xs
xsm
sm
md
lg

#iBusinessReview : จับตา‘เรดวัน’MVNO จากมาเลเซียถึงเมืองไทย ตัวเลือกที่ไม่ได้มีแค่สอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ในปีที่ผ่านมา สังคมต่างกังวลว่าการควบรวมกิจการของธุรกิจโทรคมนาคม อาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค และมองว่าค่ายมือถือเหลือเพียงไม่กี่ค่าย ค่าบริการไม่ต่างกัน ไม่เกิดการแข่งขัน แต่อีกด้านหนึ่งยังพบว่า มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนเครือข่ายเสมือน หรือ MVNO (Mobile Virtual Network Operators) เริ่มทำตลาดอย่างหนักเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภค

หนึ่งในนั้นคือ บริษัท เรดวัน เน็ตเวิร์ค (ประเทศไทย) จำกัด หรือ redONE ผู้ให้บริการ MVNO บนเครือข่าย NT ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) อาจมีหลายคนสงสัยว่า "เรดวัน" คืออะไร เพราะต่างก็มีภาพจำว่าเครือข่ายมือถือในไทยวันนี้มีเพียงสองค่ายใหญ่ แต่ถ้าเป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ถือเป็นเครือข่ายยอดนิยมที่ให้บริการมาอย่างยาวนาน


redONE เริ่มต้นให้บริการในประเทศมาเลเชียเมื่อปี 2555 โดยใช้ เครือข่าย Celcom Axiata เน้นให้บริการภายใต้คอนเซปต์ Back to Basics ด้วยแพ็คเกจรายเดือนที่เข้าใจง่าย เหมาะกับผู้ใช้งาน ทำให้ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ต่อมาในปี 2562 ได้เปิดตัวที่ประเทศสิงคโปร์ โดยใช้เครือข่าย StarHub ก่อนจะให้บริการในไทยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564

โดยให้บริการแบบรายเดือน (Postpaid) เน้นครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้งานในราคาสมเหตุสมผล ไม่แพงเหลือใช้และไม่น้อยจนขาดช่วง ไม่ต้องจ่ายบริการไม่จำเป็น ได้ใช้งานมือถือตรงความต้องการอย่างแท้จริง ปัจจุบันราคาเริ่มต้นที่ 199 บาทต่อเดือน สูงสุดอินเทอร์เน็ตไม่จำกัด โทรฟรีไม่จำกัดทุกเครือข่าย ราคา 699 บาทต่อเดือน


ปัจจุบัน redONE มียอดผู้ใช้งานในประเทศไทยกว่า 30,000 เลขหมาย ตั้งเป้ายอดผู้ใช้งานในปี 2567 อยู่ที่ 100,000 เลขหมาย พร้อมฐานตัวแทนผู้ให้บริการกว่า 3,000 จุดครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ




ที่ผ่านมามีการทำตลาดในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งผ่านโซเชียลมีเดีย สื่อนอกบ้านตามชุมชนจังหวัดต่างๆ และจุดขายผ่านตัวแทนจำหน่าย ตั้งแต่ ตัวแทนประจำจังหวัด (AG) จังหวัดละ 1 แห่ง ตัวแทนระดับเขต (PNC) ที่เน้นสร้างทีมขายและบริหารเอง ตัวแทนบุคคลทั่วไป (SA) เน้นขายผ่านผู้บริโภคโดยตรง และ ตัวแทนร้านค้าปลีก (NC) ตามร้านหรือบูธขายโทรศัพท์มือถือต่างๆ

เพนพอยต์ที่ redONE พบเจอบ่อยครั้ง คือ ลูกค้าถามว่า "เรดวันคืออะไร?" จึงได้พยายามสื่อสารการตลาดให้เป็นที่รู้จัก สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค อาทิ ผู้สนับสนุนฟุตบอลทีมชาติไทย ช้างศึก 2024 อย่างเป็นทางการ รวมทั้งตัวแทนจำหน่ายสื่อสารถึงผู้บริโภคด้วยจุดขายหลัก คือ อินเทอร์เน็ตไม่ลดสปีด เร็วและแรงในราคาเบาๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนระหว่างเดือน




ขณะที่ประเทศมาเลเซีย redONE ประสบความสำเร็จด้วยจำนวนฐานผู้ใช้งานกว่า 2 ล้านราย และได้ขยายไปสู่ธุรกิจอื่น อาทิ บริการสินเชื่อเงินสดออนไลน์ redCASH สำหรับลูกค้าเรดวัน มาเลเซีย วงเงินตั้งแต่ 1,000-10,000 ริงกิต อัตราดอกเบี้ยพิเศษ รวมทั้งบริการอื่นๆ ได้แก่ การประกันภัยภายใต้ชื่อ redCARE และแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ redMALL เป็นต้น



ในงานเลี้ยงขอบคุณประจำปี redONE Star Night 2024 ที่เก็นติ้งไฮแลนด์เมื่อเดือนก่อน ได้ประกาศแผนงานว่า ในปี 2567 จะได้เห็น redONE รีเฟรชแบรนด์ใหม่เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น รวมทั้งเปิดแผนบริการ 5G ทั้งระบบรายเดือนและเติมเงิน

ที่ผ่านมา เรดวัน มาเลเซีย เน้นทำการตลาดสปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง เป็นผู้สนับสนุนทีมกีฬาต่างๆ ล่าสุดดึงอดีตนักฟุตบอลทีมชาติมาเลเซีย ซาฟิอี ซาลี เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ เพื่อโปรโมตแพ็คเกจ UX50 โดยที่ก่อนหน้านี้ยังได้ซื้อลิขสิทธิ์การตั้งชื่อสถานีรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ภายในสถานีเคแอล เซ็นทรัล กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยใช้ชื่อว่า KL Sentral redONE เป็นเวลา 5 ปี




จากมาเลเซียกลับมาที่ประเทศไทย ปัจจุบัน NT มีจำนวนเลขหมายมือถือสะสมกว่า 9 ล้านเลขหมาย แต่ข้อมูลในปี 2565 มีผู้ใช้บริการ 2.16 ล้านเลขหมาย แบ่งออกเป็นให้บริการโดย NT จำนวน 2.1 ล้านเลขหมาย และให้บริการโดย MVNO เพียง 6.3 หมื่นเลขหมาย จากผู้ให้บริการ 4-5 ค่ายโดยประมาณ จึงยังมีโอกาสที่จะทำการตลาดเพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภคได้อีกมาก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาและอุปสรรคของ MVNO คือ เมื่อซื้อบริการจากเครือข่ายหลัก นอกจากต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเลขหมายแก่ กสทช. เดือนละ 1.50 บาทต่อเลขหมายแล้ว ยังต้องจ่ายค่าบริการอื่นๆ ให้กับเจ้าของเครือข่าย ประมาณเดือนละ 10 บาท*

จากต้นทุนดังกล่าว จึงน่าสังเกตว่า แพ็คเกจมือถือของ MVNO แต่ละค่ายแตกต่างจากค่ายหลัก คือ หากใช้อินเทอร์เน็ตปริมาณน้อยราคาจะแพง แต่หากใช้ในปริมาณมากราคาจะถูก แม้มีข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยีที่ยังไม่มี 5G ก็ตาม จึงเหมาะสำหรับผู้ใช้มือถือที่ต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตหรือการโทรเป็นหลัก ไม่ต้องการบริการเสริม เช่น ความบันเทิงต่างๆ ที่ไม่จำเป็น


ขณะเดียวกัน NT ในฐานะผู้ให้บริการเครือข่ายของตนเอง ภายใต้ชื่อ my 5G และขายส่งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่บรรดา MVNO จำเป็นต้องพัฒนาและบำรุงรักษาเครือข่ายให้มีสภาพดีอยู่เสมอ เพื่อให้บรรดาผู้ให้บริการ MVNO สามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือและสามารถแข่งขันในตลาดได้ แม้จะแตกต่างจากค่ายใหญ่ที่มีเครือข่ายและคลื่นความถี่เป็นของตัวเองก็ตาม


* หมายเหตุ : ข้อมูลจากรายงานการประชุม กสทช. ครั้งที่ 20/2566 ลงวันที่ 12 ต.ค. 2566 พบว่า MVNO นอกจากต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้ กสทช. เลขหมายละ 1.50 บาทต่อเดือนแล้ว ต้องจ่ายค่าตอบแทนการใช้งานระบบ Mobile Virtual Network Enabler (MVNE) และการใช้งานอุปกรณ์ Home Location Register (HLR) แก่เครือข่าย เลขหมายละ 10 บาทต่อเดือน

(รีวิวเรื่องราวการตลาด เกาะกระแสเศรษฐกิจ ธุรกิจ ที่ใกล้ชิดผู้บริโภคอย่างตรงไปตรงมา พบกับคอลัมน์ #iBusinessReview เป็นประจำทุกสัปดาห์ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)
กำลังโหลดความคิดเห็น