xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นเอเชียปรับบวก นลท.คาดเงินเฟ้อสหรัฐฯ ต่ำหนุนเฟดหั่นดอกเบี้ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ตลาดหุ้นเอเชียเปิดบวกในวันนี้ โดยปรับตัวตามทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาด ขณะที่นักลงทุนประเมินตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่นที่หดตัวลงในไตรมาส 1/2567

ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวเปิดที่ระดับ 38,645.96 จุด เพิ่มขึ้น 260.23 จุด หรือ +0.68% ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนเปิดที่ระดับ 3,127.18 จุด เพิ่มขึ้น 7.28 จุด หรือ +0.23% และดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดที่ระดับ 19,262.79 จุด เพิ่มขึ้น 189.08 จุด หรือ +0.99%

ส่วนดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ดีดตัวขึ้น 1.49% และดัชนี S&P/ASX 200 ปรับตัวขึ้น 0.59%

กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้น 3.4% ในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.5% ในเดือน มี.ค.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือน เม.ย. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.4% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน มี.ค.

ดัชนี CPI ที่ต่ำกว่าคาดทำให้นักลงทุนมีความหวังว่าเฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่าขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 75.3% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 65.1% ในการสำรวจเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยการประมาณการเบื้องต้นในวันนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หดตัวลง 2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งย่ำแย่กว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดว่าจะหดตัวลงเพียง 1.5%

เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ของญี่ปุ่นหดตัวลง 0.5% ซึ่งย่ำแย่กว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะหดตัว 0.4%

การหดตัวของ GDP ญี่ปุ่นมีสาเหตุมาจากการอุปโภคบริโภคและอุปสงค์ในต่างประเทศที่อ่อนแอลง ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่ในช่วงเวลาที่ BOJ กำลังพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น