เปิดให้บริการแล้วในประเทศไทย สำหรับบิ๊กเพย์ (BigPay) แพลตฟอร์มเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-วอลเล็ต ของแคปปิตอล เอ (Capital A) บริษัทแม่ของสายการบินแอร์เอเชีย โดยมีบริษัท บิ๊ก เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ให้บริการ นับเป็นประเทศที่สามที่ให้บริการ ต่อจากมาเลเซียที่ให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2560 โดยมีผู้ใช้งานราว 1.4 ล้านราย และสิงคโปร์เป็นลำดับถัดมา
สำหรับ บิ๊ก เพย์ (ประเทศไทย) ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้เป็นผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ และให้บริการโอนเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา รวมทั้งบริษัทในเครือแคปปิตอล เอ อย่าง แอร์เอเชีย ดิจิทัล (หรือมูฟ ดิจิทัล) ได้แต่งตั้งให้ น.ส.อภิฤดี ปรัชญาเศรษฐ เป็น Country Head ของ BigPay ประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม การเปิดให้สมัครสมาชิกนับตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา พบว่ายังมีข้อจำกัดที่ผู้บริโภคในไทยไม่คุ้นเคย และไม่มีความยืดหยุ่นเท่าที่ควร เช่น การเติมเงินลงในอี-วอลเล็ตขั้นต่ำ 300 บาท การโอนออกทำได้เฉพาะผู้ใช้งานด้วยกัน การคิดค่าธรรมเนียมออกบัตรพลาสติก 150 บาทต่อใบ ทั้งที่ผู้ให้บริการบางแห่งแทบจะแจกบัตรฟรีด้วยซ้ำ
รวมทั้งสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวัง คือ การซื้อตั๋วแอร์เอเชียโดยไม่มีค่า Processing Fee ปรากฎว่ายังคงต้องเสียเงินตามปกติ คือ 128.40 บาทต่อคนต่อเที่ยวบิน ไม่ต่างจากบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตอื่นๆ การสะสมคะแนนต้องใช้จ่าย 200 บาทขึ้นไปจึงจะได้รับ 1 คะแนน ทั้งที่บัตรเครดิตแอร์เอเชีย ธนาคารกรุงเทพ ทุก 20 บาทได้ 1 คะแนน และใช้จ่ายกับแอร์เอเชียได้คะแนน 10 เท่า
อาจเรียกได้ว่าการมาของ BigPay ประเทศไทย ผู้บริโภคอาจมีผิดหวังไปบ้าง หลังรอคอยมานานถึง 7 ปี แต่ก็ต้องดูว่าทั้งบิ๊กเพย์และแอร์เอเชีย จะมีสิทธิพิเศษอะไรจูงใจผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ถือบัตรพลาสติกให้สมกับค่าธรรมเนียมที่จ่ายไป
สำหรับ BigPay เป็นอี-วอลเล็ตผ่านแอปพลิเคชัน BigPay พร้อมบัตร VISA แบบเติมเงินให้ใช้งาน 2 รูปแบบ คือ บัตร Virtual Card สำหรับช้อปปิ้งออนไลน์หรือผูกกับแอปพลิเคชัน และ บัตรพลาสติก ที่ต้องสั่งต่างหาก คิดค่าธรรมเนียมใบละ 150 บาท สำหรับใช้จ่ายผ่านเครื่อง EDC และกดเงินสดที่ต่างประเทศ ค่าธรรมเนียม 100 บาทต่อครั้ง กดได้สูงสุด 5,000 บาทต่อเดือน
โดยเร็วๆ นี้จะเพิ่มคุณสมบัติ ใช้จ่ายผ่าน PromptPay QR กับร้านค้า โดยการใช้จ่ายผ่านบัตร BigPay และ PromptPay QR ทุก 200 บาท ได้รับคะแนนแอร์เอเชีย 1 คะแนน โดยต้องเชื่อมบัญชีแอร์เอเชียก่อน นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชัน "กระเป๋า Stash" สำหรับเก็บเงินแยกออกจากกระเป๋าบัญชีหลัก สามารถสร้างได้สูงสุดถึง 10 กระเป๋า แต่ต่างจากบัญชีธนาคารตรงไม่มีดอกเบี้ย
บัญชี BigPay เติมเงินขั้นต่ำ 300 บาท สูงสุด 50,000 บาทต่อครั้ง สะสมยอดเงินได้สูงสุด 100,000 บาท จำกัดยอดใช้จ่ายผ่านบัตร BigPay สูงสุด 40,000 บาทต่อเดือน โอนเงินให้ผู้ใช้งานอื่นสูงสุด 5,000 บาทต่อเดือน ส่วนพร้อมเพย์จะมีเร็วๆ นี้
การสมัครสมาชิก BigPay สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนสมัครก็คือ เบอร์มือถือ ต้องตรงกันกับโทรศัพท์มือถือที่ใช้งานแอปพลิเคชัน BigPay รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงแอปพลิเคชันธนาคาร ที่สามารถเติมเงินได้ 5 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา เพราะขณะนี้ไม่สามารถเติมเงินผ่านการใช้รหัสใดๆ ได้
นอกจากนี้ หากมี "รหัสผู้แนะนำ" จากเพื่อนหรือคนรู้จัก ให้เตรียมรหัสผู้แนะนำด้วย เพราะเมื่อเติมเงินเข้าบัญชี BigPay ครั้งแรกภายใน 30 วัน จะได้รับคนละ 50 บาท ทั้งเจ้าของบัญชีและผู้แนะนำ
เริ่มต้นจากดาวน์โหลดแอปฯ BigPay กรอกสมัครบัญชี เลือก Thailand การกรอกเบอร์โทรศัพท์มือถือ ระบบจะส่งลิงก์เชื่อมกับแอปฯ ให้กดลิงก์ที่ได้รับจาก SMS จากนั้นสร้างรหัส Passcode จำนวน 6 หลัก ถ่ายรูปบัตรประชาชน ถ่ายรูปหน้าตรง กรอกข้อมูลส่วนตัว ที่อยู่ตามบัตรประชาชน ที่อยู่จัดส่งบัตร BigPay ที่ทำงาน กรอกรหัสผู้แนะนำ (ถ้ามี) เสร็จแล้วก็จะเข้าสู่หน้าบัญชี
หากเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิด BigPay พบว่านอกจากบัตร BigPay แล้ว ได้พัฒนาให้โอนเงินไปยังบัญชีธนาคาร 10 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย บังคลาเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เนปาล สิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม รวมทั้งยังสามารถ จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดผ่าน DuitNow QR ในประเทศมาเลเซีย หรือ NETS ของสิงคโปร์ และพร้อมเพย์ของไทย
นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชัน สินเชื่อบุคคล (BigPay Personal Loans) ที่ระบุว่าเป็นสินเชื่อดิจิทัลเต็มรูปแบบ อนุมัติภายใน 5 นาที ไม่ต้องใช้เอกสารแสดงรายได้ และสามารถผ่อนชำระได้สูงสุด 12 เดือน
ขณะที่การจองตั๋วแอร์เอเชีย สำหรับเที่ยวบินเข้า-ออกประเทศมาเลเซีย ยกเลิกค่า Processing Fee ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2562 เป็นต้นมา ปีที่แล้วมีโปรโมชันสำหรับผู้ถือบัตร BigPay ที่ออกในประเทศมาเลเซีย ได้แก่ รับคะแนน 2 เท่า จองเที่ยวบินระหว่างประเทศกรอกโค้ดลด 5% จองโรงแรมกรอกโค้ดลด 50 ริงกิต และใช้บริการเรียกรถ 5 ครั้งรับคูปองมูลค่า 10 ริงกิต
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา แอร์เอเชียเปลี่ยนชื่อแอปพลิเคชันและไอคอน จาก airasia Superapp เป็น AirAsia MOVE โดยฟังก์ชันจองเที่ยวบินของแอร์เอเชีย และสายการบินพันธมิตรกว่า 700 สายการบิน โรงแรมที่พัก รถโดยสาร และอื่นๆ ยังคงเหมือนเดิม และเร็วๆ นี้จะมีการปรับเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ให้ตอบโจทย์ในทุกบริการ
ขณะที่ในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา เฉพาะสายการบินไทยแอร์เอเชีย ภายใต้ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) มีผู้โดยสารตลอดปี 18.9 ล้านคน แบ่งออกเป็นเที่ยวบินในประเทศ 63% และเที่ยวบินระหว่างประเทศ 37% คาดว่าตลาดเส้นทางระหว่างประเทศ การกลับมาของตลาดจีน ซึ่งมีเส้นทางบินสู่จีนมากที่สุด และเปิดเส้นทางบินใหม่ จะทำให้ปี 2567 มีผู้โดยสาร 20-21 ล้านคน
คงต้องดูว่าก้าวต่อไปของ BigPay ที่เปิดให้บริการในประเทศไทยจะมีอะไรจูงใจกับผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้โดยสารแอร์เอเชียนับสิบล้านคนในไทย ที่ยังคงมีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ รวมทั้งตลาดอี-วอลเล็ตในไทยที่มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว ต้องหยุดให้บริการไปแล้วหลายราย
(รีวิวเรื่องราวการตลาด เกาะกระแสเศรษฐกิจ ธุรกิจ ที่ใกล้ชิดผู้บริโภคอย่างตรงไปตรงมา พบกับคอลัมน์ #iBusinessReview เป็นประจำทุกสัปดาห์ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)