xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” สั่งสแกนสัญญา "สีเหลือง-ชมพู" เกิดเหตุซ้ำซาก ประเมินผลงานไม่ผ่านระงับจ่ายคืนค่าโยธารายปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“สุริยะ” สั่งสแกนสัมปทานรถไฟฟ้า "สีเหลือง-สีชมพู" เกิดเหตุซ้ำซาก เผยสัญญาเปิดช่องประเมินผลงาน ชี้ไม่ผ่านมาตรฐานเกิดเหตุบ่อย ระงับจ่ายสนับสนุนค่างานโยธา สีเหลือง ปีละ 2,505 ล้านบาท สีชมพู ปีละ 2,250 ล้านบาท พร้อมหามาตรการป้องกันเพิ่ม

จากที่รถไฟฟ้ามหานคร MRT สายสีเหลือง เกิดเหตุขัดข้องเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2567 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-สถานีเมืองทองธานี มีเกิดอุบัติเหตุในระหว่างก่อสร้าง ทำให้เศษคอนกรีตเหลวร่วงหล่นตกใส่รถยนต์บริเวณจุดก่อสร้างสถานีอิมแพ็ค  เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2567

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่รถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพูเกิดเหตุขัดข้องและมีอุบัติเหตุระหว่างก่อสร้างนั้น ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด และให้ดูเงื่อนไขในสัญญา กรณีผู้รับสัมปทานดำเนินการแล้วเกิดอุบัติเหตุ หรือทำให้ประชาชนได้รับความเสียหาย ในสัญญาสามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้าง ซึ่งเท่าที่ทราบ ในสัญญาจะมีการประเมินผลการทำงานของเอกชนในอีก 3 เดือนข้างหน้า หากประเมินแล้วไม่ผ่าน ให้เอกชนเร่งดำเนินการแก้ไข และในช่วงระหว่างแก้ไขนั้น ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถยึดหรือระงับการจ่ายเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่รัฐต้องจ่ายตามสัญญาร่วมทุนในแต่ละปี จนกว่าจะแก้ไขจนผ่านมาตรฐาน

สำหรับกรณีสายสีเหลือง ที่มีชิ้นส่วนหลุดร่วงนั้น ทางกรมการขนส่งทางรางและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ร่วมกันตรวจสอบมาตรฐานการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ แล้ว รวมถึงทำงานร่วมกับวิศวกรรับรองอิสระ หรือ Independent Certification Engineer (ICE) ของโครงการ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ผู้รับสัมปทานมีการว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างให้นั้น จะต้องมีความรับผิดชอบในการดูแลควบคุมการทำงานของผู้รับเหมาอย่างดีด้วย เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับสัมปทาน ส่วนของผู้รับเหมาก่อสร้าง กระทรวงคมนาคมมีมาตรการในการจัดทำสมุดพกที่จะกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการทำงานและหากเกิดอุบัติเหตุจะถูกตัดคะแนน และจะมีผลต่อการถูกลดลำดับชั้น และหากถูกตัดคะแนนจำนวนมากอาจมีผลในการประมูลงานต่อไป โดยตนจะเร่งหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อแก้ไขข้อกำหนดและระเบียบที่เกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดจ้างให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม


นายสุริยะกล่าวยอมรับว่ารถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพูเกิดเหตุซ้ำซากกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งตนไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งกำชับ รฟม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการมาตรการกำกับและลงโทษ ซึ่งมีสัญญาสัมปทานกำกับไว้ ส่วนรถไฟฟ้าโมโนเรล ซึ่งเป็นระบบเปลือย มีความเสี่ยงที่จะมีสิ่งของร่วงหล่นนั้น กระทรวงคมนาคมจะเร่งหารือกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันในระยะยาว ซึ่งอาจจะมีการเพิ่มเติมวัสดุด้านล่างเพื่อป้องกันหรือรองรับกรณีมีเศษหล่นจากโครงสร้าง

อย่างไรก็ตาม ในการกำกับดูแลระบบราง ทั้งมาตรฐานการบริการ ความปลอดภัยต่างๆ นั้น มีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) แต่ยังต้องรอ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. บังคับใช้ก่อน จะทำให้มีอำนาจในการกำกับดูแลและเพิ่มมาตรการต่างๆ ได้

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีจำนวน 23 สถานี โดยบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) เป็นผู้รับสัมปทาน เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ เริ่มเก็บค่าโดยสารวันที่ 3 ก.ค. 2566 เงินสนับสนุนค่างานโยธาที่รัฐต้องจ่ายตามสัญญาร่วมทุนที่ 25,050 ล้านบาท แบ่งจ่าย 10 ปีเฉลี่ยปีละ 2,505 ล้านบาท

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีจำนวน 30 สถานี บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) เป็นผู้รับสัมปทาน เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ เริ่มเก็บค่าโดยสารเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2567 เงินสนับสนุนค่างานโยธาที่รัฐต้องจ่ายตามสัญญาร่วมทุนที่ 22,500 ล้านบาท แบ่งจ่าย 10 ปี เฉลี่ยปีละ 2,250 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น