xs
xsm
sm
md
lg

"สุริยะ" นัดถกเดินหน้า พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ดันชง ครม.คาดบังคับใช้ปลายปี 68 ลุยตั้งกองทุนฯ ออกกฎคุมค่าโดยสาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“สุริยะ” เดินหน้าร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ นัดคณะกรรมการนโยบายตั๋วร่วมฯ ถก 6 มิ.ย.นี้ เร่งสรุปเสนอ ครม. คาดผ่านการพิจารณาสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา (ส.ว.) พิจารณา 3 วาระ มีผลช่วงปลายปี 2568 ลุยตั้งกองทุนฯ คุมค่าโดยสาร มีบทลงโทษผู้ให้บริการ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยถึงความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการผลักดันเพื่อเดินหน้า โดยในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ก่อนสรุปเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอนต่อไป โดยคาดว่าจะเสนอได้ภายในเดือน มิ.ย. 2567

ทั้งนี้ หลังจาก ครม.เห็นชอบแล้วจะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนส่งกลับมาที่ ครม. เพื่อเสนอไปที่สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พิจารณาตามขั้นตอน โดยกรอบเวลาที่คณะกรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณาคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน และคาดว่าจะเสนอไปที่สภาผู้แทนราษฎรได้เร็วสุดภายในปลายปี 2567 หรืออย่างช้าไม่เกินต้นปี 2568

ส่วนขั้นตอนในการพิจารณาของรัฐสภา คาดว่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาผ่านร่าง 3 วาระ ทั้งนี้ เมื่อผ่านวาระแรกแล้วก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณามีกรอบเวลาประมาณ 90 วัน ก่อนที่จะโหวตในวาระ 2-3 และไปต่อที่วุฒิสภา (ส.ว.) พิจารณาอีก 3 วาระ ก่อนทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป คาดว่าร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ จะมีผลช่วงปลายปี 2568

รายงานแจ้งว่า ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ....ที่กำลังจัดทำมีจำนวน 45 มาตรา โดยพระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 37 และมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อกำกับดูแลการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้การบริการขนส่งสาธารณะมีความสะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และมีปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นรองประธาน กำหนดให้มีกรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก อธิบดีกรมการขนส่งทางราง อธิบดีกรมเจ้าท่า เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์ด้านการเงิน ด้านการตลาด ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านวิศวกรรมศาสตร์ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องหรือเป็นประโยชน์ต่อระบบตั๋วร่วม จำนวนไม่เกินสามคน

ให้ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้มอบหมายข้าราชการของสำนักงานจำนวนสองคน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติตั๋วร่วมมี 7 หมวด และบทเฉพาะกาล เช่น หมวด 4 อัตราค่าโดยสาร ทำให้กำหนดอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรม เสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ การแข่งขันที่เป็นธรรม โดยให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบอนุญาตให้เอกชนประกอบกิจการขนส่งสาธารณะจะต้องนำอัตราค่าโดยสารร่วมที่กำหนดตามมาตรา 26 ไปใช้บังคับ ในกรณีที่มีการจัดทำสัญญาสัมปทานสัญญาร่วมงานหรือสัญญาร่วมลงทุนที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบตัวร่วม

หมวด 5 กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนา และส่งเสริมเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม โดยมีเงินทุนประเดิม ที่รัฐบาลจัดสรรให้, เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี,เงินค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต, เงินที่ได้รับจากผู้ให้บริการขนส่งเมื่อมีสัญญารับประทานเงินค่าปรับ เป็นต้น หมวด 6 การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตและ หมวด 7 โทษทางปกครอง เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น