xs
xsm
sm
md
lg

#iBusinessReview : ส่องสนามบินโกตาบารู ใกล้ชายแดนนราธิวาส อนาคตท่าอากาศนานาชาติในมาเลเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



1 พฤษภาคม 2567 บริษัท มาเลเซีย แอร์พอร์ต โฮลดิ้ง เบอร์ฮัด (MAHB) ผู้บริหารท่าอากาศยานหลักในประเทศมาเลเซีย เปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานสุลต่านอิสมาอิล เปตรา หรือท่าอากาศยานโกตาบารู (KBR) รัฐกลันตัน ระยะที่ 1 รองรับผู้โดยสารได้ 1.5 ล้านคนต่อปี ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 440 ล้านริงกิต หรือประมาณ 3,400 ล้านบาท

สิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ เคาน์เตอร์เช็กอิน 20 ช่อง อาคารจอดรถ ช่องทางเฉพาะรถแท็กซี่ อาคารดับเพลิงและกู้ภัย ลานจอดเครื่องบินเพิ่มเติม ประตูขึ้นเครื่อง 6 ประตู ได้แก่ ประตูที่ 6-7-8 เป็นสะพานเทียบเครื่องบิน (Aerobridge) ส่วนประตูที่ 9-10-11 เป็นทางเดินไปยังลานจอดเครื่องบิน หากก่อสร้างระยะที่ 2 แล้วเสร็จ จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 4 ล้านคนต่อปี

ที่ตั้งของท่าอากาศยานโกตาบารู ห่างจากหอนาฬิกาตัวเมืองโกตาบารูประมาณ 9 กิโลเมตร ห่างจากด่านเป็งกาลันกูโบ (ตรงข้าม อ.ตากใบ จ.นราธิวาส) ประมาณ 35 กิโลเมตร และด่านรันเตาปันจัง (ตรงข้าม อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส) 47 กิโลเมตร


ความสำคัญของท่าอากาศยานแห่งนี้ เป็นจุดเชื่อมต่อการคมนาคมทางอากาศ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรมลายู มีเที่ยวบินให้บริการไปยังปลายทางกัวลาลัมเปอร์ ปีนัง ยะโฮร์บารู และโคตาคินาบาลู ให้บริการวันละ 30-35 เที่ยวบิน โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีผู้มาใช้บริการมากถึง 1,583,288 คน แม้จะน้อยกว่าเมืองหลวง และเมืองที่อยู่ทางฝั่งเกาะบอร์เนียวก็ตาม

เมื่อวันก่อน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม เยี่ยมชมอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ระบุว่า รัฐบาลกลางมาเลเซียตอบรับที่จะขยายทางวิ่ง (Runway) เพิ่มอีก 400 เมตร จากเดิม 2,400 เมตร เป็น 2,800 เมตร ตามที่มุขมนตรีรัฐกลันตันร้องขอ เพื่อรองรับการเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ นำผู้แสวงบุญบินตรงจากเมืองโกตาบารู ไปยังเมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย

ประเทศมาเลเซียมีสนามบินนานาชาติ 5 แห่ง ได้แก่ กัวลาลัมเปอร์ ปีนัง ลังกาวี กูชิ่ง และโคตาคินาบาลู แต่ท่าอากาศยานสุลต่านอิสมาอิล เปตรา เป็นสนามบินในประเทศ (Domestic) ซึ่งมีแผนเปิดให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศปลายปี 2567

ภาพ : Anwar Ibrahim
ก่อนหน้านี้ นายคามารุซซามาน ราซาลี ผู้จัดการทั่วไปอาวุโสของบริษัท มาเลเซีย แอร์พอร์ตฯ เปิดเผยผ่านสื่อมาเลเซีย ว่า แม้ว่าอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่การเปิดให้บริการเป็นไปอย่างราบรื่น สิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่างได้รับการปรับปรุงในอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ โดยเฉพาะสะพานเทียบเครื่องบินซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3 จุด เป็น 8 จุด

อีกทั้งยังรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งเตรียมความพร้อมแล้ว แต่รอโอกาสหารือเพิ่มเติม แม้ปัจจุบันยังไม่ได้กำหนดให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติ แต่จะเกิดขึ้นได้หากมีเที่ยวบินระหว่างประเทศแบบกำหนดเวลา เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ โดยจะหารือเบื้องต้นกับกระทรวงการท่องเที่ยว และรัฐบาลของรัฐกลันตัน ในการเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศจากรัฐกลันตันแห่งนี้

รายงานข่าวเพิ่มเติมจากสื่อมาเลเซีย ระบุว่า หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุมัติให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติ จะขยายเส้นทางบินแบบประจำไปยังประเทศสิงคโปร์ ไทย และอินโดนีเซีย

ภาพ : Malaysia Airports
เมื่อเปรียบเทียบกับท่าอากาศยานในประเทศไทย พบว่า ท่าอากาศนราธิวาส (NAW) ของกรมท่าอากาศยาน ในปี 2566 มีเที่ยวบินรวม 1,480 เที่ยวบิน ผู้โดยสารรวม 224,423 คน ส่วนท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ (HDY) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในปี 2566 มีเที่ยวบินรวม 20,956 เที่ยวบิน ผู้โดยสารรวม 3,198,049 คน และน้ำหนักสินค้า 3,302 ตัน

เมื่อสำรวจลักษณะทางกายภาพของท่าอากาศยานนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดติดกับรัฐกลันตัน พบว่าปัจจุบันมีเที่ยวบินให้บริการวันละ 4 เที่ยวบิน (ไป-กลับ) เส้นทางดอนเมือง-นราธิวาส ของสายการบินแอร์เอเชียเท่านั้น จะคึกคักในช่วงที่มีเที่ยวบินพิเศษส่งผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ที่ท่าอากาศยานมาดีนะห์ (MED) ประเทศซาอุดิอาระเบีย เช่นเดียวกับท่าอากาศยานหาดใหญ่

ภาพ : Anwar Ibrahim
แม้รัฐกลันตันมีชายแดนติดต่อกับจังหวัดนราธิวาสของไทย มีการติดต่อค้าขายตามแนวชายแดน แต่เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการค้าชายแดน อีกทั้งรัฐกลันตันเป็นรัฐอนุรักษ์นิยมที่เคร่งครัดในศาสนาอิสลาม แต่ก็มีความพยายามเปลี่ยนจากเมืองเกษตรกรรมเป็นเมืองกึ่งอุตสาหกรรม เพื่อหลุดพ้นจากความยากจน

รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์กับประเทศไทย เชิญชวนนักลงทุนมามาลงทุนในรัฐกลันตัน โดยเฉพาะจังหวัดภาคใต้ของไทย มีแนวคิดขยายความร่วมมือกับจังหวัดนราธิวาสในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการเกษตร ด้านการท่องเที่ยว โดยมีแนวคิดผนวกรัฐกลันตันและจังหวัดนราธิวาสไว้ในโปรแกรมท่องเที่ยว ด้านวัฒนธรรม และด้านการคมนาคมขนส่ง


น่าสนใจว่า การพัฒนาท่าอากาศยานโกตาบารู ให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติ อาจเป็นสะพานไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ จากเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐอิสลาม และมีประชากรมากเป็นอันดับ 4 บนคาบสมุทรมาเลเซีย และจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยอาจได้อานิสงส์เป็นทางเลือกในการเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์และอินโดนีเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น