xs
xsm
sm
md
lg

UNGCNT เรียกร้องเอกชนทั่วโลก เร่งเดินหน้า 5 ประเด็นสำคัญ ตอบโจทย์ SDGs Agenda 2030

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) เปิดรายงานพิเศษ “Forward Faster” เผย 5 ประเด็นสำคัญที่เรียกร้องให้เอกชนทั่วโลกเร่งเดินหน้า เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี ค.ศ. 2023 พร้อมสร้างความมั่นคงให้ธุรกิจ

ดร. ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ UNGCNT เปิดเผยว่า UNGCNT ในฐานะเครือข่ายท้องถิ่นของ UN Global Compact ได้จัดทำรายงานพิเศษ “Forward Faster” ฉบับภาษาไทย โดยสรุปความจากข้อมูลของโครงการ Forward faster ของ UN Global Compact ซึ่งเปิดเผย 5 ประเด็นสำคัญที่เรียกร้องให้เอกชนทั่วโลกเร่งเดินหน้า พร้อมแนะคู่มือปฎิบัติการ (Action Guide) ให้เป็นแนวทางให้ภาคธุรกิจนำไปพิจารณาและประยุกต์ใช้ เพื่อขับเคลื่อนโลกให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี ค.ศ. 2023 (SDGs Agenda 2030) และปลดล็อคความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อสร้างความเติบโตที่มั่นคงให้กับภาคธุรกิจ
 

“ปัจจุบันมีองค์กรธุรกิจทั่วโลกมากกว่า 1,500 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการนี้กับ UN Global Compact และคาดว่ารายชื่อบริษัทที่มุ่งมั่นใน Forward Faster จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างมีนัยสำคัญ นี่คือวาระเร่งด่วนที่ภาคเอกชนต้องลงมือทำอย่างจริงจัง น่าเชื่อถือ และมีความรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการร่วมกอบกู้วิกฤตโลก
ยังส่งผลให้องค์กรได้รับผลตอบแทนที่ดี และจะสร้างอนาคตที่มั่นคงให้ธุรกิจด้วย” ดร. ธันยพร กล่าว


5 ประเด็นสำคัญดังกล่าว ประกอบด้วย

ประเด็นที่ 1 ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality)

หากเรายังเดินหน้าด้วยความเร็วเช่นปัจจุบัน จะต้องใช้เวลากว่า 160 ปี ที่ผู้หญิงจะบรรลุถึงความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะในมิติของการมีอำนาจทางเศรษฐกิจและการมีส่วนร่วม ทั้งที่จริงแล้วการดำเนินงานเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศ จะช่วยให้ภาคธุรกิจมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน เมื่อผู้หญิงเป็นผู้นำและมีพื้นที่ในองค์กร ธุรกิจมักมีประสิทธิภาพการดำเนินการที่ดีขึ้น และการมีเพศที่หลากหลายอย่างสมดุลในองค์กร จะทำให้มีโอกาสทางธุรกิจที่ดีขึ้นด้วย โดยเฉลี่ยทั่วโลก GDP ในระยะยาวจะสูงขึ้นเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ หากสามารถปิดช่องว่างการจ้างงานระหว่างเพศลงได้

ประเด็นที่ 2 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action)

เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้น้อยกว่า 1.5 องศาเซลเซียส โลกจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 การดำเนินการด้านสภาพอากาศจะช่วยรับประกันความมั่นคงให้ธุรกิจในอนาคต และนี่คือจุดเปลี่ยนที่จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพและลดต้นทุนการดำเนินงานให้ธุรกิจ ผ่านการลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมสร้างชื่อเสียงขององค์กร ซัพพลายเออร์ นักลงทุน และหน่วยงานกำกับดูแลด้วย

ประเด็นที่ 3 ค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิตที่เหมาะสม (Living Wage)

ทุกวันนี้ทั่วโลกมีคนทำงานมากกว่าหนึ่งพันล้านคน (1 ใน 3 ของคนทำงานทั้งหมด) ที่ได้รับการประเมินว่ามีรายได้น้อยกว่าที่ต้องการ เพื่อจะมีมาตรฐานการครองชีพที่ดี การจ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรมให้พนักงานทุกคน ไม่เพียงลดความเหลื่อมล้ำ แต่ยังเป็นการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่แรงงานที่ได้รับค่าจ้างในระดับต่ำสุด ให้ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมกับมาตรฐานการครองชีพที่ดี หากธุรกิจจ่ายค่าจ้างอย่างเหมาะสมต่อการดำรงชีวิต พนักงานจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อัตราการลาออกและขาดงานจะลดลง ทั้งยังเพิ่มแรงจูงใจให้องค์กรสามารถดึงดูดผู้มีความสามารถหน้าใหม่ ที่จะมาช่วยสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ

ประเด็นที่ 4 การเงินและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ SDGs (Sustainable Finance)

โลกจะต้องใช้เงิน 3 ล้านล้านถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDGs ภายในปี 2030 ในมิติของธุรกิจ การปรับกลยุทธ์ทางการเงินให้สอดคล้องกับ SDGs จะปลดล็อกความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ให้องค์กร ทั้งการดึงดูดนักลงทุนและเปิดโอกาสใหม่ในการลงทุน การปกป้องประสิทธิภาพทางการเงินของบริษัทในระยะยาว ลดความเสี่ยงเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล รวมถึงป้องกันปัญหาด้านกฎหมายและชื่อเสียงขององค์กรที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

ประเด็นที่ 5 การฟื้นคืนแหล่งน้ำ (Water Resilience)

ทุกวันนี้ผู้คนมากกว่า 2 พันล้านคนขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด วิกฤตินี้จะรุนแรงยิ่งขึ้น โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 ปริมาณน้ำสะอาดที่โลกมีกับความต้องการใช้น้ำ จะมีสัดส่วนต่างกันถึง 40 เปอร์เซ็นต์ การปรับปรุงการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ธุรกิจของคุณเติบโตได้ดีขึ้น เนื่องจากเป็นการลดความเสี่ยงทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดแคลนน้ำ และความท้าทายด้านน้ำอื่นๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งสร้างชื่อเสียงที่ดี และความไว้วางใจจากนักลงทุน

รายงานพิเศษ Forward Faster ฉบับภาษาไทยนี้ ยังได้นำเสนอแนวปฎิบัติขององค์กรสมาชิก UNGCNT ซึ่งเป็นธุรกิจชั้นนำที่ขับเคลื่อนความยั่งยืน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเป็นตัวอย่างให้กับองค์กรธุรกิจอื่นๆ ประกอบด้วย ลอรีอัล ประเทศไทย กับพันธกิจสร้างคน สร้างความเท่าเทียม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กับการคืนความยั่งยืนให้ท้องทะเล พร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net-Zero บริษัท แบรนดิ แอนด์ คอมพานีส์ จำกัด กับสมการค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กับการพัฒนาโซลูชั่นทางการเงินส่งเสริมธุรกิจยั่งยืน และกลุ่มธุรกิจ TCP กับการฟื้นคืนแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน

องค์กรธุรกิจและผู้สนใจการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สามารถดาวน์โหลดรายงานพิเศษ “Forward Faster”
ได้ที่ https://globalcompact-th.com/news/registration/1530
กำลังโหลดความคิดเห็น