xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” ลั่นลดค่าทางด่วน 50 บาทตลอดสายทำจริง ส.ค.นี้ กทพ.เจรจา BEM นำร่อง 'งามวงศ์วาน-พระราม 9' แลกขยายสัญญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



'สุริยะ' ลดค่าทางด่วนทำได้ใน ส.ค.นี้ นำร่องงามวงศ์วาน-พระราม 9 จาก 90 บาทเหลือ 50 บาท ลดภาระค่าเดินทางให้ประชาชนและแก้จราจร เร่งเจรจาเอกชนลงทุน Double Deck แลกขยายสัมปทาน กทพ.เฉือนเนื้อลดส่วนแบ่งรายได้ พร้อมสั่งโละไม้กั้นช่อง Easy Pass เพิ่มความเร็ว เบรกด่าน M Flow ไปก่อน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ตนได้ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา และได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนทางพิเศษ (ทางด่วน) ในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมถึงการปรับปรุงระบบค่าผ่านทางเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนลง เนื่องจากอัตราค่าผ่านทางด่วนปัจจุบันหากต้องเดินทางระยะยาวและผ่านหลายด่าน พบว่า ประชาชนต้องจ่ายสูงกว่า 100 บาท

ล่าสุด กทพ.ได้รายงานว่าอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับ สนข. และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้รับสัญญาสัมปทานบริหารทางด่วน ในการพิจารณาปรับโครงสร้างลดอัตราค่าผ่านทางฯ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการใช้ทางด่วนให้กับประชาชน โดยได้นำผลการศึกษาการแก้ปัญหาจราจรเมื่อปี 2565 มาศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งพบว่า ในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการใช้นโยบายนี้กับระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร (กม.) เนื่องจากมีผู้ใช้ทางเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบันตั้งแต่ งามวงศ์วานจะมีด่านประชาชื่น ด่านอโศก และด่านศรีนครินทร์ เสียค่าผ่านทาง 25-90 บาท สำหรับอัตราค่าผ่านทางใหม่ที่มีการปรับลดลงนั้น เริ่มต้นที่ 25 บาท และสูงสุดไม่เกิน 50 บาท โดยจะมีการยกเลิกด่านประชาชื่น (ขาออก) และด่านอโศก (ขาออก) ซึ่งมีปริมาณรถหนาแน่น ซึ่งจากเดิมมีค่าผ่านทาง 25 บาท ทำให้เหลือ 0 บาท ส่วนด่านประชาชื่น (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 65 บาท เหลือ 50 บาท ขณะที่ ด่านอโศก (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 50 บาท เหลือ 25 บาท และด่านศรีนครินทร์ (ขาเข้า) จ่ายเงินทางขึ้น 25 บาท อย่างไรก็ตาม กทพ.และ BEM จะเร่งหารือ ให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน โดยกระทรวงคมนาคม คาดหมายว่าจะให้เกิดเป็นรูปธรรมปฎิบัติได้จริงได้ภายในสิ้นเดือน ส.ค. 2567 นี้


สำหรับแนวทางในการเจรจาปรับละค่าผ่านทาง สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 เหลือ 50 บาทนั้น กทพ.จะมีการเจรจา ขยายสัญญาสัมปทานให้กับ BEM ระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ที่จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 ตุลาคม 2578 พร้อมกันนี้ กทพ.จะพิจารณาการแบ่งสัดส่วนรายได้กับเอกชนใหม่ ซึ่งในส่วนนี้ อาจทำให้ กทพ. มีรายได้จากส่วนแบ่งค่าผ่านทางลดลง แต่ทั้งนี้เพื่อนำไปชดเชยให้กับผู้รับสัมปทานในกรณีที่มีการลดค่าผ่านทางเหลือ 50 บาทด้วย จากปัจจุบัน กทพ. มีสัดส่วน 60% ผู้รับสัมปทานสัดส่วน 40%

นอกจากนี้ BEM จะต้องรับภาระในการลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) ระยะทางประมาณ 17 กม.วงเงินลงทุนประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีปัญหาจราจรติดขัดอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน มี ปริมาณจราจรเฉลี่ยกว่า 400,000 คัน/วัน เดินความจุ ที่รองรับได้ประมาณ 300,000 คัน/วัน จึงจำเป็นต้องสร้างทางด่วนชั้นที้ 2 เพื่อเพิ่มพื้นผิวจราจรบนทางด่วน

“กระทรวงคมนาคมมีนโยบายชัดเจนในการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และพยายามทำให้เห็นผลเร็วที่สุด ซึ่งการแก้ปัญหาค่าทางด่วนแพง เป้าหมายแรก จะนำร่องที่เส้นทางนี้ก่อน ลดค่าทางวด่วนเหลือสูงสุดไม่เกิน 50 บาท หรือ 50 บาทตลอดสาย เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้ทางด่วนให้กับประชาชน” นายสุริยะกล่าว


นายสุริยะกล่าวว่า สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อ กทพ.หารือร่วมกับ สนข.และ BEM จนได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือนนับจากนี้ กทพ.จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.พิจารณาเห็นชอบแนวทางการปรับลดค่าผ่านทาง ซึ่งจะรวมไปถึงที่ BEM เป็นผู้ลงทุนโครงการ Double Deck และการขยายสัญญาสัมปทาน, การปรับสัดส่วนรายได้ จากนั้นจะเสนอไปยังคณะกรรมการ มาตรา 43 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562 พิจารณาเห็นชอบรายละเอียดการแก้ไขสัญญาฯ

ทั้งนี้ เมื่อผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการมาตรา 43 แล้วจะส่งร่างสัญญา ที่มีการปรับแก้ไขแล้วต่อไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อตรวจร่างสัญญา จากนั้นจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบการแก้ไขสัญญา และเสนอไปยังคณะกรรมการร่วมทุนรัฐและเอกชน (PPP) เห็นชอบ ก่อนเสนอไปคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งคาดว่าทั้งหมดจะดำเนินการได้เรียบร้อยภายในเดือนสิงหาคม 2567 เพื่อเร่งประกาศใช้ค่าผ่านทางสูงสุดไม่เกิน 50 บาทโดยเร็ว


@สั่งโละไม้กั้นช่อง Easy Pass เพิ่มความรวดเร็ว เบรกด่าน M Flow

นายสุริยะกล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้มีนโยบายให้ กทพ.ส่งเสริมการใช้งานบัตร Easy Pass โดยเพิ่มสมาชิกบัตรให้มากขึ้น ทั้งเพิ่มช่องทางการจำหน่ายบัตร และการเติมเงิน Easy Pass ให้สะดวกขึ้น เช่น การจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ ขณะเดียวกัน จะมีการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ Easy Pass ให้ได้รับความสะดวกสบายและรวดเร็วในการเดินทาง โดยการยกไม้กั้นออก และจะมีการเพิ่มช่อง Easy pass มากขึ้น ส่วนระบบ M Flow นั้นเป็นเเรื่องการใช้ทางด่วนก่อน แล้วจ่ายทีหลัง ซึ่งพบว่า อาจมีปัญหาเรื่องการทวงเก็บค่าผ่านทางไม่ได้ จึงขอให้ส่งเสริมการใช้บัตร Easy Pass ที่มีปัญหาน้อยกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น