xs
xsm
sm
md
lg

สั่งย้ายท่าเรือคลองเตย...เขย่าทำเลทองกลางเมือง ยกเครื่องแผนพัฒนาที่ดิน 2,000 ไร่โจทย์ใหญ่ "รื้อชุมชน-คลังน้ำมัน"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



นับเป็นอีกความพยายามในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) จากข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ของการย้ายท่าเรือกรุงเทพออกจากคลองเตยโดยเร็ว และให้พิจารณาจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือคลองเตยของ กทท.ในส่วนที่ปัจจุบันยังเป็นพื้นที่ว่างหรือเป็นพื้นที่ที่สามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ เช่น ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาการจราจร ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง รวมถึงพิจารณาให้ครบวงจร ครอบคลุมถึงการย้ายคลังและโรงเก็บน้ำมันที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงด้วย

“มนพร เจริญศรี” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแลการท่าเรือฯ กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้หารือในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 ถึงกรณีการย้ายท่าเรือกรุงเทพ แต่ยังไม่ได้บอกว่าจะให้ย้ายท่าเรือกรุงเทพออกไปทั้งหมดเลย อีกทั้งยังมีหลายหน่วยงานได้แสดงความเห็นถึงข้อกังวลกรณีที่บริเวณท่าเรือมีโรงงานอุตสาหกรรมและโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งนายกฯ จึงหารือว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีมาตรการแนวทางที่จะย้ายท่าเรือกรุงเทพออกไปบางส่วน ย้ำว่าบางส่วน แล้วนำพื้นที่บางส่วนที่ย้ายออกไปพัฒนาเป็นสวนสาธารณะให้คนกรุงเทพฯ เป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา พื้นที่รกร้าง แหล่งเสื่อมโทรมบ้าง ชุมชนบุกรุก ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย

กระทรวงคมนาคมเตรียมตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ตามข้อสั่งการนายกฯ ต่อไป ขณะที่ในส่วนของการท่าเรือฯ มีผลการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพไว้เดิมก็จะนำมาพิจารณาประกอบกัน ซึ่งในระหว่างที่เตรียมแต่งตั้งคณะทำงานฯ กระทรวงฯ ได้มีการหารือกับกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง เพื่อเตรียมข้อมูลต่างๆ ไปบ้างแล้ว

ส่วนกรณีที่ กทท.เตรียมเปิดประกวดราคาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์จำนวน 2 แปลง ได้แก่ 1. ที่ดินพื้นที่ 17 ไร่ ติดอาคารสำนักงานของ กทท.(นอกรั้วศุลกากร) 2. ที่ดินพื้นที่ 15 ไร่ ข้างอาคารสำนักงานของ กทท.(นอกรั้วศุลกากร) บริเวณโกดังสเตเดียม เพื่อให้เอกชนเข้ามาพัฒนา รวมถึงโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) ก็คงต้องให้หยุดเพื่อรอดูคณะทำงานฯศึกษาทบทวนภาพรวมให้ครบถ้วนก่อน เพราะทุกพื้นที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาในภาพรวม ซึ่งภาวะปัจจุบันอาจเปลี่ยนแปลงและให้รอแผนใหญ่ชัดเจนก่อน


@ย้อนรอยแนวทางการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ

ท่าเรือกรุงเทพ เป็นท่าเรือแม่น้ำที่ได้มาตรฐานสากล สร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมการค้า การลงทุนและสนับสนุนธุรกิจ SMEs ก่อตั้งเมื่อปี 2494 มีความยาว 172 เมตร ความลึก -8.2 เมตร รองรับเรือขนาด 12,000 เดทเวทตัน และมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า 1.4-1.5 ล้านทีอียูต่อปี ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมการค้าการลงทุนและสนับสนุนธุรกิจ SMES

มีเนื้อที่ประมาณ 2,353.2 ไร่ แบ่งการใช้พื้นที่เป็น 7 ส่วน ดังนี้
1. พื้นที่ในเขตรั้วศุลกากรใช้ในกิจการ ทกท. 943.2 ไร่
2. พื้นที่นอกเขตรั้วศุลกากรใช้ในกิจการ กทท. 149.2 ไร่
3. พื้นที่หน่วยงานของรัฐขอใช้ 150.2 ไร่
4. พื้นที่หน่วยงานของรัฐเช่าใช้ประโยชน์ 152.2 ไร่
5. พื้นที่เอกชนเช่า 521.16 ไร่
6. พื้นที่ชุมชนแออัด 232.1 ไร่
7. พื้นที่ทางสัญจร (ถนน, ทางรถไฟ, คลอง) 203.1 ไร่

แผนพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพมีมานานแล้ว วัตถุประสงค์เพื่อยกระดับให้เป็นท่าเรือทันสมัย มีศักยภาพรองรับธุรกิจพาณิชยนาวี ส่งเสริมขนส่งโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน "คลองเตย" ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้ "Smart Community" แต่การรื้อย้ายเพื่อขอคืนพื้นที่ 31 ชุมชนมีผลกระทบสูงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ส่วนพื้นที่ในเขตรั้วศุลกากรใช้ในกิจการท่าเรือที่มีจำนวน 943 ไร่ มีแนวคิดจะปรับลดเหลือ 534 ไร่ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ใช้เครื่องมือกึ่งอัตโนมัติให้บริการ ดังนั้น แม้พื้นที่ลดลง แต่ศักยภาพจะเท่าเดิมส่วนพื้นที่อีก 409 ไร่จะนำไปพัฒนาเป็นท่าเรือท่องเที่ยว ศูนย์การค้า เป็นต้น


@ปั้น "SMART PORT" วางผังพัฒนา 4 กลุ่มพื้นที่

สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Port Redevelopment Project) เนื้อที่ 2,353 ไร่ ภายใต้แนวคิดโครงการ SMART PORT ยกระดับสู่ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร จัดพื้นที่ในการพัฒนาดังนี้

กลุ่มพัฒนาพื้นที่ A ได้แก่ อาคารสำนักงานท่าเรือใหม่และอาคารสำนักงานเช่าเอกชน, โครงการที่พักอาศัย, โครงการพัฒนา Medical Hub, อาคารสำนักงาน, Smart Community, อาคารอยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการพนักงานการท่าเรือ, อาคารอยู่อาศัยประเภทเช่า, Retail Mixed use

กลุ่มพัฒนาพื้นที่ B ได้แก่ Smart Port (กึ่งอัตโนมัติ), ท่าเทียบเรือตู้สินค้าฝั่งตะวันออก, ท่าเทียบเรือสินค้าชายฝั่ง (20G)

กลุ่มพัฒนาพื้นที่ C ได้แก่ พื้นที่ Cruise Terminal, Retail Mixed use, อาคารสำนักงาน, พื้นที่พาณิชย์ Duty Free, โรงแรม, พื้นที่พักอาศัย, พาณิชยกรรม, พื้นที่ศูนย์อาคารแสดงสินค้า, อาคารสาธารณูปโภค, อาคารจอดรถ, ศูนย์ฝึกอบรม

กลุ่มพื้นที่รองรับในการพัฒนาในอนาคต X ได้แก่ พื้นที่คลังเก็บสินค้า และสำนักงาน E-Commerce, พื้นที่จอดรถบรรทุก, พื้นที่ ปตท.เช่าใช้

และกลุ่มพัฒนาพื้นที่ G ได้แก่ Sport Complex และ ปรับปรุงสถาปัตยกรรมของพื้นที่ทั้งหมด และสวนสาธารณะ

ที่ผ่านมา กทท.เดินหน้าแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือคลองเตย ในส่วนของพื้นที่แปลงใหญ่ที่มีศักยภาพเพื่อนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ ได้แก่ พื้นที่ 17 ไร่ บริเวณด้านข้างอาคารที่ทำการ กทท. แผนพัฒนาพื้นที่ด้านการค้า (Commercial Zone) และพื้นที่ 15 ไร่ บริเวณโกดังสเตเดียม เพื่อให้เอกชนเข้ามาพัฒนา เบื้องต้นจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเพื่อใช้เป็น Marine Logistics Center และ Business Center City

กรอบแนวความคิดเบื้องต้นประกอบด้วย แผนพัฒนาพื้นที่ด้านการค้า (Commercial Zone) เนื้อที่ 17 ไร่, พัฒนาเป็นอาคารศูนย์ธุรกิจพาณิชยนาวี (Maritime Business Center) มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องและเอื้อประโยชน์ต่อกิจการท่าเรือ เช่น สำนักงานของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการท่าเรือ ศูนย์ฝึกอบรม เนื้อที่ 54 ไร่, พัฒนาเป็นศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า ประกอบด้วย อาคารคลังสินค้าแนวสูงและแนวราบ และสถานีพักรถบรรทุก เนื้อที่ 15 ไร่, พัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน (Office Building) เนื้อที่ 127 ไร่ (ไม่รวมตลาดคลองเตย), พัฒนาเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมนานาชาติเพื่อพาณิชยนาวี (International Maritime Business and Trade Center) และบริเวณโรงฟอกหนัง เนื้อที่ 58 ไร่ พัฒนาเป็น Smart Community

ซึ่งเป็นการใช้แนวความคิดทางด้านการประสานประโยชน์การใช้ที่ดิน/การแบ่งปันที่ดิน (Land Sharing) ระหว่างชุมชนกับเจ้าของที่ดิน โดยเจ้าของที่ดินให้เช่าหรือขายที่บางส่วนให้ชุมชนในราคาถูก เพื่อแลกกับการใช้ประโยชน์จากที่ดินส่วนที่เหลือ


ขณะที่ในการดำเนินโครงการแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ หัวใจสำคัญคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบท่าเรือ รวม 26 ชุมชน และใต้ทางด่วนอีก 5 ชุมชน และหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ โดยในส่วนของชุมชนนั้นมีประมาณ 13,000 ครัวเรือน ไปพร้อมกับการพัฒนาโครงการต่างๆ ของ กทท.เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวชุมชนคลองเตย โดยมีการบริหารจัดการสาธารณูปโภค และสาธารณูปการที่ทันสมัย รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่ดี ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนให้มีมาตรฐานและมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง สร้างความสุข ลดความเหลื่อมล้ำและเกิดความเสมอภาคในสังคม ตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

ซึ่งแผนพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) บริเวณองค์การฟอกหนัง (เดิม) ถนนริมทางรถไฟสายเก่ามีพื้นที่ 58 ไร่ เป็นอาคารสูง 25 ชั้น 4 อาคาร อาคารละ 1,536 ยูนิต รวม 6,144 ยูนิต ขนาด 33 ตร.ม./ห้อง มีอาคารจอดรถส่วนกลาง และพื้นที่สีเขียว 40%

เงื่อนไขเบื้องต้น ผู้ที่มีสิทธิ์ใน 3 ทางเลือกต้องอยู่ใน 26 ชุมชนของท่าเรือราว 12,000 ครัวเรือน และใต้ทางด่วน 5 ชุมชน ประมาณ 500 ครัวเรือน จากการสำรวจสำมะโนประชากร ข้อมูลเบื้องต้น กทท.กำหนดสิทธิประโยชน์ใน 3 ทางเลือก คือ 1. รับเป็นที่พักอาศัยที่อาคารสูง Smart Community 2. รับเป็นที่ดินเปล่าขนาด 19.5 ตร.ว.ต่อครัวเรือน ย่านหนองจอก มีนบุรี จำกัดจำนวน 2,140 แปลง ซึ่งสามารถปลูกบ้านเป็นของตัวเองได้ หรือ 3. กลับภูมิลำเนาโดยรับเป็นเงินทุนเพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต

“Smart Community มีการสำรวจ ออกแบบรายละเอียด รวมถึงและจัดทำรายงาน EIA เสร็จแล้ว แต่ยังไม่เริ่มการก่อสร้าง”


นอกจากเรื่องการย้ายชุมชนท่าเรือคลองเตยที่สำคัญแล้ว การนำพื้นที่ท่าเรือคลองเตยมาพัฒนาเชิงพาณิชย์จะต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ให้เรียบร้อยก่อน เนื่องจากตาม พ.ร.บ.การท่าเรือฯ กำหนดให้ที่ดินที่ กทท.ที่ได้มานั้นใช้สำหรับกิจการท่าเรือเท่านั้น ที่ผ่านมาจึงได้มีการดำเนินการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 คู่ขนานไปด้วย โดยล่าสุดได้ผ่านความเห็นชอบจาก คณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ขั้นตอนต่อไปต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และเสนอเข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาอีกด้วย

ส่วนกรณีให้พิจารณาย้ายคลังน้ำมันและโรงเก็บน้ำมันในพื้นที่ กทท.ออก ก็มีประเด็นต้องพิจารณาคือ พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 เช่นกัน

ปัจจุบันพื้นที่ กทท.มีคลังน้ำมันของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR โดยพื้นที่เช่าประกอบด้วย บริเวณคลังพระโขนง-บางจาก สำนักงานเนื้อที่จำนวน 41,344 ตร.ม. และคลังน้ำมัน อาคาร และเขื่อนเทียบเรือบริเวณปากคลองบางจากและปากคลองเจ๊ก เนื้อที่จำนวน 3,500.75 ตารางวา รวมพื้นที่ทั้งหมด 44,844.75 ตารางวา สัญญา เช่าที่ดิน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 เป็นระยะเวลา 15 ปี หรือถึงปี 2579 ซึ่งที่ผ่านมามีการต่อสัญญาเช่ามาตลอดระหว่าง กทท.กับ ปตท. (ก่อนหน้าที่จะปรับเป็น OR) เพราะเป็นความร่วมมือในการใช้พื้นที่การท่าเรือฯ ในการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เพื่อรองรับความต้องการพลังงานของผู้บริโภคในเขตภาคกลาง เสริมสร้างความมั่นคง ต่อเนื่องสอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล ตลอดจนเป็นศูนย์กลางพลังงานของประเทศไทย

”รื้อชุมชน” หรือ "ย้ายท่าเรือคลองเตย" จะออกมาในรูปแบบใด สุดท้ายฝ่ายนโยบายต้องมีความชัดเจนก่อนว่าจะยังให้พื้นที่ท่าเรือกรุงเทพมีกิจกรรมท่าเรือขนส่งสินค้าอยู่อีกหรือไม่อย่างไร เพราะจะว่าไปแล้วก่อนหน้านี้เมื่อปี 2549 ยุครัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร" พรรคไทยรักไทย ก็มีแนวคิดในการย้ายท่าเรือคลองเตยมาแล้ว แต่ก็ไม่ใช่การย้ายทั้งหมด นำมาซึ่งการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ 2,000 กว่าไร่ แต่ยังไม่ทันได้เริ่มก็เกิดรัฐประหารถูกยึดอำนาจไปเสียก่อน การที่ "เศรษฐา ทวีสิน" จะพูดถึงการย้ายท่าเรือคลองเตยอีกครั้งจึงไม่ใช่ของใหม่อะไร เป็นการย้อนความคิดของอดีตนายกฯ เมื่อ 18 ปีที่แล้ว ภายใต้บริบทสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ต้องดูกันว่าบทสรุปรอบนี้จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการย้ายชุมชนหลายหมื่นหลังคาเรือนและคลังน้ำมัน ไม่ใช่เรื่องง่าย!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น