xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองไม่ลงตัว ยื้อเก้าอี้ ผู้ว่าฯ รฟม.-รฟท. วัดกำลังนายทุนรถไฟฟ้าชิงเค้กระบบรางแสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เก้าอี้ "ผู้ว่าฯ รฟม.-รฟท" ยังไม่ลงตัว "ภคพงษ์" และ "นิรุฒ" ใกล้ครบวาระ เกมชิงเค้กแสนล้านฝุ่นตลบฝ่ายการเมืองยื้อ วัดกำลังนายทุนรถไฟฟ้า 2 ค่าย คาดตั้งรักษาการฯ ไปก่อน สะพัด "สุริยะ" วางเด็กปั้น ข้ามห้วยจาก ก.อุตฯ ด้าน "สุรพงษ์" อยากดันคนในคุม

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2567 นี้จะมีผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสำคัญ 2 แห่งครบวาระการดำรงตำแหน่ง คือ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ  ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยจะครบวาระในวันที่ 20 มีนาคม 2567 เนื่องจากอายุ 60 ปี ซึ่งนายภคพงศ์ได้รับการสรรหาเป็นผู้ว่าฯ รฟม.เมื่อปี 2561 ดำรงตำแหน่ง 4 ปี และเมื่อเดือนเมษายน 2565 ได้รับการต่อสัญญาจ้างวาระอีก 2 ปี และอีกหน่วยงานคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท. จะครบวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ในวันที่ 23 เม.ย. 2567 

ซึ่งว่ากันตามหลักการควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าฯ คนใหม่ก่อนผู้ว่าฯ คนปัจจุบันจะครบวาระประมาณ 3-6 เดือน เนื่องจากตามกระบวนการสรรหาฯ มีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 เพื่อให้ได้ตัวผู้ว่าฯ คนใหม่เข้าทำงานต่อเนื่องได้ทันทีเมื่อคนเก่าครบวาระ แต่ขณะนี้ทั้ง 2 หน่วยงานยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าฯ คนใหม่แต่อย่างใด  

ทั้ง รฟม.และ รฟท.ถือเป็นรัฐวิสาหกิจใหญ่ มีหน้าที่ดูแลโครงการรถไฟฟ้าและรถไฟที่มีแผนลงทุนมูลค่านับแสนล้านบาท การเปลี่ยนตัวผู้บริหารในช่วงเวลาที่มีรัฐบาลใหม่จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่าทุกยุคทุกสมัย ใครจะมาเป็นเบอร์ 1 ของรฟม.และ รฟท.จะต้องมีสายสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับฝ่ายการเมือง และถูกส่งเข้ามาทำงานขับเคลื่อนนโยบาย


รายงานข่าวระบุว่า สาเหตุที่ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าฯ ทั้ง 2 หน่วย เนื่องจากฝ่ายการเมืองที่มีอำนาจยังตกลงเรื่องตัวบุคคลกันไม่ได้ โดยเฉพาะ รฟม.ที่ยังมีประเด็นพิพาทค้างคาอยู่ที่ศาลปกครองของกลุ่มทุนรถไฟฟ้า 2 ค่ายในเรื่องการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ว่ากันว่าเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับเก้าอี้ผู้ว่าฯ รฟม.คนใหม่ ขณะที่การแบ่งหน่วยงานของรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ก็ถูกตั้งข้อสังเกตมาตั้งแต่แรกว่าเหตุใดนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะรมว.คมนาคม จึงไม่กำกับงานระบบรางเอง แต่กลับมอบให้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กำกับดูแลหน่วยงานระบบรางทั้งหมด ซึ่งนายสุรพงษ์นั้นเข้ามารับตำแหน่ง รมช.คมนาคม ท่ามกลางกระแสข่าวว่าเป็นโควตากลุ่มทุนรถไฟฟ้าค่ายหนึ่ง

ทำให้มีการจับตามองว่าเมื่อนายสุรพงษ์ ได้กำกับดูแล รฟม.แล้วน่าจะเร่งปรับเปลี่ยนบอร์ด รฟม.ชุดใหม่เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯ รฟม. แต่เพราะผู้มีอำนาจตัวจริงทางฝ่ายการเมืองไม่เห็นด้วย และต้องการให้นายภคพงศ์ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ รฟม.จนครบวาระ อีกทั้งคดีการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มยังอยู่ในการพิจารณาควรรอให้ศาลปกครองสูงสุดตัดสินก่อน

@รฟม.ตั้งรักษาการผู้ว่าฯ ส่วน "นิรุฒ" ยังลุ้นบอร์ด รฟท.ต่อวาระ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ในส่วนของ รฟม. ภายหลังนายภคพงศ์หมดวาระในวันที่ 20 มีนาคม 2567 นี้ คาดว่าจะมีการแต่งตั้งนายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รฟม. ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าฯ รฟม.ตาม พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

ข้ามไปที่การรถไฟฯ ซึ่งนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท. จะครบวาระวันที่ 23 เม.ย. 2567 ต้องรอดูท่าทีของบอร์ด รฟท.ในการประชุมเดือน มี.ค.นี้ก่อนว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเคลื่อนไหวของพนักงาน รฟท.ออกมาสนับสนุนให้ต่อวาระนายนิรุฒอีกสมัย โดยมีการยื่นหนังสือต่อนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะประธานบอร์ด รฟท. ซึ่งนายจิรุตม์ระบุว่าบอร์ดรฟท.ยังไม่ได้พิจารณาแนวทางใด ไม่ว่าจะเป็นกรณี รฟท. บอร์ดยังสามารถพิจารณาต่อวาระให้นายนิรุฒให้เป็นผู้ว่าฯ ได้อีกสมัย หรือจะเปิดสรรหาฯ ผู้ว่า แต่หลังวันที่ 23 เม.ย.นี้ หากไม่มีการพิจารณาต่อวาระให้นายนิรุฒก็เท่ากับปิดประตูแนวทางนี้ และคาดว่าจะมีการแต่งตั้งรักษาการผู้ว่าฯ รฟท.เพื่อทำหน้าที่แทนไปก่อน ซึ่งตาม พ.ร.บ.การรถไฟฯ มาตรา 36 ที่ให้บอร์ดรฟท.แต่งตั้งจากเป็นพนักงาน รฟท. ทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าฯ รฟท.


@“สุริยะ” ยันทำงานร่วม "สุรพงษ์" รมช.คมนาคม ไม่มีปัญหา

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า กลุ่มทุนรถไฟฟ้าค่ายหนึ่งเข้าทาง รมว.คมนาคม ส่วนรถไฟฟ้าอีกค่ายมี รมช.คมนาคมเป็นตัวแทน ดังนั้น แม้จะเป็นพรรคเดียวกัน แต่ก็ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งเรื่องนี้นายสุริยะเคยกล่าวยืนยันว่า ในการทำงานพูดคุยกันได้ไม่มีปัญหาอะไร และแม้จะมอบหมายหน่วยงานด้านระบบรางให้ รมช.สุรพงษ์กำกับดูแล แต่ในคำสั่งระบุไว้ชัดเจนว่า เรื่องนโยบาย และการบริหารงานบุคคลเป็นอำนาจของ รมว.คมนาคม ส่วนผู้ว่าฯ รฟม. และผู้ว่าฯ รฟท.นั้นหากครบวาระแล้วการสรรหายังไม่เสร็จก็ต้องแต่งตั้งรักษาการฯ ทำงานแทนไปก่อน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของหน่วยงานอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวระบุว่าล่าสุด อาจจะมีการข้ามห้วยของคนจากหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่นายสุริยะเคยเป็น รมต.ในสมัยที่แล้ว มาเป็นผู้ว่าฯรฟท.คนใหม่ ขณะที่นายสุรพงษ์อยากจะผลักดันคนในกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นเบอร์ 1 ของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ย้ายมาคุมรถไฟ ซึ่งหากเจรจากันลงตัว นายสุริยะอาจต้องโยกคนของตัวเองไปเป็นผู้ว่าฯ รฟม. หรืออาจจะสลับกับรัฐวิสาหกิจอื่น เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่ง นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าฯ กทพ. จะครบวาระ 4 ปีในวันที่ 2 ส.ค. 2567 นี้ก็เป็นไปได้ ขณะที่นายนิรุฒ ผู้ว่าฯรฟท.คนปัจจุบัน ยังมีโอกาสได้ต่อวาระอีกสมัย ทุกอย่างขึ้นกับฝ่ายการเมืองจะเจรจาตกลงกันอย่างไร แต่หากยังตกลงไม่ได้ ทั้ง รฟม.และ รฟท.ก็จะอยู่ในภาวะมีผู้ว่าฯ รักษาการต่อไป

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ  ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)  
@รฟม.คุมสัมปทานรถไฟฟ้าแสนล้าน -เผือกร้อน "สีส้ม"

สำหรับ รฟม.นั้นมีภารกิจในการบริหารสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ-ท่าพระ-บางแค, โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงคลองบางไผ่-เตาปูน, โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี, โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง

และมีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง คือรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 1.01 แสนล้านบาท และเตรียมประกวดราคาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง, โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร วงเงิน 1.21 แสนล้านบาท ที่มีประเด็นฟ้องร้อง รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าในภูมิภาคและดำเนินตามนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) .
@รถไฟตั้งแท่นลงทุนทางคู่เฟส 2 กว่า 2.7 แสนล้าน

ส่วน รฟท.มีโครงการมูลค่าลงทุนหลายแสนล้านบาทที่เตรียมประมูล ได้แก่โครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,479 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 275,303.78 ล้านบาท รถไฟความเร็วสูงความร่วมมือไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. วงเงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท และแผนการจัดหารถจักร ล้อเลื่อน ได้แก่ รถโดยสาร 1,213 คัน รถสินค้า 946 คัน หัวรถจักร 50 คัน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น