xs
xsm
sm
md
lg

#iBusinessReview : ส่องเทคโนโลยี‘ไทยสมายล์บัส’ ใช้เสียง‘เอไอ’บอกทุกป้าย พร้อมระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



จากประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของวงการรถเมล์ไทย 5 ตุลาคม 2564 เป็นวันแรกที่รถเมล์ไทย สมายล์ บัส (TSB) เปิดเดินรถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า (EV) ครั้งแรก สาย 35 พระประแดง - สายใต้ใหม่ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเคหะธนบุรี - บางลำพู) มาวันนี้กลุ่มไทย สมายล์ บัส มีรถประจำทางให้บริการแล้ว 2,200 คัน ใน 123 เส้นทาง ครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ด้วยการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ล่าสุดพัฒนาระบบ “เสียงประกาศป้ายรถอัจฉริยะ” คล้ายกับเสียงประกาศบนรถไฟฟ้า เมื่อรถเคลื่อนตัวไปถึงระยะรัศมีของป้ายรถเมล์นั้น ๆ แล้วระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะจับพิกัดสัญญาณจากจีพีเอส แล้วยืนยันในระบบ จากนั้นจะมีเสียงประกาศภายในรถให้แก่ผู้โดยสารในทุกป้ายที่รถเส้นทางนั้นผ่าน

เช่น “สถานีต่อไป โรงเรียนศึกษานารีวิทยา โปรดใช้ความระมัดระวังขณะก้าวลงจากรถ” กลายเป็นเรื่องแปลกใหม่ในวงการรถเมล์ไทย ที่มีเอไอคอยบอกทุกป้าย ให้ผู้โดยสารรู้ว่าเดินทางถึงไหนแล้ว


กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด หรือ TSB เปิดเผยว่า เราเป็นบริษัทคนไทยที่มีความตั้งใจยกระดับรถเมล์ไทย ให้ทัดเทียมกับรถเมล์โดยสารในต่างประเทศ จึงไม่หยุดพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มในตัวรถ ควบคู่กับการฝึกอบรมพนักงาน เพื่อยกระดับการให้บริการรถโดยสารสาธารณะของคนไทยอย่างแท้จริง

นอกจากระบบเสียงประกาศป้ายรถอัจฉริยะแล้ว ยังใส่ใจการเสริมสร้างความปลอดภัยในทุกการเดินทาง โดยโซนห้องขับรถของกัปตันเมล์ ได้ทยอยติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ เพื่อตรวจจับและแจ้งเตือนพฤติกรรมการขับรถที่มีแนวโน้มจะเกิดอุบัติเหตุ และระบบบริหารจัดการเดินรถ (Fleet Management) ใช้ตรวจจับ-แจ้งเตือนพฤติกรรมการขับรถอีกทางหนึ่งด้วย

ภาพ : ไทย สมายล์ บัส
จากการสังเกตของ Ibusiness review พบว่ารถเมล์ไทยสมายล์บัสใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย เริ่มจากรถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า 100% นอกจากสะดวกสบายแล้ว ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ปลอดมลพิษ และลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 นอกจากนี้ ยังมีระบบกรองอากาศ และหลอดไฟฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี (UV)

เมื่อขึ้นไปบนรถจะพบกับเครื่องที่รองรับบัตร HOP CARD ได้แก่ เครื่อง E60 สำหรับแตะบัตรโดยสารขึ้น-ลง และเครื่อง AVM สำหรับอัปเดตยอดหลังเติมเงิน ผู้ถือบัตรสามารถใช้โปรโมชันเดลี แมกซ์ แฟร์ (Daily Max Fare) เหมาจ่ายเพียง 40 บาทต่อวัน ส่วนผู้โดยสารที่จ่ายเป็นเงินสด มีเครื่อง Z90 สำหรับออกตั๋ว TSB-GO สามารถใช้เป็นข้อมูลกรณีลืมของ ของหาย ร้องเรียน


ส่วนเทคโนโลยีนอกจากเสียงประกาศป้ายรถอัจฉริยะด้วย AI แล้ว ยังมีการติดตั้ง กล้องวงจรปิด (CCTV Security) ทั่วคัน รวม 6 ตัว กล้องนับจำนวนผู้โดยสารขึ้น-ลง (Passenger Counter) กล้องกระจกมองข้าง (Side Mirror Camera) ระบบ MDVR (Mobile Digital Video Recorder) ทำหน้าที่บันทึกภาพที่เชื่อมต่อกับกล้อง พร้อมหน้าจอแสดงภาพจากกล้องบนรถ

เทคโนโลยีสำหรับกัปตันเมล์ หรือพนักงานขับรถ มีทั้ง ระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ Advanced Driver – Assistance Systems (ADAS) กับระบบ Driver Status Device (DSM) ใช้ตรวจจับ-แจ้งเตือน พฤติกรรมการขับรถที่มีแนวโน้มจะเกิดอุบัติเหตุ

เช่น หากกล้องจับพบคนขับเล่นโทรศัพท์ ระบบจะมีเสียงประกาศว่า “งดใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ” หรือ กรณีกล้องส่องหน้ารถตรวจพบคนข้ามทางม้าลาย จะแจ้งเตือนว่า “ระมัดระวังคนเดินทางเท้า” กระทั่งช่วงระหว่างการจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร จะมีเสียงแจ้งเตือน “โปรดระมัดระวังขณะก้าวลงจากรถ” เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนผู้โดยสารขณะขึ้น-ลงรถโดยสารสาธารณะ


ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ไทย สมายล์ บัส ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปทดลองโหลดใช้บริการ แอปพลิเคชัน TSB Go Plus+ สำหรับตรวจสอบเวลารถโดยสารประจำทางที่จะมาถึง โดยมีผู้ร่วมทดสอบและพัฒนาแอปพลิเคชัน ได้แก่ เพจเฟซบุ๊ก Bangkokbusclub.com ชุมชนคนรักรถเมล์ และ BKK BUS Photographer ซึ่งเป็นกลุ่มบัสแฟน และเพจเฟซบุ๊ก LivingPop

สามารถตรวจสอบเวลารถโดยสารประจำทางที่จะถึงป้าย และตั้งเตือนเมื่อรถมาถึง รวมทั้งสามารถตรวจสอบยอดเงินในบัตร HOP CARD เติมเงินผ่านแอปฯ ธนาคาร หรือ QR Code โดยปัจจุบันแอปพลิเคชันอยู่ในขั้นทดลองใช้งาน เพื่อทำการเก็บรวบรวมข้อมูล และข้อติดขัดที่ผู้เดินทางต้องการไปพัฒนาต่อ ซึ่งอนาคตจะมีการเพิ่มฟังก์ชันใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

อาจเรียกได้ว่าในวันนี้ รถเมล์ไทย สมายล์ บัส กำลังพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ พร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้การเดินทางสะดวกสบาย ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น


(รีวิวเรื่องราวการตลาด เกาะกระแสเศรษฐกิจ ธุรกิจ ที่ใกล้ชิดผู้บริโภคอย่างตรงไปตรงมา พบกับคอลัมน์ #iBusinessReview เป็นประจำทุกสัปดาห์ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)
กำลังโหลดความคิดเห็น