xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ติดเครื่องลุยไฮโดรเจน-เมทานอล ส่อง ‘เยอรมนี’ ต่อยอดสู่พลังงานอนาคต-ธุรกิจใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เมื่อโลกมุ่งสู่พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้หลายประเทศให้ความสำคัญต่อพลังงานไฮโดรเจนที่ไม่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ การใช้ไฮโดรเจนจึงไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฝุ่นละออง แถมไฮโดรเจนยังมีค่าพลังงานความร้อนต่อน้ำหนักสูงกว่าน้ำมันเบนซินประมาณ 3 เท่า

ประเทศไทยได้เริ่มทดลองใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ หรือแม้แต่ใช้ไฮโดรเจนร่วมกับเชื้อเพลิงหลักในโรงไฟฟ้าเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน แม้ว่าผลลัพธ์ทางเทคนิคทำได้แต่ในทางเศรษฐศาสตร์ยังไม่คุ้มค่าการลงทุน เนื่องจากไฮโดรเจนมีต้นทุนที่สูงเมื่อเทียบกับพลังงานอื่น 

สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านวิศวกรรมจากการวางรากฐานการศึกษาที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และวิศวกรรม ผนวกกับภาครัฐให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานำไปต่อยอดเชิงธุรกิจ สร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆกล่าวได้ว่า สินค้าที่ผลิตจากเยอรมนีได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือการแพทย์ ยา รถยนต์แบรนด์ระดับโลกทั้ง Mercedes-Benz, Porsche, BMW, Audi และ Volkswagen ขณะเดียวกันก็เป็นประเทศอันดับต้นๆ ของยุโรปที่วางเป้าหมายชัดเจนในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ราว 80% ของการใช้พลังงานประเทศภายในปี 2573 หลังจากได้ยุติการใช้นิวเคลียร์ 3 แห่งสุดท้ายไปเมื่อปีที่แล้ว และมีแผนจะปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในอนาคตอันใกล้ พร้อมทั้งนำพลังงานไฮโดรเจนมาใช้เชิงพาณิชย์ในภาคขนส่งด้วย ดังนั้น ปตท.นำคณะสื่อมวลชนเดินทางศึกษาดูงานด้านนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ กลุ่ม ปตท. ที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) กล่าวว่า ปตท.ตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ดังนั้นไฮโดรเจนจึงเป็นพลังงานที่มีศักยภาพที่มีค่าพลังงานความร้อนสูง มีจำนวนมากและไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ดังนั้น ปตท.ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในไทย ร่วมกับบริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด จากซาอุดีอาระเบีย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พบว่าต้นทุนการผลิตโครงการดังกล่าวในไทยสูงกว่าโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวที่ซาอุดีอาระเบียมากที่มีความได้เปรียบในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มเพื่อมาแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำ ดังนั้น หากต้องการผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นต้องได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ ขณะนี้ปตท.อยู่ระหว่างจัดทำหนังสือปกขาวเสนอแนะภาครัฐว่าจะต้องดำเนินการสนับสนุนด้านใดบ้างเพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นในไทย


อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศเยอรมนีมีการนำไฮโดรเจนมาใช้ในภาคการขนส่งเชิงพาณิชย์แล้ว โดยมีการติดตั้งหัวจ่ายไฮโดรเจนภายในสถานีบริการน้ำมัน เบื้องต้นพบว่าไฮโดรเจนไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากมีเพียงรถบางรุ่นของโตโยต้าและฮุนไดที่มาใช้บริการ ขณะที่ราคาจำหน่ายไฮโดรเจนได้รับการอุดหนุนบางส่วน แต่ก็ยังมีราคาที่สูงเมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันทั่วไป

สำหรับรูปแบบสถานีเติมไฮโดรเจนในเยอรมนีคล้ายคลึงกับสถานีเติมไฮโดรเจนแห่งแรกของไทยที่บางละมุง เป็นการขนส่งไฮโดรเจนมากักเก็บที่สถานีบริการ โดยเมื่อเติมไฮโดรเจนจะเปลี่ยนสถานะจากก๊าซฯ มาเป็นของเหลว อย่างไรก็ดี ในปีนี้ Hydrogen Thailand Club ซึ่ง ปตท.ได้จัดตั้งร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (บีไอจี) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นต้น ศึกษาและทดสอบการใช้งานไฮโดรเจนในภาคขนส่ง (Fuel Cell Electrical Vehicle (FCEV) Demonstration Project) สำหรับรถบรรทุก โดยกำลังศึกษาการตั้งสถานีเติมกรีนไฮโดรเจน โดยนำไฟฟ้าจากโซลาร์มาแยกน้ำเพื่อให้ได้ไฮโดรเจน เท่ากับว่ามีโรงงานไฮโดรเจนในปั๊ม เบื้องต้นจะใช้พื้นที่แถบอีอีซี เพื่อตั้งสถานีเติมกรีนไฮโดรเจนกับฟีดรถบรรทุกซึ่งมีความเหมาะสมกว่าการเติมไฮโดรเจนกับรถยนต์เล็ก เพราะไม่ต้องสร้างสถานีเติมไฮโดรเจนจำนวนมาก และรถบรรทุกจะมีเส้นทางวิ่งที่แน่นอน คาดว่าปีนี้จะมีข้อสรุปในการทำสถานีเติมไฮโดรเจน รวมทั้งพันธมิตรฟีดรถบรรทุกที่สนใจเข้าร่วม

ในปีที่ผ่านมา ปตท.ได้ร่วมกับพันธมิตรทั้งบมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) บีไอจี โตโยต้า ทดลองเปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electrical Vehicle : FCEV) แห่งแรกในไทยที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยนำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไรของโตโยต้าจำนวน 2 คัน มาทดสอบการใช้งานในรูปแบบรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี (U-Tapao Limousines) สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารในพื้นที่พัทยา-ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อเก็บข้อมูลเชิงเทคนิคที่ได้จากการใช้งานจริงเพื่อเป็นข้อมูลรองรับการขยายผลใช้งานในอนาคต ยอมรับว่าปัจจุบันปัญหาการใช้ไฮโดรเจนอยู่ที่ต้นทุนที่สูง แต่เชื่อว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้าไฮโดรเจนจะขึ้นแท่นเป็นพลังงานแห่งอนาคตเมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาล้ำหน้าจนทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง จนมีการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงกันอย่างแพร่หลาย

นอกเหนือจากทดลองใช้ไฮโดรเจนในไทยแล้ว บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ยังได้จับมือกับพันธมิตรเพื่อศึกษาและพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ในโอมาน กำลังการผลิต 2.2 แสนตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มการผลิตกรีนไฮโดรเจนในปี 2573 เพื่อนำความรู้มาต่อยอดปรับใช้ในประเทศไทย


กำเงินแสนล้านรุกธุรกิจใหม่

นายอรรถพลกล่าวย้ำว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปตท.ได้เดินหน้าตามวิสัยทัศน์ใหม่ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” สร้างความมั่นคงทางพลังงานและสนับสนุนแผนการดำเนินงานให้เติบโตไปสู่ธุรกิจพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไปไกลกว่าพลังงาน สอดรับนโยบายรัฐที่ผลักดันอุตสาหกรรม New S-Curve โดยธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) หรือพลังงานสะอาด ทาง ปตท.ได้กำหนดเป้าหมายพลังงานไฟฟ้ารวม 20,000 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 2573 แบ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน 15 กิกะวัตต์ หรือ 15,000 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล 5,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันกลุ่ม ปตท.มีกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนขยับเพิ่มขึ้นเป็น 4,000-5,000 เมกะวัตต์แล้ว ระบบกักเก็บพลังงาน ห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงไฮโดรเจน

ส่วนธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน (Beyond) ทางกลุ่ม ปตท.โฟกัสในธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life science) เช่น ยา Nutrition อุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ โดยมีบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) เป็นแกนนำ ซึ่งปีที่แล้วสร้างผลกำไรคืนกลับ ปตท., ธุรกิจสนับสนุนการเคลื่อนที่และวิถีชีวิต (Mobility & Lifestyle) ซึ่งรวมถึงธุรกิจค้าปลีก Non-oil โดยมี OR เป็นแกนนำ, ธุรกิจ AI หุ่นยนต์ และดิจิทัล (AI, Robotics & Digitalization) ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business) โดย ปตท.ได้กำหนดเป้าหมายว่าในปี 2573 ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและ Beyond จะต้องมีกำไรรวมมากกว่า 30% ของกำไรรวม ปตท. ส่วนธุรกิจปัจจุบันของ ปตท.ทั้งปิโตรเลียมขั้นต้นและขั้นปลายก็ยังคงเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้และกำไรอยู่ และไทยยังใช้น้ำมันและก๊าซฯ เป็นหลักอยู่ จึงจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันมีต้นทุนที่ต่ำสุดเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

อย่างไรก็ดี ปตท.ได้ประกาศเจตนารมณ์มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบจากปี 2563 (ค.ศ. 2020) ลง 15% ภายในปี 2573 (ค.ศ.  2030) และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2583 (ค.ศ. 2040) มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ดังนั้น ธุรกิจใหม่ที่มีการอนุมัติลงทุนต้องคำนึงเรื่องปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสำคัญด้วย

สำหรับเงินลงทุน 5 ปี (2567-2571) ของปตท.อยู่ที่ 89,203 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 30,636 ล้านบาท หรือ 34% ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 14,934 ล้านบาท หรือ 17% ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 12,789 ล้านบาท หรือ 14% ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและปิโตรเลียมขั้นปลาย 3,022 ล้านบาท หรือ 4% บริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% อีก 27,822 ล้านบาท และมีงบ Provision 107,000 ล้านบาทเพื่อใช้ลงทุนธุรกิจใหม่ โดยปีนี้กำหนดงบลงทุน 20,000-30,000 ล้านบาท


จับมือ Thyssenkrupp ศึกษาตั้ง รง.เมทานอล

นอกจากนี้ ปตท.นำคณะเยี่ยมชมบริษัท ธิสเซ่นครุปป์ (Thyssenkrupp ) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของโลกที่ให้บริการด้านการวางแผน การก่อสร้าง และการให้บริการวิศวกรรมแก่โรงงานเคมีและปิโตรเคมีอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งมากว่า 200 ปี มีพนักงานกว่า 100,000 คน โดยมีบริษัทลูกตั้งอยู่หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย และเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในดัชนี MDAX โดยในปี 2566 มียอดขายรวม 37,500 ล้านยูโร

ธิสเซ่นครุปป์ ดำเนิน 5 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย ด้านเทคโนโลยียานยนต์ (Automotive Technology), ด้านการบริการด้านวัสดุ (Materials Services), ด้านเทคโนโลยีลดคาร์บอน (Decarbon Technologies), ด้านระบบยุทธนาวี (Marine Systems) และด้านเหล็กยุโรป (Steel Europ) เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญด้าน R&D มีศูนย์วิจัยกว่า 75 แห่งทั่วโลกโดยได้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการอนุรักษ์สภาพอากาศ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน (Green Transformation) ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า

นายบูรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ ปตท.ร่วมกับธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์ (Thyssenkrupp Uhde ) ศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตเมทานอลจากคาร์บอนไดออกไซด์ในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เบื้องต้นมีขนาดกำลังผลิตราว 100,000 ตัน/ปี และสามารถขยายกำลังการผลิตได้ถึง 2 ล้านตัน/ปี ขณะที่ความต้องการใช้เมทานอลในไทยเฉลี่ยปีละ 700,000 ตัน

สำหรับรายละเอียดโครงการดังกล่าวจะนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์และทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนออกเป็นเมทานอล (Green Methanol) ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีความเป็นไปได้เชิงเทคโนโลยี แต่ในด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ยังต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากต้นทุนการผลิตเมทานอลจากคาร์บอนไดออกไซด์พบว่าสูงกว่าเมทานอลจากก๊าซธรรมชาติ โดยมีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ต่ำกว่า 10% ขณะที่การตัดสินใจลงทุนโครงการของ ปตท.จะต้องมี IRR เฉลี่ย 14-15% ทำให้ธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์ต้องหาแนวทางในการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายลงเพื่อให้โครงการนี้มี IRR ที่สูงขึ้น รวมทั้งยังต้องเปรียบเทียบต้นทุนการนำคาร์บอนไปกักเก็บในหลุมปิโตรเลียมที่ไม่ได้ใช้แล้ว (CSS) หรือการเสียภาษีคาร์บอนว่าแบบไหนมีความเหมาะสม คุ้มค่ากว่ากัน คาดว่าผลการศึกษาจะได้ข้อสรุปในปีนี้

อย่างไรก็ดี หากภาครัฐมีการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ในอนาคต รวมถึงการแบนอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง ย่อมทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนโครงการนี้มีมากยิ่งขึ้นจนสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ ช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ใน ค.ศ. 2065

ทั้งนี้ โครงการผลิตเมทานอลจากคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดกำลังผลิต 1 แสนตัน/ปี คาดว่าใช้เงินลงทุนราว 80 ล้านยูโร หรือราว 3,200 ล้านบาท หากปตท.ตัดสินใจลงทุนก่อสร้างโรงงานดังกล่าวจะตั้งอยู่ที่นิคมฯ มาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อให้ใกล้โรงแยกก๊าซฯ ยอมรับว่าปัจจุบันไทยยังไม่มีโรงงานผลิตเมทานอล แต่นำเข้าจากตะวันออก โดยเมทานอลเป็นสารสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเคมี การก่อสร้างและอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติก รวมทั้งผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF)

ส่วนการจับมือกับธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้โครงการผลิตเมทานอล เนื่องจากอูเด้ห์มีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมการผลิตเมทานอลมาอย่างยาวนาน โดยบริษัทฯ เป็นเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตก๊าซสังเคราะห์ และเทคโนโลยีการสังเคราะห์เมทานอล ซึ่งโรงงานเมทานอลแห่งแรกที่อูเด้ห์เป็นผู้สร้างเริ่มเดินเครื่องจักรเมื่อปี พ.ศ. 2474 และอูเด้ห์ยังเป็นผู้นำด้านกระบวนการผลิตที่ใช้แรงดันสูงและอุณหภูมิสูงมาอย่างยาวนานกว่า 95 ปี ประกอบกับประสบการณ์และความชำนาญด้านวิศวกรรม การจัดซื้อ และก่อสร้าง (EPC) ทำให้บริษัทสามารถให้บริการการก่อสร้างโรงงานเมทานอลในแบบ Turnkey ครบวงจรได้

นอกจากนี้ ทาง ปตท.สผ.ได้ร่วมกับพันธมิตรศึกษาความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ (commercial feasibility) ในการจัดตั้งโรงงานผลิตกรีนอีเมทานอล (Green e-methanol) เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำที่ได้จากการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ชีวภาพและการผลิตกรีนไฮโดรเจน โดยนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการผลิต เบื้องต้นคาดว่าโรงงานดังกล่าวจะมีกำลังการผลิตกรีนอีเมทานอลอย่างน้อย 50,000 ตันต่อปี หากผลการศึกษาประสบความสำเร็จจะเริ่มการก่อสร้างโรงงานต้นแบบที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นโรงงานผลิตกรีนอีเมทานอลแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงทางเลือกตามเป้าหมายขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ( IMO) ที่จะสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างเป็นรูปธรรมช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก


ลั่นปีนี้อินโนบิกโกยกำไรโตต่อเนื่อง

นายบุรณินคาดการณ์ผลการดำเนินงานของบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด คาดว่าปีนี้จะมีกำไรเตืบโตขึ้นกว่าปีก่อนที่มีกำไรราว 1,100 ล้านบาท เนื่องจากบริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล (Lotus) ที่อินโนบิกถือหุ้น 37% เติบโตขึ้น รวมทั้งรับรู้กำไรจากการขายหุ้นในบริษัท อดัลโว จำกัด (Adalvo) ให้กับบริษัทในกลุ่ม Aztiq เพื่อต่อยอดธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในทวีปยุโรป การทำธุรกรรมดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2567 รวมทั้งรับรู้กำไรจากบริษัทร่วมทุนอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมด้วย

แย้มไม่เร่ง รง.ผลิตอีวี เหตุตลาดแข่งราคาดุ

ส่วนความคืบหน้าโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (บริษัทลูก ปตท.) กับบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (ฟ็อกซ์คอนน์) ที่ได้เริ่มลงทุนและก่อสร้างไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2565 ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี คาดว่าจะเสร็จปี 2568 เฟสแรกมีกำลังการผลิตรถอีวีราว 5,000 คันต่อปี และทยอยเพิ่มขึ้นเป็น 150,000 คันต่อปีน้้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาลูกค้าเพื่อรับจ้างผลิตรถอีวี แต่เราไม่ต้องเร่ง เนื่องจากขณะนี้ตลาดรถอีวีมีการแข่งขันด้านราคาแบบฝุ่นตลบ ค่ายรถอีวีจากจีนออกรุ่นต่างๆ มาจำนวนมากและกดราคาลงมามาก จึงอยากให้ตลาดหายฝุ่นตลบก่อน คาดว่าน่าจะเป็นช่วงโรงงานก่อสร้างเสร็จพอดี

ระหว่างนี้ ปตท.เดินหน้าโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน "เอ็นวี โกชั่น" ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (ในเครือ ปตท.) กับ บริษัท โกชั่น ไฮเทค จำกัด (Gotion) ป้อนให้ค่ายรถอีวี อย่าง NETA รวมทั้งหาลูกค้าเพิ่มเติม ส่วนโรงงานประกอบแบตเตอรี่ CATL ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง


“อรรถพล” ส่งไม้ต่อให้ CEO คนที่ 11

นายอรรถพลกล่าวว่า สิ่งที่อยากฝากไว้กับนายคงกระพัน อินทรแจ้ง CEO ปตท.คนที่ 11 ต้องบาลานซ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ให้เหมาะสม โดยประชาชนได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันองค์กรไม่เสียด้วย ที่ผ่านมา ปตท.มีการเปลี่ยนผู้นำมาตลอด CEO ปตท.คนใหม่ก็ถือเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มบริษัท ปตท.อยู่แล้ว ก็สบายใจ เชื่อว่าการเดินตาม PTT WAY ทำให้ประสบความสำเร็จ การรับไม้ต่อทำให้มันเจริญก้าวหน้าไปได้ เหมือนที่มีการส่งไม้ต่อจากรุ่นสู่รุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น