ที่ผ่านมากรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้มีการปรับลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนธุรกิจทุกประเภทลง 50% ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2569 ซึ่งมี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมอยู่ด้วย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น และดึงดูดนักลงทุนให้เข้าสู่พื้นที่มากขึ้น และยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น มีการจัดทำโครงการช่วยเหลือเจาะลึกลงไปถึงผู้ประกอบการรายย่อย รายเล็ก และรายกลาง (MSME) มากขึ้น
ล่าสุดได้ลงพื้นที่ไปยัง จ.ปัตตานี ระหว่างวันที่ 1-3 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา เริ่มจากจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) และกิจกรรมการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ โรงแรม ซี.เอส. จ.ปัตตานี ในวันที่ 1 มี.ค. 2567 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จังหวัดปัตตานี โดยนางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดย พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
เป้าหมายของการลงนาม MOU ในครั้งนี้ คือ เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาทักษะการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมาก และในพื้นที่มีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายทางธุรกิจกันอยู่แล้ว ทำให้ง่ายต่อการเข้าถึงและพัฒนา
เปิดแผนปั้น “ปัตตานีโมเดล”
นางอรมนกล่าวว่า แนวทางการพัฒนากลุ่มสตรี 3 จังหวัดใต้ภายใต้ MOU ฉบับนี้ ประกอบไปด้วยแนวทางการดำเนินการ 3 ด้าน ได้แก่
1. ปั้นธุรกิจให้แข็งแรง สร้างความรู้ด้านการตลาด ตั้งแต่เริ่มต้นวิธีก่อร่างสร้างธุรกิจของ SMEs ทำอย่างไรให้สินค้า บริการเข้าไปสู่ตลาดออนไลน์ได้ ซึ่งเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าที่หลากหลายและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ในวงกว้างไม่รู้จบ รวมถึงการบริหารระบบหลังบ้านให้เป็นมืออาชีพคือสิ่งที่ SMEs ยังมีข้อจำกัด โดยกรมจะเชิญผู้เชี่ยวชาญไปให้ความรู้ด้านบริหารและการจัดการบัญชีให้มีมาตรฐานด้วย ประกอบกับสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าด้วยการพัฒนารูปแบบ Packaging ให้ดึงดูดน่าสนใจ สื่อสารถึงสินค้าได้อย่างชัดเจน
2. เพิ่มช่องทางขายของ สร้างโอกาสทางการค้าดึงของดีในท้องถิ่นของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีอยู่จำนวนมากให้เป็นของเด่นในประเทศ พร้อมด้วยการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสมกับธุรกิจแต่ละประเภท
3. โยงใยเครือข่ายธุรกิจ เมื่อธุรกิจสามารถดำเนินไปอย่างมืออาชีพและมีช่องทางการขายที่หลากหลายแล้ว การทำธุรกิจในยุคนี้จะต้องมีการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงกับผู้ผลิตวัตถุดิบ ร้านค้าส่งที่จะช่วยกระจายสินค้า หรือแม้กระทั่งธุรกิจในประเภทเดียวกันเองก็สามารถรวมตัวกันเพื่อเกื้อกูลกันทางธุรกิจ
ติวเข้มวิธีการทำธุรกิจทันที
ทั้งนี้ ภายหลังจากลงนาม MOU แล้ว ได้มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่กลุ่มสตรี และเจ้าของธุรกิจที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด โดยเป็นการอบรมในเรื่องการทำตลาดออนไลน์ และสอนการจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ (Display) ให้ดึงดูดลูกค้า
ขณะเดียวกัน ได้จัดกิจกรรมแสดงและจำหน่ายสินค้าจากกลุ่มสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 30 ราย เช่น ผ้าบาติก เครื่องจักสาน ขนมโบราณ โรตีกรอบ ชุดข้าวยำพร้อมรับประทาน น้ำบูดู ลูกหยีแปรรูป ข้าวเกรียบปลา และเกลือสมุนไพร เป็นต้น รวมถึงกิจกรรมสาธิตวิธีการผลิตสินค้าเด่นของปัตตานีอย่างกลุ่มสตรีรายาบาติก และสมุนไพรไทยจากยาสมุนไพร
นำร่องช่วยขายดึงบิ๊กธุรกิจมาซื้อ
ต่อมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจับมือ จ.ปัตตานี จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างเทรดเดอร์ บายเออร์รายใหญ่ของประเทศไทย กับผู้ประกอบการสินค้าชุมชนกลุ่มสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ประกอบการสินค้าชุมชน จ.พัทลุง จ.สงขลา ในวันที่ 2 มี.ค. 2567 ณ โรงแรม ซี.เอส. จ.ปัตตานี
การจัดงานครั้งนี้มีเทรดเดอร์ บายเออร์ 5 ราย ได้แก่ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด บริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด และสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย บินตรงจากส่วนกลางเข้าร่วมเวทีเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการชุมชนกว่า 45 ราย จาก 5 จังหวัด เพื่อนำผลิตภัณฑ์ชุมชนจากแดนใต้จำหน่ายในศูนย์การค้า และร้านค้าต่างๆ ของเทรดเดอร์และบายเออร์ที่เข้าร่วมเจรจาธุรกิจ
ภายในงานดังกล่าว ผู้ประกอบการได้นำผลิตภัณฑ์มาจัดแสดง โดยบางรายมีการสาธิตกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อให้เทรดเดอร์ บายเออร์ ได้เห็นรายละเอียดขั้นตอนการผลิต หลังจากนั้นมีการเจรจาธุรกิจ โดยระหว่างการเจรจาธุรกิจ เทรดเดอร์ บายเออร์ ได้ให้คำปรึกษาแนะนำถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์และแพกเกจจิ้ง เพื่อให้ดึงดูดความน่าสนใจผู้บริโภค ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่นขึ้นด้วย ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับความรู้ ข้อเสนอแนะที่ดี ก่อนนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาดต่อไป
“กรมตั้งเป้าไว้ว่าสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าจำหน่ายภายในศูนย์การค้า และร้านค้าต่างๆ ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ประกอบการมีช่องทางในการขายสินค้าเพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมชุมชนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยเฉพาะการส่งเสริมและผลักดันให้เป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ที่แสดงถึงความมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่เป็นหนึ่งเดียว ตลอดจนสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่ผู้ประกอบการชุมชนระยะยาว” นางอรมนกล่าว
ปิดดีล 68 คู่ 110 รายการ มูลค่า 15 ล้าน
สำหรับผลการเจรจาธุรกิจในครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยภายในวันเดียวสามารถปิดดีลการเจรจาได้ถึง 68 คู่ สินค้าชุมชนรวม 110 รายการ สร้างมูลค่าการค้ากว่า 15 ล้านบาท และมียอดขายภายในงานทันที 649,000 บาท
ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจจากเทรดเดอร์ บายเออร์ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ผ้าบาติกพิมพ์มือผสมลายเขียนมือ 2. กรือโปะ (ข้าวเกรียบปลา) 3. ทุเรียนเคี้ยวหนึบ 4. เครื่องจักสานจากกระจูด และ 5. สมุนไพรแปรรูปเวชสำอาง ซึ่งทั้ง 5 ผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าชุมชนที่เป็นไฮไลต์ของแต่ละพื้นที่ และคาดว่าเมื่อถูกนำไปจำหน่ายจะเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวไทย เป็นการสร้างโอกาสทางการค้าให้ผู้ประกอบการสินค้าชุมชนได้ขยายตลาดให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น และเป็นการกระตุ้นตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนของไทยอย่างต่อเนื่อง
ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประกอบการ
จากนั้นในวันที่ 3 มี.ค. 2567 นางอรมนได้ทำทีมกรมพัฒนาธุรกิจการค้าลงพื้นที่พบผู้ประกอบการชุมชน จ.ปัตตานี 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ แปรรูปอาหารทะเล สมุนไพร และค้าส่งค้าปลีก ตามนโยบาย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการให้มีการพบปะผู้ประกอบการทุกกลุ่ม เพื่อเข้าถึงความต้องการของภาคธุรกิจแต่ละพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ส่งผลถึงรูปแบบและแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอย่างตรงจุด ช่วยขยายช่องทางการตลาดให้หลากหลาย ขจัดปัญหาอุปสรรคทางการค้า อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ รวมทั้งสร้างความสมดุลธุรกิจผ่านการจ้างงานคนในพื้นที่ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เกิดการหมุนเวียน สร้างความเข้มแข็งธุรกิจท้องถิ่นระยะยาว
“ที่เลือก 3 กลุ่มธุรกิจข้างต้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่อยู่ในการส่งเสริมสนับสนุนของกรม เป็นธุรกิจเป้าหมายที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และสามารถจ้างงานคนในท้องถิ่นเพื่อเข้ามาทำงานในธุรกิจได้ ซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์ของการลงพื้นที่ อีกทั้งเป็นธุรกิจที่ศักยภาพสูงสามารถพัฒนาให้เป็นหน่วยเศรษฐกิจหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดให้มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง” นางอรมนกล่าว
สำหรับธุรกิจแรกที่ตรวจเยี่ยม คือ บริษัท มาเรียโอเชี่ยน จำกัด เป็นธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล ตั้งอยู่ที่ อ.ยะหริ่ง โดยมาเรียโอเชี่ยน ช่วยให้กลุ่มชาวประมงในพื้นที่สามารถขายวัตถุดิบได้ในราคาที่สูงขึ้น เน้นการจ้างงานคนในพื้นที่เป็นหลัก ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทำให้คนในพื้นที่สามารถพึ่งพาตนเองภายใต้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม
ปัจจุบันมาเรียโอเชี่ยนส่งอาหารทะเลแปรรูปไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยนำผลกำไรที่ได้ส่วนหนึ่งกลับมาพัฒนาชุมชนและคนในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการประกอบธุรกิจจะเน้นผลลัพธ์ให้เกิดแก่ชุมชน 5 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจชุมชน ด้านคุณภาพชีวิต ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ และด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ มาเรียโอเชี่ยน ยังเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างผลลัพธ์ทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจาก จ.ปัตตานี และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มาอย่างต่อเนื่อง
ธุรกิจที่ 2 ธุรกิจสมุนไพร คือเครือข่ายปลูกสมุนไพรลังกาสุกะ ตั้งอยู่ที่ อ.ยะหริ่ง โดยสมุนไพรที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยม ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร ซึ่งสามารถปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยลังกาสุกะได้รับการพัฒนาให้เป็น “ลังกาสุกะโมเดล” ที่เข้ามามีบทบาทพัฒนาด้านสาธารณสุขตั้งแต่ปี 2551 โดยนำหลักแพทย์แผนไทยมาใช้ในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและยาสมุนไพรในราคาไม่แพง รวมถึงช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพแก่คนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของเครือข่ายอย่างแนบแน่น ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง ในอนาคตจะมีการพัฒนายาสมุนไพรให้เป็นสินค้าพรีเมียมโปรดักต์ นำไปสู่การเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ แก้ปัญหาทางสังคม และสร้างความยั่งยืนให้ชุมชนอย่างยั่งยืน
และบริษัท ศยาสมุนไพร จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.เมืองปัตตานี เป็นนิติบุคคลที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แบรนด์ “ศยาสมุนไพร” ปัจจุบันจะผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องสำอางสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สำหรับร่างกาย เช่น โรลออน แชมพู สบู่ โลชั่น ยาดม น้ำมันเหลือง น้ำมันนวด และน้ำมันมะพร้าว นอกจากนี้ ยังรับสร้างแบรนด์ให้กับลูกค้าที่ต้องการเริ่มต้นหรือต่อยอดธุรกิจ โดยจะเข้าไปช่วยผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์จนผ่านการรับรองมาตรฐานจาก อย. มผช. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน) OTOP (โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย) เครื่องหมายฮาลาล และได้รับรางวัล OTOP 4 ดาว ประจำปี พ.ศ.2562 (สำหรับแชมพู สมุนไพรและโรลออนศยา) ช่วยให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่า ศยาสมุนไพรเป็นแบรนด์คุณภาพ ลูกค้าสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพได้อย่างปลอดภัย
ส่วนธุรกิจที่ 3 ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก คือ บริษัท ภรณ์นิเวศน์ ซุปเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการห้างซุปเปอร์ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ตั้งอยู่ อ.เมืองปัตตานี เป็นธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกท้องถิ่นที่ดำเนินธุรกิจในพื้นที่มานานกว่า 37 ปี ปัจจุบันมีสัดส่วนคือ ธุรกิจค้าส่ง 40% และค้าปลีก 60% ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เน้นขายสินค้าที่ดีมีมาตรฐาน ราคาประหยัด โดยมีการส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ เพื่อดึงดูดประชาชนเข้ามาใช้บริการและซื้อสินค้า การบริหารจัดการธุรกิจจะให้ความสำคัญต่อลูกค้าเป็นลำดับแรก และเปิดโอกาสให้พนักงานภายในร้านมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ พนักงานถือเป็นส่วนสำคัญในการทำให้แผนกลยุทธถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะทำให้องค์กรบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่ายร้านค้าปลีกประมาณ 50 ร้านค้า และคอยให้คำปรึกษาแนะนำการบริหารจัดการให้แก่ร้านค้าปลีกที่เป็นสมาชิกด้วย บริษัท ภรณ์นิเวศน์ ซุปเปอร์สโตร์ จำกัด ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนายกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจค้าส่งค้าปลีกกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อปี 2559 และให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ กับกรมฯ มาอย่างต่อเนื่อง
นำปัญหาอุปสรรคจัดทำแผนช่วย
นางอรมนกล่าวว่า หลังจากที่ได้รับฟัง พูดคุยถึงรายละเอียด ปัญหา อุปสรรค ของผู้ประกอบการ รวมทั้งความต้องการได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากภาครัฐของทั้ง 3 ธุรกิจแล้ว กรมจะเร่งสรุปปัญหา อุปสรรค ความต้องการของภาคธุรกิจ พร้อมจัดทำแผนพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจแต่ละพื้นที่อย่างครบวงจร โดยเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ พร้อมทั้งจะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำนวัตกรรมมาใช้เป็นเครื่องมือเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจและประชากรในชุมชนต่อไป
ส่วนผลจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ กรมมีความเชื่อมั่นว่า ธุรกิจท้องถิ่น เป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญในพื้นที่ และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง และขอชื่นชมภาคธุรกิจในจังหวัด ที่มีการประกอบธุรกิจด้วยความแข็งแกร่ง โดยสิ่งที่สัมผัสได้จากผู้ประกอบการในพื้นที่ คือพลังความร่วมมือของคนในพื้นที่ที่ต้องการให้ จ.ปัตตานีมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ จ.ปัตตานีเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ หลังจากที่กรมได้นำร่องการขับเคลื่อน “ปัตตานีโมเดล” ที่ จ.ปัตตานีแล้ว จะนำความสำเร็จที่ได้รับไปดำเนินการต่อ และขยายโอกาสทางการค้าไปอีก 2 จังหวัดชายแดนใต้ คือ จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส เพราะเป็นจังหวัดที่ผู้ประกอบการสตรีมีศักยภาพสูงในการทำธุรกิจเช่นเดียวกัน