การแข่งขันธุรกิจรถทัวร์สาย 21 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา เดิมมีผู้ประกอบการ 4 เจ้า ได้แก่ แอร์โคราชพัฒนา ที่มีจำนวนเที่ยวมากที่สุด, นครชัย 21 ของตระกูลวงศ์เบญจรัตน์, เชิดชัย โคราช วีไอพี ของอัสนี เชิดชัย ทายาทสุจินดา เชิดชัย หรือเจ๊เกียว และ เน็กซ์เอ็กซ์เพรส ล่าสุดมีผู้ประกอบการรถทัวร์รายใหญ่ บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด ให้บริการไปยังจังหวัดนครราชสีมาด้วย
ลักษณะการให้บริการ เป็นการนำรถสายยาวบางเที่ยวเวลา แวะส่งผู้โดยสารที่สถานีขนส่งนครราชสีมาแห่งที่ 2 (บขส.ใหม่) ก่อนออกไปยังปลายทาง เรียกว่า "รถผ่าน" แต่จากเดิมต้องซื้อตั๋วในวันเดินทาง 1 ชั่วโมงก่อนรถออก เปลี่ยนเป็นซื้อตั๋วล่วงหน้าได้สูงสุด 120 วัน คิดค่าโดยสาร 271 บาท แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น ค่าโดยสาร 232 บาท หรือต่างกัน 39 บาท
เมื่อวันก่อน Ibusiness review ได้มีโอกาสทดลองใช้บริการ พบว่ามีรถให้บริการวันละ 14 เที่ยว รอบเช้าสุดคือ 08.45 น. ใช้รถสาย 937 กรุงเทพฯ-สุรินทร์-สนม แวะรับผู้โดยสารที่หมอชิต 2 และนครชัยแอร์ รังสิต ที่นั่งเป็นแบบเบาะนวดไฟฟ้า พร้อมหน้าจอสื่อความบันเทิง ส่วนของแจกเนื่องจากเดินทางระยะสั้น จึงมีเพียงแค่น้ำดื่ม ขนม และผ้าเย็นแจกขณะรถถึงตลาดเซฟวัน
ถึงสถานีขนส่ง บขส.ใหม่นครราชสีมา เวลา 13.15 น. เบ็ดเสร็จใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง 30 นาที แม้จะช้ากว่ารายอื่นที่ถึงโคราช 3 ชั่วโมง 45 นาที รวมทั้งของแจกไม่ต่างกัน แต่ที่นั่งกว้างขวางสบายกว่า
ปัจจุบัน นครชัยแอร์ สาขานครราชสีมา ให้บริการรถโดยสารและส่งพัสดุ ปลายทางกรุงเทพฯ กาฬสินธุ์ นครพนม ศรีสงคราม ขอนแก่น อุดรธานี สกลนคร บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ชลบุรี พัทยา และระยอง นอกจากนี้ยังเปิดสาขาสีดา เป็นสาขาที่ 2 ในจังหวัด และกำลังพัฒนาเส้นทางใหม่ ขอนแก่น-นครราชสีมา ไปเชื่อมกับ นครราชสีมา-พัทยา-ระยอง อีกด้วย
ในอดีตที่ผ่านมา เส้นทางนครราชสีมา นครชัยแอร์จะให้ความสำคัญกับรถหมวด 3 สายอุบลราชธานี-พัทยา-ระยอง ส่วนสายอีสาน รถส่วนใหญ่จะใช้เส้นบายพาส หรือถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา โดยมีจุดจอดผ่อนผันบริเวณตลาดเซฟวัน ส่วนรถที่จะแวะสถานีขนส่ง บขส.ใหม่นครราชสีมา มีเป็นบางเที่ยว และต้องลุ้นว่าจากต้นทางออกมาแล้วมีที่นั่งเหลือหรือไม่
กระทั่งวันที่ 6 มีนาคม 2567 นครชัยแอร์ให้บริการผู้โดยสารที่จะเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปนครราชสีมา เริ่มจากเที่ยวไป กรุงเทพฯ-นครราชสีมา มี 4 เที่ยว และนครราชสีมา-กรุงเทพฯ มี 1 เที่ยว ปรากฎว่ากระแสตอบรับดี จึงเพิ่มเที่ยวรถกรุงเทพฯ-นครราชสีมาเป็น 9 เที่ยว และนครราชสีมา-กรุงเทพฯ เป็น 7 เที่ยว และบางเที่ยวเป็นชั้น First Class ราคาสูงกว่า
น่าสนใจว่าเหตุที่นครชัยแอร์เพิ่มทางเลือกไปยังนครราชสีมา อาจเป็นเพราะที่ผ่านมาถ้าไม่ใช่ช่วงเทศกาล ผู้คนเดินทางด้วยรถทัวร์น้อยลง เพราะมีคู่แข่งอย่างสายการบินต้นทุนต่ำ อีกทั้งหากไม่รับผู้โดยสารรายทาง ที่นั่งว่างคือต้นทุนที่ผู้ประกอบการเดินรถต้องแบกรับ แถมหากเป็นรถหมวด 2 (รถร่วม บขส.) ต้องแบ่งค่าธรรมเนียมให้กับ บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. อีกด้วย
การเพิ่มจุดจอดนครราชสีมา จึงเป็นการบริหารจัดการที่นั่ง ในกรณีที่รถทัวร์มีที่นั่งเหลืออยู่ ก็สามารถรับผู้โดยสารระหว่างทางเพื่อให้มีรายได้อีกทางหนึ่ง แทนที่จะปล่อยให้ที่นั่งว่าง หรือการเพิ่มสาขาใหม่ เป็นทั้งจุดขึ้นรถและจุดรับส่งพัสดุ เข้าถึงระดับตัวอำเภอและชุมชนระหว่างเส้นทางเดินรถมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวก ไม่ต้องไปขึ้นรถไกลถึงสถานีขนส่งในตัวจังหวัด
ปัจจุบันแต่ละสาขา มีไลน์สำหรับติดต่อสอบถามข้อมูล เช็กเที่ยวเวลา และจองตั๋วก่อนมาที่สาขาได้เลย ช่วยวางแผนการเดินทางล่วงหน้า ลดโอกาสในการพลาดตั๋วโดยสาร ในกรณีที่วอล์กอินไปสาขาแล้วพบว่าตั๋วเต็ม
ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ การเปิดสาขาสีดา ห่างจากจังหวัดนครราชสีมา 80 กิโลเมตร ชาวอำเภอสีดา บัวใหญ่ บัวลาย ประทาย เมืองยาง และใกล้เคียง ขึ้นรถไปกรุงเทพฯ ได้ หรือจะต่อรถหมวด 3 จากอุบลราชธานีและศรีสะเกษ ไปยังจังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดทางภาคเหนือ ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เด่นชัย พะเยา แม่ใจ พาน เชียงราย ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่
ขณะที่ สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดขอนแก่นแห่งที่ 3 จ.ขอนแก่น นครชัยแอร์ติดป้ายว่า "เดินทางไปนครราชสีมา ไปชลบุรี ไปพัทยา ไประยอง ได้แล้ว" โดยนั่งรถสองต่อ ออกจากขอนแก่น ถึงนครราชสีมา แล้วต่อด้วยรถจากบุรีรัมย์ ขึ้นที่นครราชสีมา ไปชลบุรี พัทยา และระยอง ซึ่งมีเที่ยวเวลาสอดคล้องกันอยู่ หากผลตอบรับดี อาจมีรถสายยาวจากขอนแก่นไประยองก็เป็นได้
นับเป็นอีกกลยุทธ์ของผู้ประกอบการเดินรถรายใหญ่ของไทย ที่พัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงถึงกันระหว่างภูมิภาค โดยมีจังหวัดนครราชสีมาเป็นฮับ แบบไม่ต้องอ้อมไปถึงกรุงเทพฯ เพื่อไปต่อรถอีกทางหนึ่ง