xs
xsm
sm
md
lg

“มนพร” ปลื้มเปิดเทอม คนใช้บริการรถเมล์ ขสมก.เพิ่มวันละ 4 หมื่นคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“มนพร” ปลื้มใจคนใช้รถเมล์ ขสมก.เพิ่มขึ้น วันละ 4 หมื่นคน หลังเปิดเทอมภาคเรียนที่ 1 พร้อมกำชับช่วงฤดูฝนเน้นให้บริการปลอดภัย ขสมก.จัดสายตรวจดูแลจุดเสี่ยง

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่โรงเรียนและสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เริ่มทยอยเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียน เดินทางไปโรงเรียนด้วยระบบขนส่งสาธารณะเป็นจำนวนมาก ซึ่งรถโดยสารประจำทางถือเป็นทางเลือกในการเดินทางที่มีความสะดวก ปลอดภัย และประหยัด อีกทั้งมีเส้นทางเดินรถผ่านหน้าโรงเรียนหลายแห่ง จึงทำให้รถโดยสารประจำทาง ยังคงเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นขวัญใจของประชาชน

โดยสถิติผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. ก่อนเปิดเทอมเฉลี่ยวันละ 580,000 คน และตั้งแต่วันที่ 16-21 พฤษภาคม 2567 มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 620,000 คน หรือมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นวันละ 40,000 คน คิดเป็น 6.90% ของจำนวนผู้ใช้บริการในช่วงก่อนเปิดเทอม ส่งผลให้ลดปัญหาด้านการจราจร และมลพิษทางอากาศ (ฝุ่น PM 2.5) เนื่องจากประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เปลี่ยนมาใช้บริการรถโดยสารประจำทาง


นางมนพรกล่าวว่า ตนได้กำชับ ขสมก. เกี่ยวกับการให้บริการรถโดยสารประจำทางในช่วงฤดูฝน โดยเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ และประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ตามนโยบาย “ราชรถยิ้ม” ของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการให้ประชาชนใช้บริการรถโดยสารประจำทางด้วยรอยยิ้ม และเดินทางอย่างมีความสุข


นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวว่า ขสมก.ได้มีการเตรียมความพร้อมให้บริการแก่ประชาชนในช่วงฤดูฝน โดยกำชับพนักงานขับรถโดยสารตรวจเช็กที่ปัดน้ำฝน ล้อยาง ระบบเบรก หน้าต่างรถ และหลังคารถให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี ก่อนนำรถออกวิ่งให้บริการประชาชน รวมทั้งจะต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เปิดประตูเมื่อรถจอดสนิท ปิดประตูก่อนนำรถออกจากป้ายหยุดรถโดยสาร เว้นระยะห่างจากรถคันหน้ามากกว่าปกติ และเปิดไฟหน้ารถตลอดเวลา ส่วนพนักงานเก็บค่าโดยสาร จะต้องคอยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการขณะขึ้น-ลงรถ


นอกจากนี้ ขสมก.ได้จัดหัวหน้างาน เจ้าหน้าที่สายตรวจพิเศษและนายตรวจ ประจำจุดบริเวณจุดเสี่ยงที่อาจเกิดอุบัติเหตุ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เช่น บริเวณทางร่วมทางแยก ทางม้าลาย และจุดกลับรถ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น