xs
xsm
sm
md
lg

“คงกระพัน” ส่งสัญญาณฟันธุรกิจไม่ perform ลุ้น “มิตซูบิชิ มอเตอร์ส” หนุน รง.ผลิตอีวีไปต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



การประกาศวิสัยทัศน์ของ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ซีอีโอ บมจ.ปตท.คนที่ 11 ในการนำ “ปตท.สร้างความแข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” โดยสร้างความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมภายใต้การกำกับที่ดี

แนวคิดการบริหารธุรกิจแบบยั่งยืนในทุกมิตินั้น องค์กรจะดำเนินไปได้ ธุรกิจต้องมีกำไร แต่ต้องเป็นกำไรที่เหมาะสมและยั่งยืน ไม่มองกำไรระยะสั้น ธุรกิจต้องเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ช่วยสังคมไทย SME ส่วนการลงทุนต้องเกิดประโยชน์ทั้งต่อองค์กรและประเทศ จากสถานการณ์โลกที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปตท.ต้องมีความคล่องตัว มี Agility ธุรกิจใดที่ดี ต้องไม่ช้าและตัดสินใจได้ แต่หากธุรกิจใดที่เคยดี หรือไม่ perform แล้ว ก็ต้องมีความกล้าที่จะออกจากธุรกิจอย่างชาญฉลาดและรวดเร็ว

สร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วน การทำธุรกิจและการบริหารจัดการต้องโปร่งใส เน้นเรื่องบรรษัทภิบาลอย่างจริงจัง ซึ่งปตท.มีบุคลากรที่เก่ง มีความรู้ความสามารถ ต้องสร้างพลังให้เกิดความร่วมมือ พาองค์กรก้าวผ่านทุกความท้าทาย


นับเป็นการส่งสัญญาณของผู้นำองค์กรปตท.คนใหม่ ส่งผลให้ในบรรดาบริษัทย่อยของ ปตท.ต้องเร่งทบทวนแผนงานธุรกิจอย่างรอบคอบ เพื่อนำเสนอฝ่ายบริหารและบอร์ด ปตท.ต่อไป รวมถึงธุรกิจ Future Energy & Beyond ว่ามีธุรกิจใดบ้างที่ไม่ perform แล้ว ซึ่งเสี่ยงที่จะถูกลดบทบาท อาจถึงขั้นลดสัดส่วนเงินลงทุน หรือตัดขายธุรกิจนั้นไปเลยก็ได้ ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่นกรณีที่ ปตท.ขายทิ้งธุรกิจปาล์มในอินโดนีเซียที่มีการทุจริตจนทำให้ปตท.ขาดทุนเป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่การขายหุ้นทั้งหมดในเหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซีย เป็นต้น

หากมาพิจารณาธุรกิจใหม่ที่ ปตท.มีแผนจะลงทุนแต่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรจะเป็น คงหนีไม่พ้นโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทย ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท อรุณพลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท. กับบริษัท หลินยิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด ในกลุ่มฟ็อกซ์คอนน์ โดยจัดตั้ง บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) โดยมีอรุณพลัสถือหุ้น 60% และฟ็อกซ์คอนน์ 40%


โรงงานผลิตรถ EV มูลค่าเงินลงทุนกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งบนพื้นที่กว่า 350 ไร่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย ด้วยกำลังผลิตเฟสแรกที่ 50,000 คัน/ปี ภายในปี 2567 แต่เนื่องจากสภาพการแข่งขันตัดราคารถอีวีที่รุนแรงและบรรดาค่ายรถ EV รายใหญ่ของจีนต่างพาเหรดตั้งโรงงานผลิต EV ในไทย ทำให้การหาลูกค้าที่จะว่าจ้างผลิต EV ทำได้ยากกว่าที่คาดไว้ ดังนั้น อรุณพลัสได้ร่วมหารือกับฟ็อกซ์คอนน์ ตัดสินใจเลื่อนการผลิตเชิงพาณิชย์โรงงานผลิต EV ออกไปก่อนเป็นปี 2568 แทน ขณะที่เครื่องจักรต่างๆ ก็ชะลอไว้ก่อนเช่นกัน
นอกจากนี้ อรุณ พลัส หันมารุกด้านการตลาดรถ EV จับมือกับกลุ่มบริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) (MGC-ASIA) ตั้งบริษัทร่วมทุน นีโอ โมบิลิตี้ เอเชีย เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ XPENG และแบรนด์ ซีคเกอร์อย่างเป็นทางการในไทย หวังสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร พร้อมทำหน้าที่ให้บริการทั้งก่อนและหลังการขายให้กับลูกค้าแบบครบวงจร

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2567 มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น และมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศความร่วมมือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท อรุณพลัส จำกัด แกนนำธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของ ปตท. เพื่อศึกษาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า xEV ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งการผลิตและจำหน่ายภายในประเทศไทย และการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ เบื้องต้นจะความชัดเจนภายในปีนี้

ทั้งนี้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส มีแผนส่งเสริมธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า จึงตัดสินใจร่วมมือกับกลุ่ม ปตท.ซึ่งเป็นผู้นำด้านพลังงานและแนวคิดในการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เล็งเห็นโอกาสที่จะร่วมมือในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มิตซูบิชิ มอเตอร์สให้ความสำคัญหลังจากดำเนินธุรกิจในไทยกว่า 60 ปี

หากผลการศึกษาแล้วเสร็จ มิตซูบิชิตัดสินใจแน่นอนที่จะร่วมกับกลุ่ม ปตท.ในการผลิตรถ EV ก็เสมือนการการันตีโครงการร่วมทุนผลิตรถ EV ฮอริษอน พลัส มีเปอร์เซ็นต์ความเป็นไปได้ที่เดินหน้าการผลิตได้ตามแผนที่วางไว้ แต่ต้องไม่ลืมว่าปริมาณการผลิตรถ EV ต้องมากเพียงพอเพื่อให้มีต้นทุนการผลิตที่เหมาะสมแข่งขันกับค่ายรถจีน แต่หากสุดท้ายไม่เป็นไปตามคาด โครงการดังกล่าวก็คงต้องเลื่อนออกไปอีก สุดท้ายจะเป็นอย่างไรก็คงต้องขึ้นกับบอร์ด ปตท.เป็นผู้ชี้ชะตา


ส่วนธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ในกลุ่ม ปตท.ก็เดินไปได้ด้วย โดยได้จับมือกับพันธมิตรเจ้าของเทคโนโลยีหลายราย เริ่มจากบริษัท นูออโว พลัส จำกัด (การร่วมทุนระหว่างอรุณ พลัสถือหุ้น 51% และบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ 49%) ร่วมทุนกับบริษัท โกชั่น ไฮเทค ประเทศจีน จัดตั้งบริษัทร่วมทุน “เอ็นวี โกชั่น” เพื่อดําเนินธุรกิจนําเข้า ประกอบ และจัดจําหน่ายโมดูลแบตเตอรี่และชุดแบตเตอรี่สําหรับระบบกักเก็บพลังงานและยานยนต์ไฟฟ้า โดยโรงงานประกอบชุดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนได้ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว มีกำลังการผลิตเฟสแรก 2 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี เพื่อป้อนแบตเตอรี่ให้ลูกค้าค่ายรถอีวี ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าแล้ว

นอกจากนี้ ยังได้จับมือกับ Contemporary Amperex Technology Co., Ltd (CATL) เพื่อตั้งโรงงานแบตเตอรี่ Cell-To-Pack (CTP) กำลังผลิต 6 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี โดยโครงการนี้ทางอรุณ พลัสจะถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่

สำหรับธุรกิจ Beyond ที่ดูมีภาษีดี คงหนีไม่พ้นธุรกิจยา ที่ส่งกำไรให้กับ ปตท.เป็นกอบเป็นกำภายในไม่กี่ปี หลังจากอินโนบิก (เอเซีย) ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (Lotus) ที่ไต้หวัน ล่าสุดยังขายเงินลงทุนใน Alogen Malta (Out-licensing) ทำให้ ปตท.บุ๊กกำไรหลายพันล้านบาทในไตรมาสแรกปีนี้

ส่วนโรงงานร่วมทุนผลิตอาหารโปรตีนจากพืช (Plant- Based) ในไทย ก็เพิ่งเดินเครื่องโรงงาน และผ่านมาตรฐานความปลอดภัยอาหารสากล BRC ในระดับ Grade A และได้รับการรับรองมาตรฐาน BRCGS Plant-Based ด้านการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชเป็นบริษัทแรกในภูมิภาคอาเซียน ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา Plant-Based Medicine เพื่อตอบโจทย์การดูแลรักษาสุขภาพและลดอัตราการก่อโรค โดยอินโนบิกหวังทำตลาดส่งออกเพิ่มมากขึ้น

กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ ปตท.ก็มี จะถูก กกพ.เรียกเก็บค่าปรับจากผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายก๊าซฯ (Shortfall) รอบ 2 จากการตรวจสอบย้อนหลังในสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ทุกแหล่งในอ่าวไทยระหว่างปี 2556-2563 ราว 4,700 ล้านบาทเพื่อมาอุ้มค่าไฟ ซึ่ง ปตท.เพิ่งจ่ายค่า Shortfall ไปเมื่อต้นปี 2566 เป็นเงิน 4,300 ล้านบาท


กลุ่ม ปตท.กำไรไตรมาส 1/67 เฉียด 6 หมื่นล้าน

สำหรับภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ของ ปตท. และ 6 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ พบว่ากลุ่ม ปตท.มีกำไรสุทธิรวมราว 59,841 ล้านบาท โดยมี 4 บมจ.ที่มีกำไรสุทธิเติบโตขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ ปตท. (PTT) บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) บมจ. ไทยออยล์ (TOP) ส่วน บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) มีกำไรสุทธิลดลง ยกเว้น บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เพียงรายเดียวที่มีผลขาดทุนสุทธิ 606 ล้านบาท

นายคงกระพันกล่าวถึงผลการดำเนินงาน ปตท.ในไตรมาส 1 ปี 2567 มีกำไรสุทธิจำนวน 28,968 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาส 1/2566 ส่วนใหญ่กำไรมาจากบริษัทในเครือทั้งในและต่างประเทศตาม EBITDA ที่เพิ่มขึ้น โดยมีการรับรู้รายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำสุทธิภาษีตามสัดส่วนของ ปตท. เป็นกำไรประมาณ 4,400 ล้านบาท โดยหลักจากกำไรจากการขายเงินลงทุนใน Alogen Malta (Out-licensing) Holding Ltd. (AMOLH) ของบริษัท ปตท. โกลบอล แมนเนจเม้นท์ จำกัด (PTTGM)
จำนวน 4,500 ล้านบาท ส่วนกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นก็มีผลดำเนินงานที่ดีขึ้นด้วย

"กำไรสุทธิส่วนใหญ่มาจากผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือ ปตท.ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ประกอบด้วย ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 44% ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน และบริษัทย่อยอื่นๆ 39% กลุ่มธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก 10% และธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น 5% และมาจากผลการดำเนินงานของ ปตท. คิดเป็น 2% ซึ่งลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2566"

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2/2567 มีการคาดการณ์ว่า ปตท.จะมีกำไรราว 2.5-3 หมื่นล้านบาท โดยธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของ PTTEP ยังโดดเด่นจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันที่อยู่ระดับสูง ส่วนธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีอาจจะอ่อนตัวตามค่าการกลั่นที่ปรับลดลงต่ำกว่าไตรมาส 1/2567 หลังได้รับแรงกดดันจากโรงกลั่นใหม่หลายแห่งที่เริ่มเปิดดำเนินการ ทำให้อุปทานปรับเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงกลั่นยังได้รับแรงหนุนจากโรงกลั่นรัสเซียที่ยังคงอยู่ในระหว่างการปิดปรับปรุงจากการถูกโจมตี ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดีเซลมีแนวโน้มตึงตัว ในขณะที่อุปสงค์น้ำมันเบนซินปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ แต่จะกลับมาดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3/2567 รวมทั้ง ปตท.จะมีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้นบางส่วนในโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 ให้กับกฟผ.ราว 4,000 ล้านบาทด้วย

อย่างไรก็ตาม ปตท.ยังมีความเสี่ยงจากการเลื่อนรับรู้ผลกระทบ single pool gas price ราว 1 พันล้านบาทต่อเดือนในช่วงไตรมาส 2 นี้ และความเสี่ยงถูกเรียกคืนค่า short fall อีก 4,700 ล้านบาทในครึ่งปีหลังนี้ด้วย งานนี้เป็นที่จับตามองว่าซีอีโอ ปตท.คนใหม่จะจัดการปัญหาเรื่องนี้อย่างไรเพื่อให้ ปตท.ได้รับผลกระทบน้อยสุด


กำลังโหลดความคิดเห็น