xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ก.ส.-ธพว.ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ลง 0.25% หนุนการฟื้นตัวกลุ่มเปราะบาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส. ตระหนักถึงความจำเป็นในการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและแนวทางที่สอดคล้องกับสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ จึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ลงร้อยละ 0.25 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้เกษตรกรลูกค้ากลุ่มเปราะบางและ SMEs ที่ประสบปัญหาในการผลิต จนทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงลูกหนี้ NPLs ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยมีลูกค้าที่จะได้รับประโยชน์กว่า 1.2 ล้านบัญชี ทั้งนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และสนับสนุนการฟื้นตัวของลูกค้าในช่วงภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง โดยมีผลตั้งแต่ 1 พ.ค.-31 ต.ค. 67

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ให้เกษตรกรที่มีหนี้รวมต้นเงินคงเหลือทุกสัญญา ณ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งมีผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application ของ ธ.ก.ส. BAAC Mobile ถึง 1.85 ล้านราย ต้นเงินกว่า 257,000 ล้านบาท โดยในจำนวนลูกค้าที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเงินกู้แล้วกว่า 1.39 ล้านราย หรือกว่าร้อยละ 90 ของผู้แจ้งความประสงค์ร่วมมาตรการ และในจำนวนนี้มีลูกค้าที่แสดงความประสงค์เข้าหลักสูตรการฟื้นฟูศักยภาพในการประกอบอาชีพภายใต้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” แล้วจำนวน 1.3 แสนราย โดยธนาคารจะดำเนินการฟื้นฟูอาชีพให้ลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ให้ได้จำนวน 3 แสนรายภายในเดือนกันยายน 2567 นอกจากนี้ ยังเตรียมขยายมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยผ่านโครงการพักชำระหนี้ เฟส 2 เร็วๆ นี้

ด้านนายประสิชฌ์ วีระศิลป์ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เผยว่า ธนาคารพร้อมขานรับนโยบายรัฐบาลโดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.25% ต่อปี จากเดิม 8.05% ต่อปี ลดลงเหลือ 7.80% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อีกทั้งช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมในช่วงที่ยังมีปัจจัยท้าทายจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ

นอกจากนี้ SME D Bank ยังมีบริการ “เติมทุนคู่พัฒนา” ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลดภาระค่าใช้จ่าย และมีสภาพคล่องเพียงพอ รวมถึงเสริมศักยภาพธุรกิจให้แข็งแกร่งสามารถปรับตัวเดินหน้าธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน โดย “ด้านการเงิน” ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ เช่น สินเชื่อ “SME Refinance” ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ลดต้นทุนการเงิน ผ่อนหนักเป็นเบา เดินหน้าธุรกิจได้ต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยคงที่ ปีแรกเพียง 2.99% ต่อปี วงเงินกู้ 5-50 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุดถึง 15 ปี และปลอดชำระเงินต้น 12 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น