อีวีรุ่นแรกจากค่ายเสียวหมี่ขายดีจัด บริษัทเผยผู้ซื้อ SU7 อาจต้องรอนาน 4-7 เดือน หลังยอดสั่งจองพุ่งถล่มทลาย 120,000 คันในเวลาแค่ 36 ชั่วโมง
เสียวหมี่ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์คอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์อีกมากมาย เปิดรับออร์เดอร์ซีดานไฟฟ้า SU7 ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของบริษัท เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา (28 มี.ค.) และได้ยอดสั่งจองถึง 88,898 คันใน 24 ชั่วโมงแรก
ข้อมูลบนแอปเสียวหมี่ระบุว่า การส่งมอบ SU7 รุ่นมาตรฐานที่ราคา 215,900 หยวน (ประมาณ 1 ล้านบาท) และรุ่น SU7 Pro อาจใช้เวลา 18-21 สัปดาห์ ขณะที่รุ่น SU7 Max ที่แพงที่สุดคือ 299,900 หยวน (ประมาณ 1.5 ล้านบาท) อาจต้องรอนานถึง 27-30 สัปดาห์
เสียวหมี่เปิดตัว SU7 ในจังหวะที่สงครามราคากำลังระอุหนักในจีน ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีรถกว่า 40 แบรนด์ห้ำหั่นกันเพื่อแย่งชิงความสนใจของผู้บริโภค
วันจันทร์ (1 เม.ย.) Aito (ไอโต้) ที่ได้รับการสนับสนุนจากหัวเหว่ย เสนอส่วนลด 20,000 หยวนสำหรับเอสยูวี M7 รุ่นใหม่จนถึงสิ้นเดือนนี้ ขณะที่เสี่ยวเผิงเสนอส่วนลด 20,000 หยวนเท่ากันสำหรับอีวีรุ่นเรือธง G9 ในระยะเวลาจำกัด
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ในตลาดอีวีดูเหมือนท้าทายอย่างมากสำหรับผู้ผลิตหน้าใหม่ แต่นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า เสียวหมี่มีทุนหนากว่าสตาร์ทอัพอีวีหลายแห่ง แถมมีความเชี่ยวชาญจากการพัฒนาสมาร์ทโฟนที่ทำให้บริษัทได้เปรียบในการสร้างสรรค์แดชบอร์ดอัจฉริยะ ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ผู้บริโภคจีนให้ความสำคัญ
นอกจากนั้นเสียวหมี่ยังเปิดตัวเวอร์ชันพิเศษ “Founder's Edition” ที่มาพร้อมของแถม เช่น ตู้เย็น ซึ่ง 5,000 คันแรกขายหมดทันที
ส่วน “Founder's Edition” ล็อตที่สองนั้นยังไม่มีข้อมูลว่า ทำยอดขายได้มากน้อยแค่ไหน
นอกจากนั้น การเปิดแนวรบใหม่ในตลาดอีวีของเสียวหมี่ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับเทสลา ผู้นำยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอเมริกา สัปดาห์ที่แล้ว บลูมเบิร์กรายงานว่า บริษัทอีวีของอีลอน มัสก์แห่งนี้ สั่งลดกำลังผลิตในโรงงานที่เซี่ยงไฮ้ท่ามกลางการแข่งขันดุเดือดและการเติบโตชะลอตัวในจีน
ปีนี้มูลค่าตลาดเทสลาลดฮวบถึง 30% ทำให้บริษัทต้องละทิ้งจุดยืนของมัสก์ในการไม่พึ่งโฆษณา นอกจากนั้นเทสลายังเผชิญการแข่งขันกับบีวายดี บริษัทอีวีจีนที่มีวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนระดับตำนานของอเมริกาให้การสนับสนุน และเมื่อไม่กี่เดือนนี้เพิ่งชิงตำแหน่งแชมป์ยอดขายอีวีโลกไปจากเทสลาสดๆ ร้อนๆ
แน่นอนว่า เทสลาพิสูจน์ตัวเองแล้วว่า เป็นผู้ผลิตอีวีชั้นนำ ขณะที่เสียวหมี่ยังเป็นแค่เด็กใหม่ในวงการ
เล่ย จุน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอเสียวหมี่ กล่าวเมื่อวันพฤหัสฯ ที่แล้วว่า ในช่วง 3 ปีที่พัฒนา SU7 สิ่งที่เขาเข้าใจแจ่มชัดที่สุดคือ การผลิตรถเป็นงานที่ยากมาก ซึ่งแม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิลยังล้มเลิกแผนการ
เดือนกุมภาพันธ์ เล่ยบอกว่า เขาช็อกกับข่าวแอปเปิลยุติโครงการพัฒนาอีวี และเสริมว่า สตีฟ จ็อบส์ ผู้ร่วมก่อตั้งแอปเปิล เป็นแรงบันดาลใจหลักที่ทำให้เขาอยากเป็นผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ เสียวหมี่ได้รับความนิยมอย่างมากในจีน เช่นเดียวกับที่แอปเปิลฮอตฮิตในตลาดทั่วโลก
ในงานเปิดตัวเมื่อวันพฤหัสฯ ที่แล้ว เล่ยคุยว่า สเปก 90% ของ SU7 ที่ตอนนี้ยังมีจำหน่ายเฉพาะในจีนเท่านั้น กินขาดเทสลา Model 3 ส่วนที่เหลืออีก 10% นั้นขอเวลาอีก 2-3 ปี
เขาแจงว่า ซีดานไฟฟ้าของเสียวหมี่วิ่งได้ไกล 700 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง เทียบกับ 606 กิโลเมตรสำหรับ Model 3 และ SU7 รุ่นมาตรฐานยังตั้งราคาต่ำกว่า Model 3 ในจีน
เล่ยยอมรับว่า ตอนนี้บริษัทยังขาดทุนจากยอดขายอีวีทุกคัน เดือนธันวาคมปีที่แล้ว เขาบอกว่า เสียวหมี่จะต้องใช้แรงงานและเงินทุนมากกว่าที่บริษัทรถทั่วไปใช้ในการพัฒนารถใหม่ถึง 10 เท่า อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพฤหัสฯ เขาสำทับว่า บริษัทมีเงินสดสำรองมากพอรองรับการแข่งขันดุเดือดใน 5 ปีข้างหน้า
เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่า เล่ยตัดสินใจถูกต้องที่ขยับขยายเข้าสู่ตลาดอีวี หรือควรถอนตัวแบบเดียวกับแอปเปิล เพราะสตาร์ทอัพอีวีมากมายที่เคยมีมูลค่าหลักพันล้านดอลลาร์ ตอนนี้กลับกำลังดิ้นรนหาทางรอด
ทู ลี ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา ไซโน ออโต อินไซต์ มองว่า ความเสี่ยงของเสียวหมี่คือการโฟกัสอีวีมากเกินไป และลดความสนใจในธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่ส่งให้บริษัทมาถึงจุดนี้
อย่างไรก็ตาม คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า SU7 เปิดตัวสุดเร้าใจ โดยเสียวหมี่รายงานว่า ได้รับคำสั่งซื้อเบ็ดเสร็จ 120,000 คันภายในเวลาเพียง 36 ชั่วโมง หรือเท่ากับว่า ศักยภาพการผลิตสำหรับปีนี้ขายหมดแล้ว