นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เครดิตบูโร) โพสต์ในเฟซบุ๊ก Surapol Opassatien ถึงรายงานสินเชื่อบ้านไตรมาสที่ 1/2567 จากข้อมูลสถิติของเครดิตบูโร 'ในไตรมาสที่ 1/2567 เครดิตบูโรเห็นอะไรจากข้อมูลที่สมาชิกสถาบันการเงินส่งเข้ามาในระบบ'
1.บรรยากาศที่พบเจอกันในการยื่นขอสินเชื่อบ้านจะพบว่ามีเสียงอื้ออึงว่าถูกปฏิเสธสูงมาก เรียกได้ว่า 100 ใบสมัครผ่านการพิจารณาเบื้องต้น 50 ใบ เหตุเพราะมีการตรวจประเมินรายได้เข้มข้น เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ขอกู้มีศักยภาพ คำว่าศักยภาพมันต้องมีรายได้แน่นอน มั่นคง เพียงพอ สม่ำเสมอ เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ว่าลูกหนี้จะต้องมีความสามารถในการชำระหนี้ตามตารางการชำระหนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง ตรวจรายได้เสร็จไปตรวจเครดิตบูโรตต่อว่ามีหนี้มากแค่ไหน มีประวัติการค้างชำระหรือไม่ เพื่อประเมินความตั้งใจในการชำระหนี้ เพราะมันเป็นไปตามกฎว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา
2.ภาพต่อไปคือบัญชีที่เปิดใหม่ของสินเชื่อบ้านในแต่ละปีมีกี่มากน้อย และคนวัยไหนเป็นผู้ได้สินเชื่อ พบว่าส่วนใหญ่คือ Gen Y ครับ สัดส่วนสูงขึ้นทุกๆ ปี มี่สำคัญคือ วงเงินสินเชื่อบ้านระดับที่ไม่เกิน 3 ล้านบาทน่าจะเป็นกลุ่มหลัก
3.เมื่อเราดูตารางการเปิดบัญชีใหม่ของสินเชื่อบ้านในแต่ละปีจะพบว่าปี 2018 หรือ 2561 มีจำนวนเกินกว่า 4.3 แสนบัญชี ปีก่อนโควิดอยู่ที่ระดับ 3.7 แสนบัญชี ปีที่แล้วอยู่ที่ 3.3 แสนบัญชี ไตรมาสแรกของปีนี้ได้เพียง 5.9 หมื่นบัญชี ดูแล้วมันมีแต่แผ่วลง ซึ่งฝั่งผู้ประกอบการต่างบ่นกันมากเรื่องขายได้ยาก กู้ไม่ผ่าน ขอเหลือมาก อยากให้ลดเงื่อนไข เช่น LTV หลังที่สองหลังที่สาม แต่ยังไม่มีเสียงตอบรับที่ปลายสาย เป็นต้น
4.-5.ต่อมาคือสถานการณ์ในภาพรวมของสินเชื่อบ้านครับ ส่วนที่พุ่งขึ้นคือหนี้บ้านที่เคยเป็น NPLs แล้วมีการนำมาปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา (หนี้ทำ TDR) ภาพมันบอกว่าปรับกันมาก เส้นสีแดงคือหนี้เสียครับ ไตรมาสนี้มีการยกตัวขึ้นมาอยู่ที่ 2.0 แสนล้านบาทเติบโต 18%yoy สัดส่วนในหนี้เสียรวม (1.09 ล้านล้านบาท) ประมาณ 20% ถือว่าไม่น้อยนะครับ เส้นสีเหลืองคือหนี้บ้านที่เริ่มค้างชำระแต่ยังไม่เลย 90 วัน เรียกหนี้ตรงนี้ว่าหนี้กำลังจะเสียหรือ SM มันมาหยุดที่ 1.8 แสนล้านบาทเติบโต 15%yoy ดีขึ้นกว่า Q4/2566 ที่เติบโต 31%yoy ที่สำคัญคือ 1.2 แสนล้านบาทอยู่ในความดูแลขอแบงก์รัฐครับ การปรับโครงสร้างหนี้จะมีความยืดหยุ่น ผ่อนปรน ไม่ขึงตึงเท่าทางฝั่งเอกชนครับ ท่านจะดูเป็นยอดเงิน จำนวนบัญชี หรือเป็น % ก็ตามสะดวกนะครับ
6.เป็นการขยายความเพิ่มครับ กราฟแท่งสีแดงคือหนี้ที่ค้างเกิน 90 วันหรือหนี้เสียของสินเชื่อบ้าน แท่งสีเหลืองคือหนี้กำลังจะเสียหรือ SM สินเชื่อบ้าน กราฟแทงด้านซ้ายคือจำนวนบัญชีแยกตามช่วงวัยของ Generation ในแต่ละไตรมาสครับ เช่น ไตรมาส 1 ปี 2567 Gen Y ถือสัญญาสินเชื่อบ้านที่เป็น NPL เท่ากับ 83,281 สัญญา คิดเป็นเงิน 1.24 แสนล้านบาท ในกรณีของ SM บ้านที่อยู่ในมือคน Gen Y ช่วงเวลาเดียวกันนี้มีจำนวน 76,276 สัญญา คิดเป็นเงิน 1.18 แสนล้านบาท
คิดแบบเร็วๆ ครับ คน Gen Y เป็นหนี้เสียบ้านกว่า 50% ของหนี้เสียบ้านทั้งหมด(1.24/2.0 แสนล้านบาท) และกว่า 50% อีกเหมือนกันที่คน Gen Y เป็นหนี้กำลังจะเสียส่วนใหญ่ (1.18/1.8 แสนล้านบาท) คนวัยกำลังทำงานจะไปต่ออย่างไรในบรรยากาศเศรษฐกิจโตต่ำ มีปัญหาให้แก้แทบทุกด้าน จะเป็นหลานอาม่าในวันนี้มันไม่ง่ายเหมือนในหนังที่มีคนรุ่นก่อนเก็บเงินไว้ให้นะครับ ชีวิตจริงกับในหนังมันแตกต่างกันพอสมควร
7.ผมขอเสนอภาพความรู้สึก การประเมิน และข่าวร้ายๆ เเกี่ยวกับคนที่เป็นลูกหนี้ว่าในสภาพที่รุมเร้าแบบนี้ ทางออกของใครบางคนมันไม่พึงประสงค์ แต่คนเรานะครับ เมื่อมันสุดของสุด การตัดสินใจแบบนี้เราอาจจะเห็นมากขึ้น ได้แต่ภาวนาว่าอย่าเป็นเช่นนั้นเลย อันนี้มาจากภาพข่าวของสื่อ
ภาพที่เหลือคือขอเชิญชวนทุกๆ ท่านไปฟังการบรรยายหนี้ครัวเรือนไทยและการแก้ไขปัญหาในมุมมองของคนที่รับผิดชอบโดยตรงคือวิทยากรจากแบงก์ชาติ ในงาน Money expo ที่เมืองทองธานีในวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 นี้นะครับ ไปฟัง ไปถามครับว่าเราจะทำอย่างไรถ้าเราคือคนที่มีปัญหาการค้างชำระหนี้บ้านในเวลานี้
แต่งงานในเวลาที่เหมาะสม แต่งกับงานที่สร้างรายได้ให้ทันกับค่าใช้จ่าย กู้บ้านกู้รถเอาตามความเหมาะควรของตัวเรา อย่าไปเอามาตรฐานที่คนอื่นมาบอกว่าเราควรทำอย่างไร เพราะบางครั้งคนที่บอกให้เราทำอย่างไร เขาคนนั้นอาจจะยังไม่รอดจากความอยากของตัวเขาเองอยู่เลย กระเป๋าใครกระเป๋ามัน สำหรับตัวผมได้แต่บอกว่า ถ้าคิดจะมีลูกกันในปี พ.ศ. นี้ คิดกันเยอะๆ คิดกันให้มาก คิดแล้วคิดอีก "การไม่มีลูก อาจเป็นลาภอันประเสริฐ" ในช่วงเวลาที่ยังมี Long covid-19 ด้านการเงินอย่างในเวลานี้นะครับ ลองไตร่ตรองดูครับ