xs
xsm
sm
md
lg

AOT กลับสู่วัฏจักรขาขึ้น แผนลงทุนสั้น-ยาวหนุนธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ท่าอากาศยานไทย” กลับสู่วัฎจักรขาขึ้น ภาพรวมธุรกิจฟื้นตัวใกล้เคียงช่วงก่อยเกิดวิกฤตโควิด หนุนผลประหกอบการ 6 เดือน (ต.ค.66 – มี.ค.67) รายได้-กำไรทะลัก ตามปริมาณเที่ยวบิน และจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ประเมินแผนลงทุนระยะสั้น และระยะยาวช่วยสนับสนุนธุรกิจ ดันราคาหุ้นกลับสู่จุดสูงสุดเดิม

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ภาพรวมปริมาณการจราจรทางอากาศของ AOT รอบ 6 เดือนปีงบประมาณ 2567 (เดือนตุลาคม 2566-มีนาคม 2567) มีจำนวนเที่ยวบินรวม 367,032 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 16.86% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 203,731 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 163,301 เที่ยวบิน ส่วนจำนวนผู้โดยสารรวมมีทั้งหมด 61.22 ล้านคน เพิ่มขึ้น 23.78% แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 36.82 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 24.40 ล้านคน

นั่นทำให้ ผลประกอบการงวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2567 ของ AOT มีกำไรสุทธิจำนวน 10,347.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น369.64% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวม 34,191.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 71.31% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 14,116.99 ล้านบาท หรือ 71.21% จากการเพิ่มขึ้นทั้งรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 5,533.66 ล้านบาท หรือ 55.88% และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 8,583.33 ล้านบาท หรือ 86.51%

เนื่องจากจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารโดยรวมเพิ่มขึ้น และมีค่าใช้จ่ายรวมจำนวน 19,482.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,856.08 ล้านบาท หรือ 24.68% การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) 

นอกจากนี้ ตามนโยบาย Free Visa ของรัฐบาลส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารสัญชาติจีนมีการเติบโตเฉลี่ยจาก 13,200 คนต่อวัน ไปเป็น 28,100 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 113% และจำนวนผู้โดยสารสัญชาติอินเดียมีการเติบโตเฉลี่ยจาก 5,100 คนต่อวัน ไปเป็น 6,200 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 22%

ส่วนผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 (งวด 3 เดือน สิ้นสุด 31 มีนาคม 2567) AOT มีกำไรสุทธิจำนวน 5,784.59 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,221.56 ล้านบาท หรือ 26.77% จากไตรมาส 1 ของปี 2567 โดยรายได้รวมเพิ่มขึ้น 2,500.55 ล้านบาท คิดเป็น 15.86% ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 854.87 ล้านบาท หรือ 8.61%

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 จำนวนเที่ยวบินจะมีการเติบโตจาก 178,214 เที่ยวบิน เป็น 188,818 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 5.95% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 10,949 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศลดลง 345 เที่ยวบิน ส่วนจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 2.88 ล้านคน เป็น 3.23 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11.96% แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 3.01 ล้านคน เพิ่มขึ้น 17.86% และผู้โดยสารภายในประเทศ 0.43 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.65%

สำหรับ AOT พร้อมส่งเสริมนโยบายผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของโลก เชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศ และเชื่อมต่อการเดินทางแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีเป้าหมายผลักดันท่าอากาศยานของไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 20 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลก รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสาร

 โดยในปี 2567 ทสภ.เตรียมเปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 เพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง นอกจากนี้ AOT ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบบริการผู้โดยสารสมัยใหม่เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการผู้โดยสารให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วลดระยะเวลาการรอคอยและแก้ปัญหาคอขวด บรรเทาความหนาแน่นของผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน 

กลับสู่ช่วงธุรกิจพลิกฟื้นเต็มตัว

หลายปีที่หุ้น AOT ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด จนผลประกอบการทรุดหนัก ขาดทุนปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่สถานการณ์ปัจจุบันกำลังดีวันดีคืน ผลกำไรเติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 16,322.01 ล้านบาท ปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 11,087.87 ล้านบาท แต่ ปี 2566 ผลประกอบการเริ่มฟื้น โดยมีกำไรสุทธิ 8,790.87 ล้านบาท และงวด 6 เดือนแรกปีนี้ สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2567 มีกำไรสุทธิ 10,347.63 ล้านบาท สูงกว่าผลกำไรปี 2566 ไปแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจแม้ถูกผลกระทบจากโควิดอย่างหนัก แต่ราคาหุ้น AOT ไม่ได้ผันผวนรุนแรงเหมือนหุ้นตัวอื่น เพราะนักลงทุนมั่นใจว่า เมื่อวิกฤตโควิดคลี่คลาย นักท่องเที่ยวจะกลับมาประเทศไทย และทำให้ผลประกอบการฟื้นตัวสู่ภาวะปกติ จึงถือหุ้นรอคอย

การที่ราคาหุ้นไม่ปรับตัวขึ้นขานรับผลกำไรไตรมาสที่ 2 ซึ่งเติบโตสูงมาก อาจเป็นเพราะค่า พี/อี เรโช AOT อยู่ในระดับสูงคือ ประมาณ 56 เท่า และอัตราเงินปันผลตอบแทนต่ำคือ 0.5% ถ้าจะซื้อหุ้น จึงต้องถือลงทุนระยะยาว เพื่อหวังผลตอบแทนเติบโตในอนาคต ไม่อาจคาดหวังการเก็งกำไรส่วนต่างราคาหุ้นในระยะสั้นได้

ที่ผ่านมามีนักลงทุนจำนวนมาก พร้อมจะถือหุ้น AOT เพื่อลงทุนระยะยาว รวมทั้งนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ โดยจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยมีทั้งสิ้น 102,112 ราย และถือหุ้นขนาดใหญ่ยอดนิยมตัวหนึ่ง


ยอดผู้โดยสารใกล้เคียงปี62

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนเที่ยวบินเข้า-ออก และปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ทำให้ AOT คาดว่าปี 2567 จะมีปริมาณผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิน่าจะกลับมาอยู่ในระดับ 65 ล้านคนใกล้เคียงกับปี 2562 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายของการเป็นผู้บริหารจัดการท่าอากาศยานที่ดี AOT จึงต้องเตรียม พร้อมทั้งด้านกำลังคน อุปกรณ์ รวมถึงขยายศักยภาพในการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงการประสานงานกับผู้ให้บริการและร้านค้าเชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานให้มีความพร้อมในการรองรับ ผู้โดยสารด้วยเช่นกัน โดยในส่วนของอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (Satellite 1) หรือ SAT-1 ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2566 พบว่า ปัจจุบันมีสายการบินให้บริการอยู่รวม 18 สายการบิน อาทิ การบินไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ไทยเวียตเจ็ท ฯลฯ มีเที่ยวบินเฉลี่ยประมาณ 50 เที่ยวบินต่อวัน

ทั้งนี้ AOT มีแผนผลักดันให้เพิ่มเป็น 120 เที่ยวบินต่อวันภายในอีก 2 เดือนข้างหน้า และเพิ่มให้ได้ 400 เที่ยวบินต่อวันภายในปี 2567 (ศักยภาพรองรับเต็มที่ 400 เที่ยวบินต่อวัน)

ที่ผ่านมา ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี หลังเปิดให้บริการอาคาร SAT-1 ทำให้เพิ่มศักยภาพสนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารรวมได้ 60 ล้านคนต่อปี

แผนลงทุนระสั้น-ยาว

สำหรับปี 2567 AOT มีแผนลงทุนสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร (East Expansion) สนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่าลงทุน 9,000 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารได้อีก 15 ล้านคน/ปี ขณะนี้อยู่ในช่วงการปรับแบบก่อสร้างคาดเปิดประมูลในเดือนพฤษภาคมนี้

ส่วนระยะยาว บริษัทมีแนวคิดที่จะทบทวนแผนแม่บทขยายขีดความสามารถสนามบินในระยะ 10 ปีข้างหน้า (2568-2578) ใหม่ จากเดิมที่มีแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) ซึ่งเป็นอาคารผู้โดยสารในประเทศ หรือ Domestic ก่อน แต่ AOT มีแผนใหม่คือจะปรับแผนเป็นก่อสร้างอาคาร ผู้โดยสารทางด้านทิศใต้ (South Terminal) ซึ่งอาคารจะรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารให้ได้ถึง 150 ล้านคนต่อปี โดยคาดว่าจะดำเนินการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินฉบับใหม่ และได้ข้อสรุปก่อนที่จะมีการ เดินหน้าแผนดังกล่าวภายในต้นปี 2568

ขณะเดียวกัน บริษัทยังเดินหน้าแผนขยายสนามบินดอนเมืองเฟส 3 มูลค่า 36,000 ล้านบาท โดยสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ (International Terminal) ในบริเวณพื้นที่ของอาคารผู้โดยสารภายในประเทศหลังเดิม (ด้านทิศใต้ติดกับคาร์โก้) ปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้ และเปิดประมูลได้ไม่เกินปลายปี 2567 เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสารจากปัจจุบัน 30 ล้านคนต่อปี เป็น 50 ล้านคนต่อปี

รวมถึงมีแผนปรับปรุงอาคาร ผู้โดยสารหลังที่ 1 (ปัจจุบันรองรับ ผู้โดยสารระหว่างประเทศ) เพื่อให้บริการรองรับผู้โดยสารภายในประเทศร่วมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2

นอกจากนี้ AOT ยังมีแผนสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศท่าอากาศยานภูเก็ต หรือแผนลงทุนท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 วงเงิน 8,300 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะประมูลสร้างในช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 เพื่อให้รองรับ ผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี และลงทุนอีก 8,000 ล้านบาท สำหรับขยายท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงปลายปี 2567 เพื่อให้รองรับ ผู้โดยสารได้ 16.5 ล้านคนต่อปี

กระแสเงินสดแกร่ง


สิ่งที่น่าสนใจ คือ การลงทุนของ AOT ส่วนใหญ่ใช้เงินลงทุนจากกระแสเงินสดของบริษัทเป็นหลัก เพื่อไม่ให้ก่อเกิดหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน AOT มีกระแสเงินสดในมือราว 4,000-5,000 ล้านบาท และจากสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกที่กลับมาเติบโตอีกครั้ง ทำให้คาดว่าทั้ง 6 ท่าอากาศยานในความดูแล เชื่อว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 10-20% ทำให้คาดว่าในปีนี้ บริษัทจะมีกระแสเงินเข้ามาอีกกว่า 70,000 ล้านบาท

มีรายงานว่า นักวิเคราะห์หลายแห่ง แนะนำ “ซื้อ” สำหรับหุ้น AOT และมีส่วนหนึ่งเพียงแนะนำ “ถือ” โดยไม่มีโบรกเกอร์รายใดแนะนำให้ขาย ส่วนราคาเป้าหมาย โบรกเกอร์บางรายตั้งราคาเป้าหมายไว้ที่ 65.50 บาท แต่บางโบรกเกอร์ให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 81 บาท ขณะที่ราคาเป้าหมายเฉลี่ยอยู่ที่ 74.74 บาท

โดยในรอบ 12 เดือน หุ้น AOT เคยพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 73.50 บาท และเคยลงไปต่ำสุดที่ 58 บาท โดยปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่ที่ระหว่าง 66 – 67 บาท จึงอยู่ระหว่างกลางกับราคาสูงสุดและต่ำสุด แต่ยังต่ำกว่าราคาเป้าหมายเฉลี่ยของโบรกเกอร์

ทำให้โดยรวมหุ้น AOT ในปัจจุบันถือว่าฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์แล้ว เห็นได้จากผลประกอบการกลับสู่ภาวะปกติก่อนเกิดวิกฤตโควิด เพียงแต่ราคาหุ้นยังห่างไกลจากจุดสูงสุดเดิมที่เคยพุ่งขึ้นไปเฉียด 100 บาท ซึ่งเชื่อว่าผู้โดยสารหุ้น AOT หรือผู้ถือหุ้นรายย่อยกว่า 1 แสนชีวิตที่ติดหุ้นราคาต้นทุนสูง ยังถือหุ้นรอคอย เพื่อรอปัจจัยพื้นฐานมาขับเคลื่อนราคาหุ้น AOT ให้ทะยานในอนาคต

แผนงานระยะยาวสนับสนุน


บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ประเมินทิศทางธุรกิจของ AOT ว่า หลังจากเข้าร่วมการประชุมนักวิเคราะห์ของ AOT ในปีงบประมาณ 2024 นั้นมีประเด็นสำคัญ คือ บรรลุเป้าหมาย 120 ล้านคนในปี 2024 โดย AOT ยังคงเป้าหมาย 120 ล้านคน สำหรับปี 2024 โดยในช่วงครึ่งปีแรก สนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารรวม 61 ล้านคน

ขณะเดียวกัน จากแผนการของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย AOT ถูกเรียกร้องให้ปรับปรุงแผนแม่บท สำหรับสนามบินสุวรรณภูมิ ประเด็นหลักน่าจะเป็นเรื่องระยะเวลาการดำเนินงานของท่าอากาศยานทางใต้ในกรณีที่มีการเดินทางเข้ามาอย่างกะทันหัน ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศแผนแม่บทฉบับสมบูรณ์ในช่วงต้นปีหน้า

ประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือ รันเวย์ใหม่(สาย3)จะเริ่มเปิดให้บริการในสิงหาคม 2024 และสนามบินสุวรรณภูมิจะรองรับเที่ยวบินได้ถึง 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้นจาก 68 เที่ยวบิน โดยรันเวย์ใหม่จะคลายข้อจำกัดในเรื่องจำนวนเที่ยวบินต่อชั่วโมง ขณะที่การปรับปรุงครั้งต่อไปที่ต้องทำคือ โครงการขยายพื้นที่ทางด้านตะวันออก หลังจากที่ AOT ได้ใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1(Sat-1) แล้วตั้งแต่กันยายน 2023 อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนต่อไปสำหรับโครงการขยายพื้นที่ด้านตะวันออกคือจะเข้าสู่กระบวนการประมูลในเดือนสิงหาคม มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท

ไม่เพียงเท่านี้ คาดว่าจะมีการประมูลสัมปทานบริการภาคพื้น ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยเป็นการประมูลสัญญาร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชนสำหรับผู้ให้บริการรายที่ 3 ในการให้บริการภาคพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเรื่องการเดินทางคับคั่งที่อาจนำไปสู่ความล่าช้า 

ส่วนการโอนสนามบิน 3 แห่งยังคงรอใบอนุญาตผู้ประกอบการสนามบินเอกชน AOT ได้จัดสรรงบประมาณ 1 หมื่นล้านบาทสำหรับการลงทุนเพิ่มเติม ไม่รวมจากการได้มาซึ่งสนามบินเหล่านี้ ขณะที่การยกเลิกสินค้าปลอดภาษีขาเข้านั้น AOT รายงานว่าต้องรอผลสรุปผลการศึกษาของรัฐบาลก่อน

ก่อนหน้านี้จากการพูดคุยชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการสามารถโอนพื้นที่ปฏิบัติการไปยังพื้นที่ขาออกได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้สัมปทานอย่างจำกัด

โดยการลงทุนใน Airport Energy Absolute นั้น AOT เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจาก 5% เป็น 25% ใน AEA บริษัทจะดำเนินธุรกิจ 3 ประเภท ได้แก่ 1) การแปลงแท็กซี่ไฟฟ้าสาธารณะ 2) โรงงานผสมและผลิตน้ำมันอากาศยานเชื้อเพลิงที่ยั่งยืน และ 3) การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ไฟฟ้าสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2030

ส่วนค่าบริการผู้โดยสารขาออก (PSC) ท่าอากาศยานแจ้งว่าค่าบริการผู้โดยสารขาออกจะสามารถปรับขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของต้นทุนการดำเนินงานของบริษัท โดยกระบวนการอนุมัติจะใช้เวลา 1-2 ปี และเชื่อว่าโครงการขยายท่าอากาศยานส่วนตะวันออกจะสนับสนุนการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว ทำให้คงคำแนะนำ “ซื้อ”สำหรับ AOT โดยมูลค่าที่เหมาะสมเท่ากับ 81.00 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น