xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นกลุ่มน้ำมันปาล์มเตรียมรับน้องใหม่ APO เข้าเทรดรับภาวะขาบวก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



อานิสงส์อินโดฯ "ห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม-ราคาถั่วเหลืองพุ่ง" ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับขึ้นต่อเนื่องผลักดัน “หุ้นน้ำมันปาล์ม” พุ่งแรงเขียวยกแผง ขณะ “เอเชียนน้ำมันปาล์ม” เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ รับจังหวะหุ้นขาบวก ระดมทุนต่อเกมธุรกิจ รองรับดีมานด์โลกขยายตัว
“น้ำมันปาล์ม” เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีดีมานด์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการบริโภคในฐานะวัตถุดิบสำคัญของอาหารปรุงสุก และแปรรูป รวมทั้งยา ดีมานด์ของน้ำมันปาล์มไม่ได้อยู่แค่ในขวดน้ำมันพืชเท่านั้นแต่ยังถูกนำไปใช้ผลิต “ไบโอดีเซล B10 B7 B5” อีกด้วย

ข้อมูลจาก “กรมการค้าภายใน” ระบุว่าประเทศไทยผลิตปาล์มน้ำมันเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอินโดนีเซียอันดับ 1 และมาเลเซียอันดับ 2 โดยมีแหล่งผลิตที่สำคัญของปาล์มน้ำมันในพื้นที่สุราษฎร์ธานี กระบี่ และชุมพร สัดส่วนรวมกันเกือบ 57.3% ของประเทศ

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา “น้ำมันปาล์ม” มีความเคลื่อนไหวด้านราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างน่าสนใจ โดยตั้งแต่ปี 2564 ราคาปาล์มน้ำมันทะยานสูงสุดในรอบ 10 ปี ทั้งปาล์มทะลายราคาแตะระดับ 8.90 บาทต่อกิโลกรัม ราคาน้ำมันปาล์มดิบแตะ 49.25 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบที่มีประมาณเพียง 209,000 ตัน ต่ำสุดในรอบ 5 ปีจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในปริมาณน้อย

และในปี 2565 อินโดนีเซียผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่สุดของโลกครองส่วนแบ่งเกินครึ่ง หรือ 61% ของปริมาณการส่งออกน้ำมันปาล์มทั่วโลก ประกาศระงับการส่งออกผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์มทุกประเภท รวมทั้งทั้งน้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ น้ำมันปาล์มโอเลอิน น้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มและน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว ส่งผลต่อเนื่องให้ราคาน้ำมันปาล์มดีดตัวขึ้นถึง 9%

แต่กลับเป็นแรงบวกของผู้ผลิตน้ำมันปาล์มในไทย ทั้งราคาขายและอัตราการทำกำไรที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้อุตสาหกรรม “น้ำมันปาล์ม” ที่มักถูกมองว่า “ซันเซท” ไปแล้วจากความผันผวนด้านราคา กลับมาน่าสนใจอีกครั้ง โดยเฉพาะในตลาดหุ้นที่ “เขียวยกแผง” เพราะนอกจากปัจจัยภายนอกแล้วผู้ประกอบการเองยังมีการปรับตัวและเพิ่มความสามารถการทำกำไรอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็น
บริษัท วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ VPO ซึ่งนอกจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบแล้ว ยังมีธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเข้ามาเสริมการเติบโต

บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ CPI ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มภายใต้แบรนด์ “ลีลา” และยังเป็นผู้ปลูกปาล์มน้ำมันกว่า 20,000 ไร่ รวมทั้งการสกัดน้ำมันปาล์มกว่า 756,000 ตันต่อปี

บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ UVAN ซึ่งมีพื้นที่เพราะปลูกจำนวน 37,008 ไร่ และโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ 5 แห่ง และโรงงานสกัดน้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบ 2 แห่ง กำลังการผลิตรวมกัน 240 ตันปาล์มต่อชั่วโมง รวมทั้งโรงงานบีบน้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบ 2 โรง กำลังการผลิตรวมกันเท่ากับ 340 ตัน

บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ UPOIC และบริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ LST นอกจากผลิตน้ำมันพืชแบรนด์ “หยก” แล้วยังมีสินค้าบริโภคกลุ่มเนยเทียมและไขมันพืชผสม เครื่องดื่มผักและผลไม้บรรจุกระป๋อง ซอสและเครื่องปรุงรส รวมทั้งแป้งและส่วนผสมเบเกอรี่ นอกจากนี้ ยังมีโรงกลั่นปาล์ม กำลังการผลิต 700 ตันต่อวัน หรือ 255,500 ตันต่อปีภายใต้บริษัทลูก บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ UPOIC อีกด้วย

จากอัตราการเติบโตที่น่าสนใจของอุตสาหกรรมและ “หุ้นน้ำมันปาล์ม” ที่อยู่ในทิศทางขาบวก ทำให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์อย่างคึกคัก หนึ่งในนั้นคือ บริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ APO ซึ่งคร่ำหวอดในธุรกิจสกัดน้ำมันปาล์มดิบและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ รวมถึงผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพเพื่อจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมากว่า 40 ปี

นายสิทธิภาส อุดมผลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) (APO) เปิดเผยว่า ปาล์มน้ำมันจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศ และผลผลิตที่ได้จากการแปรรูป เป็นน้ำมันปาล์มดิบสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง เป็นส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น น้ำมันปาล์มดิบที่มีคุณภาพสูง จึงเป็นสารตั้งต้นสำคัญในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงศรีระบุว่า อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มไทยปี 2567-2569 ยังมีทิศทางขยายตัว โดยมีแรงหนุนจากกำลังซื้อภายในประเทศ ทั้งอุตสาหกรรมอาหารโอเลโอเคมิคอล อุตสาหกรรมไบโอดีเซล ส่งผลให้รายได้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันมีความเสี่ยงจากอุปทานภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับลดลงตามอัตราผลผลิตต่อไร่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ระดับราคาผลปาล์มสดมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น และอาจส่งผลต่ออัตรากำไรของธุรกิจ

ดังนั้น ในปีนี้บริษัทมีแผนขยายธุรกิจโดยเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (AGRO) เบื้องต้นจะเสนอขายหุ้นสามัญ จำนวน 100 ล้านหุ้น คิดเป็น 29.41% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลังการเสนอขาย มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น โดยมีทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วก่อนการเสนอขาย 120 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 240 ล้านหุ้น และหลังการเสนอขายจะมีทุน 170 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 340 ล้านหุ้น โดยมีบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ที่ปรึกษาทางการเงินและบริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) เป็นแกนนำในการจัดจำหน่าย

ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปลงทุนในการเปลี่ยนจากหม้อนึ่งแนวนอนเป็นแนวตั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการผลิตน้ำมันปาล์มและระบบที่เกี่ยวข้อง ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งจะช่วยทำให้ลดต้นทุนในระบบผลิตน้ำมันปาล์ม และเงินระดมทุนส่วนที่เหลือจะเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับขยายธุรกิจ

สำหรับ APO เรานำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญกว่า 40 ปีบวกกับการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีปัจจุบันมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจช่วยสร้างการเติบโตให้บริษัทอย่างต่อเนื่อง จุดเด่นหลักของบริษัท คือโครงการ Asian Plus+ ส่งเสริมเกษตรกรให้มีความรู้ ความเข้าใจในการตัดทะลายปาล์มสดที่มีคุณภาพ ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 500 ราย นำทะลายปาล์มสดที่มีคุณภาพมาจำหน่ายกับบริษัทอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทมีอัตราในการสกัดน้ำมันปาล์มดิบสูงขึ้นอย่างชัดเจน ปัจจุบันบริษัทมีอัตราในการสกัดน้ำมันปาล์มดิบอยู่ในอันดับต้นของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ จากการจัดอันดับของสำนักงานพาณิชย์ จ.กระบี่

ทั้งนี้ การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์จะช่วยผลักดันให้ APO มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาด และเชื่อว่าน่าจะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี จากปัจจัยหนุนภายนอกทั้งราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวสูงขึ้น ดีมานด์ทั่วโลกที่ขยายตัวมากขึ้น ศักยภาพของบริษัท และทิศทางของหุ้นน้ำมันปาล์มที่ยังคงน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น