หลังจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.4 ล้านล้านบาท ประกาศใช้เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ซึ่งล่าช้าจากปกติถึง 7 เดือน ทำให้เหลือเวลาใช้จ่ายงบประมาณเพียงแค่ 5 เดือนเท่านั้น “กระทรวงคมนาคม” ซึ่งได้รับงบประมาณมากในลำดับที่ 5 ของประเทศ จึงมีส่วนสำคัญที่จะเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ผ่านการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง โครงการต่างๆ เพื่อให้เม็ดเงินที่ได้จากงบลงทุน ที่มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
โดยเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมเร่งรัดติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ภาพรวมการเบิกจ่ายเป็นไปตามแผน โดยกระทรวงคมนาคมได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2567 จำนวน 228,803.59 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของงบลงทุนจำนวน 199,530.66 ล้านบาท (87.21%) เป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 29,272.93 ล้านบาท (12.79%) ขณะที่งบประมาณจำนวน 228,803.59 ล้านบาท แยกแต่ละหน่วยงาน ดังนี้
หน่วยงานราชการ
1. สำนักปลัดกระทรวงคมนาคม ได้รับจัดสรรวงเงิน 626.54 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.27%
2. กรมเจ้าท่า ได้รับจัดสรรวงเงิน 4,296.70 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.88%
3. กรมการขนส่งทางบก ได้รับจัดสรรวงเงิน 3,477.41 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.52%
4. กรมท่าอากาศยาน ได้รับจัดสรรวงเงิน 4,623.18 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.02%
5. กรมทางหลวง ได้รับจัดสรรวงเงิน 121,695.24 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 53.19%
6. กรมทางหลวงชนบท ได้รับจัดสรรวงเงิน 47,908.36 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20.94%
7. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้รับจัดสรร วงเงิน 240.87 ล้านบาท คิดเป็นสัดสวน 0.11%
8. กรมการขนส่งทางราง ได้รับจัดสรรวงเงิน 113.38 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.05%
9. สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) ได้รับจัดสรรวงเงิน 298.50 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.16%
หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
1. การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้รับจัดสรรวงเงิน 21,017.28 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.19%
2. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้รับจัดสรรวงเงิน 19,845.03 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.67%
3. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้รับจัดสรรวงเงิน 1,251.19 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.55%
4. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้รับจัดสรรวงเงิน 3,249.64 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.42%
5. สถาบันการบินพลเรือน ได้รับจัดสรรวงเงิน 160.26 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.07%
โดยกรมทางหลวง (ทล.) ได้รับมากสุด จำนวน 121,695.25 ล้านบาท รองลงมาคือ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้รับจำนวน 47.908.36 ล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 21,017.28 ล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จำนวน 19,845.03 ล้านบาท กรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 4,623.18 ล้านบาท
@เจาะแผน กรมทางหลวงลุยประมูล-เซ็นสัญญา
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า กรมทางหลวงถือเป็นหน่วยงานระดับกรมที่ได้รับงบประมาณสูงสุด รอง ลงไปคือ กรมชลประทาน กรมทางหลวงชนบท กรมโยธาธิการ ตามลำดับ ดังนั้นการเบิกจ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพตามที่ได้รับจัดสรรเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งกรมทางหลวงได้มีการวางแผนการบริหารงบประมาณปี 2567 ที่เหลือเวลาใช้จ่ายงบประมาณเพียง 5 เดือนเท่านั้นซึ่งถือว่าน้อยมากๆ
กรมทางหลวงมีเป้าหมายในการเบิกจ่ายงบปี 2567 ได้ไม่ต่ำกว่า 90% และมั่นใจว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย เพราะจากที่เป็นอธิบดีกรมทางหลวงมาตลอด 4 ปี มีประสบการณ์ ในเรื่องงบประมาณ ตั้งแต่ปี 2563-2566 ซึ่งมีปีที่งบประมาณออกล่าช้า และมีเวลาใช้จ่ายน้อยมาแล้ว กรมฯ ได้ใช้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เช่น มีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องการออกแบบ การมีส่วนร่วมของประชาชน การจัดทำราคากลาง เป็นต้น
ทำให้ผลงานปี 2563 สามารถเบิกจ่ายได้ถึง 78% ทั้งที่งบประมาณออกช้า เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ทำให้มีเวลาในการเบิกจ่ายงบประมาณ 7 เดือน (เดือนมี.ค.-ก.ย.)
ปี 2564 เบิกจ่ายได้ 86% งบประมาณประกาศใช้ตามปกติ
ปี 2565 เบิกจ่ายได้ 90% งบประมาณประกาศใช้ตามปกติ
ปี 2566 เบิกจ่ายได้ 96% งบประมาณประกาศใช้ตามปกติ
ส่วนในปี 2567 รับรู้ล่วงหน้าว่างบประมาณล่าช้าแน่นอน กรมฯ จึงได้มีการปิดจุดอ่อน โดยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เตรียมความพร้อมในการทำงานไว้ล่วงหน้า ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบได้ไม่ต่ำกว่า 90%
@เทกระจาดประมูล งานใหม่เซ็นสัญญาผู้รับจ้างครบใน มิ.ย. 67
ปี 2567 กรมทางหลวงได้รับจัดสรรงบประมาณ รวมวงเงิน 121,695.2443 ล้านบาท โดยมีจำนวน 20,208 รายการ แบ่งเป็นเฉพาะงบลงทุนวงเงิน 115,730.3117 ล้านบาท ประกอบด้วย งานด้านครุภัณฑ์ วงเงิน 432.0195 ล้านบาท มีจำนวน 131 รายการ
งานผูกพันเดิม วงเงิน 42,858.5148 ล้านบาท จำนวน 179 รายการ
งานปีเดียว วงเงิน 64,652.3456 ล้านบาท มีจำนวน 4,312 รายการ
งานผูกพันใหม่ วงเงิน 7,787.4318 ล้านบาท มีจำนวน 91 รายการ
และงบรายจ่ายอื่นๆ วงเงิน 592.6815 ล้านบาท จำนวน 65 รายการ
ทั้งนี้ หากดูงานที่มีจำนวนมาก และวงเงินรวมงบประมาณสูง กลุ่มแรกเป็นงบลงทุนรายการใหม่ (งานปีเดียว) วงเงิน 64,652.3456 ล้านบาท จำนวน 4,312 รายการ ตั้งเป้าเบิกจ่าย 90% ขณะนี้ได้ประกาศประกวดราคาหมดแล้ว และทยอยลงนามสัญญาผู้รับจ้างไปแล้วกว่า 2,000 โครงการหรือกว่า 50% แล้ว
"ที่ทำได้เร็วเนื่องจากภาครัฐมีมาตรการที่ให้เร่งรัดเบิกจ่าย โดยหน่วยงานสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างล่วงหน้า ก่อนที่พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะออก โดยกรมทางหลวงมีการออกประกาศประกวดราคาตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. 2567 เป็นต้นมา ดังนั้นในเดือน พ.ค.จึงมีงานที่พร้อมลงนามสัญญากับผู้รับจ้างจำนวนหนึ่ง และลงนามสัญญจ้างครบทั้งหมดภายในกลางเดือนมิ.ย. 2567"
หลังลงนามผู้รับจ้างทำงานได้ทันที และจะเร่งรัดก่อสร้างควบคู่กับคุณภาพงานต้องเป็นไปตามมาตรฐานด้วย
แต่! ก็อาจจะมีคำถามเมื่อลงนามได้เร็ว เหตุใดจึงตั้งเป้าเบิกจ่าย 90% เพราะด้วยระยะเวลาใช้จ่ายมีเพียง 5 เดือน ขณะที่บางงานมีระยะเวลาสัญญามากกว่า 5 เดือน ทำให้มีเวลาส่วนที่เกิน ปีงบประมาณ มีมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาทที่เบิกไม่ทันเดือน ก.ย. โดยส่วนใหญ่งานจะไปเสร็จเดือน พ.ย. 2567 ซึ่งจะกันงบประมาณส่วนนี้ไว้ใช้ต่อเนื่อง
ส่วนงานผูกพันเดิม วงเงิน 42,858.5148 ล้านบาท จำนวน 179 รายการ คาดการณ์ว่าจะเบิกจ่ายงานส่วนนี้ได้เกิน 95% เนื่องจากยังมีอุปสรรค หลักๆ 3 เรื่อง คือ ตัวผู้รับจ้างทำงานล่าช้า ซึ่งต้องถูกปรับตามสัญญา, ติดเรื่องย้ายสาธารณูปโภค และการขออนุญาตเข้าพื้นที่
สำหรับงบผูกพันใหม่ วงเงิน 7,787.4318 ล้านบาท มีจำนวน 91 รายการ เนื่องจากสำนักงบประมาณเข้าใจดีว่าปี 2567 มีเวลาใช้จ่ายงบประมาณน้อย ดังนั้น ในส่วนของโครงการใหม่ ปกติปีแรกจะตั้งกรอบที่ 20% ของมูลค่าโครงการ ก็ปรับเป็น 15% เพื่อให้เหมาะสมกับเวลาใช้จ่าย คือเมื่อประมูลลงนามสัญญาจบก็เบิกจ่าย 15% ไปได้
“งานผูกพันใหม่ ขณะนี้ได้ทยอยประมูลแล้ว และลงนามสัญญากับผู้รับจ้างได้ครบ ภายในเดือน ก.ย. 2567 แน่นอนหากไม่มีเรื่องอุทรธรณ์ ฟ้องร้องยืดเยื้อ ซึ่งเมื่อลงนามสัญญา จะขอร้องผู้รับจ้างให้เบิกจ่ายเงินล่วงหน้างวดแรก 15% โดยตั้งเป้าเบิกจ่ายงานผูกพันใหม่ที่ 100%”
นายสราวุธกล่าวถึงประเด็นที่รัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรง และอาจจะมีผลกระทบต่องานก่อสร้างหรือไม่ เนื่องจากค่าแรงเป็นต้นทุนสำคัญของการก่อสร้าง ว่าที่ผ่านมารัฐก็เคยมีการปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งรัฐเองจะมีมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือผู้รับเหมา เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบมากนัก ดังนั้นเรื่องนี้คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนักกับการก่อสร้าง
สำหรับโครงการสำคัญ ตามรายงานคำของบประมาณรายจ่าย ปีงบประมาณ 2567 ของกรมทางหลวง ที่มีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ผูกพัน 3 ปี (2567-2569) มี 5 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา วงเงินรวม 835.7397 ล้านบาท (ตั้งกรอบ งบปี 2567 วงเงิน 334.2959 ล้านบาท ปี 2568 วงเงิน 334.2959ล้านบาท และปี 2569 วงเงิน 167.1479ล้านบาท)
2. โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ สาย แยกทางหลวงหมายเลข 9 (บ.บางเตย) -บรรจบทางหลวงหมายเลข 3214 (บ.พร้าว) วงเงินรวม 6,450 ล้านบาท (ปี 2567 วงเงิน 1,290 ล้านบาท ปี 2568 วงเงิน 2,580 ล้านบาท ปี 2569 วงเงิน 2,580 ล้านบาท)
3. โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 103 สาย อ.ร้องกวาง-อ.งาวตอน บ.วังดิน -บ.แม่ตีบหลวง วงเงินรวม 1,800 ล้านบาท (ปี 2567 วงเงิน 360 ล้านบาท ปี 2568 วงเงิน 720 ล้านบาท ปี 2569 วงเงิน 720 ล้านบาท)
4. โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 42 และทางหลวงหมายเลข 410 (แยกตะลุโบ๊ะ) วงเงินรวม 900 ล้านบาท (ปี 2567 วงเงิน 180 ล้านบาท ปี 2568 วงเงิน 360 ล้านบาท ปี 2569 วงเงิน 360ล้านบาท)
5. โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 212 สายโพนพิสัย -บึงกาฬ ตอน ปากคาด -บ.สมประสงค์ วงเงินรวม 800 ล้านบาท (ปี 2567 วงเงิน 160 ล้านบาท ปี 2568 วงเงิน 320 ล้านบาท ปี 2569 วงเงิน 320ล้านบาท)
นอกจากนี้ ยังมีโครงการตามนโยบายรัฐบาล จาการประชุมครม.นอกสถานที่ อาทิ ทางหลวงหมายเลข 103 สาย อ.ร้องกวาง -อ.งาวตอน บ.วังดิน-บ.แม่ตีบหลวง วงเงินรวม 1,800 ล้านบาท (ปี 2567 วงเงิน 360ล้านบาท ปี 2568 วงเงิน 720ล้านบาท และปี 2569 วงเงิน 720 ล้านบาท)
ทางหลวงหมายเลข 21 สาย อ.หล่มเก่า-เลย ตอน ต.ร่องจิก-ต.สานตม วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท (ปี 2567 วงเงิน 400 ล้านบาท ปี 2568 วงเงิน 800 ล้านบาท และปี 2569 วงเงิน 800 ล้านบาท)
ทางหลวงหมายเลข 1020 สาย เชียงราย-อ.เชียงของ ตอน บ.หัวดอย-บ.ใหม่ดอยลาน วงเงินรวม 1,100 ล้านบาท (ปี 2567 วงเงิน 220 ล้านบาท ปี 2568 วงเงิน 440 ล้านบาท และปี 2569 วงเงิน 440 ล้านบาท)
@เปิดงบปี 2568 วงเงิน 1.27 แสนล้านบาท ก่อสร้างโครงการใหม่ เน้นเพิ่มความปลอดภัย
สำหรับร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายปี พ.ศ. 2568 กรมทางหลวงได้รับงบประมาณ วงเงิน 127,685.0523 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ประมาณ 5,990 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของโครงการใหม่ เพื่อให้โครงข่ายทางหลวงรองรับการเดินทางที่สมบูรณ์และความปลอดภัย ซึ่งกรมทางหลวงมีแผนปฏิบัติงานที่ปรับปรุงเพิ่มเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่าย ทั้งโครงการใหม่ และเน้นเรื่องการเดินทางปลอดภัย
สำหรับงบประมาณปี 2568 วงเงิน 127,685.0523 ล้านบาท มีงานจำนวน 20,299 รายการ เป็นเฉพาะงบลงทุน วงเงิน 121,175.3295 ล้านบาท ประกอบด้วย
งานด้านครุภัณฑ์ วงเงิน 402.9586 ล้านบาท จำนวน 142 รายการ
งานผูกพันเดิม วงเงิน 34,509.4751 ล้านบาท จำนวน 202 รายการ
งานปีเดียว วงเงิน 66,469.0043 ล้านบาท จำนวน 4,554 รายกร
งานผูกพันใหม่ วงเงิน 19,793.8915 ล้านบาท จำนวน 182 รายการ
และงบรายจ่ายอื่น 710.0463 ล้านบาท จำนวน 83 รายการ
คงต้องจับตามองว่า เหลือเวลาใช้งบเพียง 5 เดือน จะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายสำคัญ แจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งแน่นอนส่วนหนึ่งคือ ใช้เงินงบประมาณ ซึ่งหากจุดไหนงานช้า เบิกจ่ายไม่ทัน คงถูกดูดงบ คืนคลังแน่นอน!!!