ่งในตลาดโลก และก้าวขึ้นไปเป็น 1 ใน 3 ของประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก โดยผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญต่อการศึกษากฎระเบียบ ข้อกำหนด มาตรการของประเทศคู่ค้า ยกระดับคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระดับสากล และขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน ปี 2023 ไทยครองส่วนแบ่งอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน 55,857.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 63 เนเธอร์แลนด์ 9,752.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 11 และมาเลเซีย 5,319.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 6 โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ สหรัฐฯ มูลค่า 3,223 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 75 เวียดนาม มูลค่า 495 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 11 อินเดีย มูลค่า 232 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 5 และจีน มูลค่า 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 4 โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีการเติบโตมากถึงร้อยละ 144.35 จากปี 2022