OR เดินหน้าปักหมุดกลยุทธ์ 3R ลดก๊าซเรือนกระจก ร่วมรับมือและแก้ปัญหาวิกฤติ Climate Change หรือ “ภาวะโลกรวน” พร้อมมุ่งสู่การเป็นองค์กร Net Zero ให้สำเร็จภายในปี 2050
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change (ภาวะโลกรวน) กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกวันและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในทุกมิติ ทั้งมิติสังคม มิติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมิติด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเริ่มมีปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าหวั่นวิตกเกิดขึ้นให้เห็นเป็นระยะ และหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ โลกอาจจะเข้าสู่วิกฤติขั้นรุนแรงเกินจะเยียวยาได้
ดังนั้น หลายประเทศทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพื่อที่จะร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว ขณะที่ประเทศไทยของเรา หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ก็ไม่นิ่งนอนใจที่จะให้ความร่วมมือในการดูแลโลกก่อนจะสายเกินไป
เช่นเดียวกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์กรสำคัญอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ก็ได้ตระหนักถึงวิกฤติการณ์ดังกล่าวซึ่งส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจทั้งในด้านความความเสี่ยงและการปรับตัวของธุรกิจ จึงได้กำหนดเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ ด้วยการสนับสนุนและดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งการลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจและใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเพิ่มสัดส่วนนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ หมุดหมายที่สำคัญของ OR คือการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050
แต่การก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องง่ายและมีความท้าทายมากมายที่จำเป็นต้องมีทั้งวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่ดีเป็นตัวนำทาง นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เชื่อมั่นว่า ด้วยวิสัยทัศน์อันแข็งแกร่งของ OR ที่ว่า “Empowering All toward Inclusive Growth” หรือ “เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน” และมุ่งผลักดัน OR ให้ทะยานไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน รวมทั้งเป้าหมายในการขับเคลื่อนองค์กรที่เรียกว่า “OR 2030 Goals” ซึ่งครอบคลุมทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้พร้อมจะนำพา OR บรรลุเป้าหมายได้อย่างแน่นอน
และที่สำคัญคือ “กลยุทธ์ 3R” ที่ OR กำหนดขึ้น ก็ถือเป็นพลังขับเคลื่อนชั้นดีที่จะทำให้ OR เป็นองค์กร Net Zero ได้สำเร็จตามเป้าหมายและวันเวลาที่ตั้งไว้
โดยที่ R ตัวแรก ได้แก่ “Reduce” ซึ่งให้ความสำคัญกับการลดลดก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเอง (Own Greenhouse Gas Emissions) โดยที่ผ่านมา OR ได้มุ่งเน้นส่งเสริมเพิ่มสัดส่วนในการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และปัจจุบันก็มีการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในองค์กรสะสมรวมกันสูงถึง 65,918 จิกะจูล (GJ)
ซึ่งผลลัพธ์ดี ๆ ดังกล่าวเกิดมาจากปัจจัยหลายส่วนด้วยกัน ทั้งการติดตั้ง Solar Rooftop ในสถานสถานประกอบการของ OR 14.46 MWp , การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) ในพื้นที่สำนักงานพระโขนง ศูนย์ธุรกิจไลฟ์สไตล์ และโรงงานซ่อมบำรุงและบรรจุก๊าซหุงต้ม จ. สงขลา อีกทั้งยังได้ซื้อใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (REC) มาใช้ จำนวน 2,875 REC (Renewable Energy Certificate) ส่งผลให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 8,791 tCO2/ปี
ขณะที่ R ตัวที่ 2 ได้แก่ “Remove” (Residual Greenhouse Gas Emissions) หรือกักเก็บคาร์บอนด้วยธรรมชาติโดยการปลูกป่าร่วมกับกรมป่าไม้และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง 10,000 ไร่ภายในปี 2030 โดยปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่า 9,600 ไร่ รวมถึงการพัฒนาและขอการรับรอง Carbon Credit จากโครงการ Green Travel with Biofuel ที่ส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพและโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาจำนวน 50 พื้นที่ โดยคิดเป็น Carbon Credit ที่คาดว่าจะได้รับกว่า 10,000 tonCO2/ปี
ส่วน R ตัวที่ 3 ได้แก่ “Reinforce” ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การขยายสัดส่วนธุรกิจและการลงทุนในธุรกิจที่เป็น “กรีน” มากยิ่งขึ้น (GREEN Portfolio of business and Investment) ซึ่งในส่วนนี้ OR ได้ทำสำเร็จไปแล้วหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการขยาย EV Station PluZ ครอบคลุม 77 จังหวัด รวม 2,391 หัวชาร์จ (DC Connector) รวมทั้งการติดตั้ง Solar Rooftop ให้กับดีลเลอร์และลูกค้า ทั้งในและนอกสถานีบริการ PTT STATION โดยติดตั้ง Solar Rooftop ไปแล้วกว่า 19.40 MWp
ขณะเดียวกัน OR ยังได้พัฒนาสถานีบริการ PTT STATION Flagship วิภาวดี 62 เพื่อเป็นต้นแบบสถานีบริการที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% สะท้อนแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในแบบฉบับของโออาร์ หรือ OR SDG (OR Sustainable Development Goals) โดยสถานีนี้สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 533 tonCO2/ปี
และที่น่าสนใจอย่างมากคือการนำนวัตกรรม EV มาใช้ในการขนส่ง ในโครงการทดลองการขนส่งเมล็ดกาแฟดิบ จาก อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ มายัง อ.วังน้อย จ.อยุธยา โดยยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ (EV Truck) หรือ Green Logistics for Café Amazon Project ซึ่งหากได้ผลดีจะมีการขยายการดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ OR ยังให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด เช่น เริ่มให้มีสถานีสลับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าใน PTT Station กว่า 24 สาขา , การเปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง ที่จังหวัดชลบุรี และทดสอบเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ให้กับสายการบิน
ทั้งหมดที่กล่าวมา สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของ OR ที่พร้อมจะร่วมเป็นพลังสังคมในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย Net Zero ตามเป้าหมายของสหประชาชาติ ซึ่งสุดท้ายแล้ว นอกจากผลดีที่จะเกิดขึ้นกับการดำเนินธุรกิจ ยังเป็นการช่วยดูแลโลก ดูแลสังคม รวมทั้งสิ่งแวดล้อม เพื่อการดำรงอยู่และเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน