xs
xsm
sm
md
lg

“รฟม.-นครบาล”แจ้งปรับจราจรบนถนนประชาธิปก เตรียมพื้นที่ หัวเจาะอุโมงค์'สายสีม่วง' ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาคาด18 เดือน ทะลุผ่านฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“รฟม.-นครบาล”แจ้งปรับจราจรบนถนนประชาธิปก และสะพานพุทธ  เร่งระบายรถฝั่งขาออก จันทร์ –ศุกร์ ช่วงเร่งด่วน16.00-19.00 น. เริ่ม 25 มี.ค.67 เตรียมพื้นที่ลงหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าสายสีม่วง ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา คาดใช้เวลา 18 เดือนทะลุผ่านฟ้า

วันที่ 25 มี.ค. 2567 พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมด้วย นายกิตติ เอกวัลลภ ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) พ.ต.ท. กันตพัฒน์ อื้อศรีวงศ์ รอง ผกก.จร. สน.บุปผาราม และ กลุ่ม ITD - NWR MRT JOINT VENTURE (ประกอบด้วย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ) ร่วมแถลงข่าวมาตรการปรับทิศทางการสัญจร ช่วงเวลาเร่งด่วน (วันจันทร์ – วันศุกร์ ระหว่างเวลา 16.00 – 19.00 น.) บนถนนประชาธิปก และสะพานพระพุทธยอดฟ้า ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม 2567 – วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2567 เพื่อเตรียมงานขุดเจาะอุโมงค์ สถานีสะพานพุทธฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ

นายกิตติ เอกวัลลภ ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ สัญญาที่ 3 ช่วงผ่านฟ้า – สะพานพุทธฯ อยู่ระหว่างเตรียมงานขุดเจาะอุโมงค์ บริเวณสถานีสะพานพุทธฯ ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงสถานีผ่านฟ้า ซึ่งถือเป็นอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 2 ระยะทางประมาณ 3.1 กิโลเมตร อุโมงค์คู่ลึก 22 - 41 เมตร โดยจะปรับทิศทางจราจรตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. 2567 สัญญานี้จะมีหัวเจาะ 2 หัว ใช้เวลาขุดเจาะประมาณ 18 เดือนหรือ 1 ปีครึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องมีพื้นที่สำหรับวางชิ้นส่วนอุโมงค์ โดยตั้งแต่วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้เริ่มปิดเบี่ยงจราจรบริเวณทางลงสะพานพระปกเกล้า ถึงอนุสรณ์สถานงานสมโภช 100 ปี (วงเวียนเล็ก) 1 ช่องจราจรตลอด 24 ชั่วโมง มีผลให้ผู้สัญจรผ่านถนนประชาธิปก ฝั่งขาออก สามารถสัญจรได้ 2 ช่องจราจร แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่ก่อสร้างมีสภาพการจราจรที่ค่อนข้างหนาแน่น และมีชุมชน โรงเรียนโดยรอบ รฟม. และผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา จึงได้ประสานขอความร่วมมือจากตำรวจนครบาลและสถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อหามาตรการร่วมกันในการลดผลกระทบต่อผู้ใช้เส้นทางตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน

ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกันโดยการปรับทิศทางการสัญจรของสะพานพุทธยอดฟ้าและสะพานพระปกเกล้าเพื่อเป็นการลดผลกระทบดังกล่าว ปรับทิศทางการสัญจรช่วงเวลาเร่งด่วน บนถนนประชาธิปกและสะพานพุทธ เริ่ม 25 มี.ค. 2567 -30 พ.ค.2567 และจะมีการประเมินผลเป็นระยะ


พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รอง ผบช.น. กล่าวว่า รฟม. และผู้รับจ้างฯ ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่บริเวณบนถนนประชาธิปก เชิงสะพานพระปกเกล้า ฝั่งธนบุรี จึงได้นำเสนอแผนการจัดจราจร และหารือแนวทางการปิดเบี่ยงจราจรกับ บช.น. และสถานีตำรวจในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อระบายการจราจรฝั่งขาออก จากฝั่งพระนครมุ่งหน้าฝั่งธนบุรี ซึ่งมีปริมาณรถมากในช่วงเวลาเร่งด่วน เช้า/เย็น จึงมีความจำเป็นต้องบริหารและจัดการจราจรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

โดยตั้งแต่วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม 2567 – วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2567 รถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ จะดำเนินมาตรการปรับทิศทางการสัญจรบนถนนประชาธิปก และสะพานพระพุทธยอดฟ้า เฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนระหว่างเวลา 16.00 – 19.00 น. ทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ ซึ่งจะมีรถขาออกหนาแน่น จะต้องเร่งระบายรถ โดยมีการปิดช่องทางจราจรบนถนนประชาธิปก ฝั่งขาเข้า จากสี่แยกบ้านแขก มุ่งหน้าสู่สะพานพระพุทธยอดฟ้า เพื่อปรับทิศทางการสัญจรจาก “ขาเข้าเป็นขาออก” เพื่อให้รถที่มาจากบนสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งขาออก ใช้เป็นช่องทางเฉพาะกิจลงสู่ถนนประชาธิปก ทดแทนการใช้ช่องทางจราจรร่วมกับรถที่มาจากสะพานพระปกเกล้า ฝั่งขาออก เพื่อเป็นการเพิ่มช่องจราจรฝั่งขาออกทั้งหมด จาก 2 ช่องจราจร เป็น 3 ช่องจราจร ช่วยระบายความหนาแน่นในช่วงเวลาเร่งด่วน

สำหรับผู้ใช้เส้นทางในฝั่งขาเข้า ในช่วงเวลาเร่งด่วนดังกล่าวให้ใช้สะพานพระปกเกล้าทดแทน กรณีต้องการใช้สะพานพุทธ ให้เข้าถนนอิสรภาพ บริเวณสี่แยกบ้านแขก เพื่อวนไปทางถนนสมเด็จเจ้าพระยา ถนนพญาไม้ วนไปหน้าวัดประยูรวงศาวาส และขึ้นสะพานพุทธ

สำหรับรถโดยสารประจำทาง ได้ประสานกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถเมล์ทุกสาย ให้ใช้สะพานประปกเกล้า ทั้งหมด

โดยระหว่างการดำเนินงานปิดเบี่ยง จะมีการจัดสรรกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร พร้อมด้วยอาสาจราจรของผู้รับจ้างฯ เพื่อร่วมกันอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับประชาชนที่ใช้เส้นทาง รวมถึงจะร่วมกันเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ตลอดระยะการดำเนินงาน ทั้งนี้ ท่านสามารถสอบถามรายละเอียดการปิดเบี่ยงจราจรได้ที่ โทร 08 0072 6522


นายกิตติ เอกวัลลภ กล่าวเพิ่มเติมว่า รฟม. ตระหนักถึงผลกระทบด้านการจราจรในบริเวณดังกล่าว จึงได้เร่งรัดให้ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา ดำเนินการคืนผิวจราจรบนถนนประชาธิปก ฝั่งขาเข้า จำนวน 3 ช่องทาง บริเวณคลองสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งผู้รับเหมามีงานปรับปรุงเสริมโครงสร้างสะพานข้ามคลองสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อรองรับงานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งรถไฟฟ้า โดยจะเสร็จสิ้น ในวันที่ 5 เมษายน 2567 จะเพื่อเพิ่มช่องทางการสัญจรและบรรเทาปัญหาการจราจรให้แก่ประชาชนที่สัญจรในบริเวณดังกล่าว

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีจุดเปิดพื้นที่ลงหัวเจาะอุโมงค์ 3 จุด คือ จุดที่ 1. บริเวณโรงเรียนสรรพวุธทหารบก (สัญญา 1 ช่วงเตาปูน – หอสมุดแห่งชาติ)  จะเริ่มขุดเจาะเร็วๆนี้ จุดที่ 2. บริเวณสถานีสะพานพุทธฯ (สัญญา 3) และ จุดที่ 3 บริเวณหน้าโรงพยาบาลทหารเรือ   (สัญญา 4) ซึ่งจะเริ่มงานขุดหัวเจาะช่วงปลายปี 2567


สำหรับความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ในภาพรวมทั้ง 6 สัญญา ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีความก้าวหน้ารวม ร้อยละ 28.62 จากแผนงาน 19.72 คิดเป็นการดำเนินงานเร็วกว่าแผน ร้อยละ 8.90 โดยถึงปัจจุบัน เดือนมีนาคม งานภาพรวมคืบหน้าถึง 30%แล้ว โดยสายสีม่วง มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จเดือนตุลาคม 2570


ทั้งนี้ รฟม. ควบคุมดูแลการก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ตามมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้าง และตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังได้มีการนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาใช้ในการก่อสร้าง โดย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกสะสม 104,463.12 ตัน เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 571,795 ต้น ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ถือเป็นโครงการนำร่อง ก่อนจะขยายสู่โครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ภายใต้การกำกับดูแลของ รฟม. ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น