เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 แอปพลิเคชัน K PLUS ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เวอร์ชันล่าสุด (Version 5.18.1) ได้เปิดให้ลูกค้าบัตรเครดิตกสิกรไทย สามารถชำระเงินโดยสแกน QR Code หรือ Barcode ผ่านบัตรเครดิต VISA หรือ Mastercard ได้แล้ว โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิตตัวจริง และไม่มีค่าธรรมเนียม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือบัตร
โดย QR Code ที่ผู้ถือบัตรเครดิตกสิกรไทยสามารถใช้สแกนจ่ายได้ ถ้าเป็นป้ายอะคริลิกตามร้านค้าต้องมีโลโก้ VISA และ Mastercard ส่วนเครื่องรูดบัตร EDC หน้าจอจะแสดง QR Code หากใช้บัตรเครดิตได้ ระบบจะแสดงผลบัตรเครดิต ให้กดเมนู "เลือกบัญชี/บัตรเครดิต" ที่มุมขวาบนของแอปฯ K PLUS ที่ต้องการ ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องและยืนยัน ระบบจะตัดบัตรทันที
ที่ผ่านมาบัตรเครดิตกสิกรไทย เคยสามารถผูกบัตรและใช้บริการ QR บัตรเครดิต กับแอปฯ ดอลฟิน วอลเล็ต (Dolfin Wallet) แต่แอปฯ ได้ปิดตัวไปเมื่อกลางปี 2566 มาคราวนี้ธนาคารกสิกรไทย ให้บริการเองผ่าน K PLUS โมบายแบงกิ้งอันดับ 1 ของประเทศ ที่มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 20 ล้านราย สร้างประสบการณ์ในการใช้จ่ายแก่ผู้ถือบัตรเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง
ขณะที่ก่อนหน้านี้ K PLUS ได้พัฒนาตัวเลือกสแกนจ่าย นอกเหนือจากบัญชีกสิกรไทย เช่น K POINT ใช้คะแนนสะสมจากบัตรเครดิตแทนเงินสดในการสแกนจ่ายตามร้านค้า จ่ายบิล เติมเงิน หรือจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล K PAY LATER วงเงินเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ หรือผ่อนสินค้า วงเงินสูงสุด 20,000 บาท ถือว่าแตกต่างจากโมบายแบงกิ้งธนาคารอื่นแบบก้าวกระโดด
สำหรับบริการ QR บัตรเครดิต เป็นบริการที่ธนาคารให้ร้านค้าสามารถรับเงินจากผู้ถือบัตรเครดิต ผ่านการสแกนเพื่อชำระเงินแทนการใช้บัตรเครดิตตัวจริง หากสแกนจ่ายผ่านเครื่องรูดบัตร (EDC) รุ่นใหม่ สามารถรองรับการชำระเงินผ่าน QR บัตรเครดิตได้ แต่ขึ้นอยู่กับร้านค้าและธนาคารตกลงกัน โดยร้านค้าเสียค่าธรรมเนียมการรับชำระเงินเป็นเปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกับบัตรเครดิต
นอกจากนี้ ร้านค้าที่เป็นบุคคลธรรมดา ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากเป็นสมาชิกแพลตฟอร์มการชำระเงินสำหรับร้านค้า เช่น K SHOP ธนาคารกสิกรไทย หรือ SCB แม่มณี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ฯลฯ ก็สามารถสมัครบริการรับชำระผ่าน QR บัตรเครดิต กับผู้ให้บริการได้ โดยไม่ต้องติดตั้งเครื่อง EDC และมีค่าธรรมเนียมการรับชำระเงินที่ถูกกว่า
อย่างไรก็ตาม แม้ร้านค้าต้องเสียค่าธรรมเนียมการรับชำระเงินเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ต้องแลกกับการรองรับลูกค้าบัตรเครดิต ที่ต้องการใช้บัตรเครดิตเพื่อสะสมยอดใช้จ่าย หรือสะสมคะแนน เช่น ร้านอาหาร นับเป็นการเจาะกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูงไปในตัว
สำหรับข้อดีของบริการ QR บัตรเครดิต สำหรับฝั่งผู้บริโภคก็คือ ไม่ต้องพกบัตรเครดิตตัวจริง สามารถสแกนจ่ายและหักจากบัญชีบัตรเครดิตได้โดยตรง ไม่ต้องผูกกับแอปพลิเคชันอื่น หรืออี-วอลเล็ตอื่น สำหรับคนที่ใช้บัตรเครดิตเป็นประจำ และชำระคืนเต็มจำนวนจะพบกับข้อดีก็คือ สามารถใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องรอเงินเดือนออก และมีสิทธิประโยชน์ตามผลิตภัณฑ์ที่เลือก
สำหรับฝั่งร้านค้า QR บัตรเครดิต ช่วยเพิ่มโอกาส เพิ่มยอดขาย เนื่องจากแม้ลูกค้าไม่ได้เอาบัตรเครดิตมา ก็สามารถใช้มือถือของตนเอง สแกนจ่ายเพื่อชำระเงินผ่านบัตรเครดิตได้ รวมทั้งหากร้านค้าใช้แอปฯ สำหรับรับเงินของร้านค้า เช่น SCB แม่มณี หรือ K SHOP ยังเสียค่าธรรมเนียมน้อยกว่า เมื่อเทียบกับเครื่องรูดบัตรเครดิต (EDC) ที่ยังคิดค่าธรรมเนียมตามยอดขายที่กำหนด
แม้บัตรเครดิตกสิกรไทย เป็นผู้ให้บริการ QR บัตรเครดิตรายล่าสุด หลังจากผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายอื่นให้บริการไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่เมื่อเป็นบัตรที่มีส่วนแบ่งการตลาดติด 1 ใน 5 ที่ประกอบด้วย บัตรเครดิตกสิกรไทย บัตรเครดิตในเครือกรุงศรี บัตรเครดิตคาร์ดเอ็กซ์ (ไทยพาณิชย์) บัตรเครดิตเคทีซี และบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ จึงเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง
ปัจจุบันแอปฯ ที่สามารถสแกน QR บัตรเครดิตได้ ประกอบด้วย SCB EASY บัตรเครดิตคาร์ดเอ็กซ์ และบัตรเครดิตไทยพาณิชย์, UCHOOSE บัตรเครดิตในเครือกรุงศรี, KTC Mobile บัตรเครดิตเคทีซี, AEON THAI MOBILE บัตรเครดิตอิออน เฉพาะบัตร Mastercard และ ICBC บัตรเครดิตธนาคารไอซีบีซี (ไทย) เฉพาะบัตร UnionPay และ K PLUS บัตรเครดิตกสิกรไทย
นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของ QR บัตรเครดิต ที่ธนาคารรายใหญ่ลงมาให้บริการเอง เหลือเพียงร้านค้าที่รับ QR บัตรเครดิต ซึ่งหากไม่ใช่ห้างร้านรายใหญ่ก็ยังมีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับ QR Code ตามร้านค้าส่วนใหญ่ ยังเป็นแบบรับเงินโอนเข้าบัญชีเท่านั้น
(รีวิวเรื่องราวการตลาด เกาะกระแสเศรษฐกิจ ธุรกิจ ที่ใกล้ชิดผู้บริโภคอย่างตรงไปตรงมา พบกับคอลัมน์ #iBusinessReview เป็นประจำทุกสัปดาห์ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)