xs
xsm
sm
md
lg

IRPC แจงปี 66 ขาดทุนลดลง 33% ลุ้นครึ่งหลังปีนี้ปิโตรเคมีส่อฟื้นตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ไออาร์พีซีเผยผลดำเนินงานปี 66 ขาดทุนสุทธิ 2,923 ล้านบาท ลดลง 33% เมื่อเทียบปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 4,363 ล้านบาท คาดแนวโน้มปิโตรเคมีครึ่งหลังปี 67 ส่อแววฟื้นตัวดีขึ้น

นายพิจินต์ อภิวันทนาพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บัญชีและการเงิน บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยว่า ในปี 2566 บริษัทขาดทุนสุทธิ 2,923.17 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 4,363.62 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายสุทธิจำนวน 299,075 ล้านบาท ลดลง 6% เมื่อเทียบกับปีก่อน

โดยในปี 2566 บริษัทมีรายได้จากการขายลดลง มีสาเหตุจากราคาขายเฉลี่ยลดลง 22% ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ปริมาณขายเพิ่มขึ้น 16% สำหรับธุรกิจปิโตรเลียมมีกำไรขั้นต้นจากการกลั่นตามราคาตลาด (Market GRM) ที่ลดลงจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์เทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลง ตามราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยเฉพาะส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลที่อ่อนตัวลง จากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งมีผลกระทบต่ออุปทานของน้ำมันดีเซลอย่างมาก ซึ่งในปี 2566 ปริมาณการกลั่นน้ำมันรวมอยู่ที่ 70.11 ล้านบาร์เรล คิดเป็น 192,000 บาร์เรลต่อวัน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 89% เพิ่มขึ้น 8% จากปี 2565 เนื่องจากในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 บริษัทปิดซ่อมบำรุงใหญ่โรงกลั่นน้ำมันตามแผน (Major Turnaround)

นอกจากนี้ ธุรกิจปิโตรเคมีมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาดของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี (Market PTF) ที่ลดลง จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับราคาแนฟทาปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์กลุ่มปิโตรเคมียังคงซบเซาต่อเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

ขณะที่กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคมีกำไรขั้นต้นค่อนข้างคงที่ จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำ ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 19,344 ล้านบาท (7.90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล) ลดลง 19%

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีของปี 2566 ปรับตัวลดลงจากปีก่อน โดยมีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ทั้งนี้ บริษัทบันทึกกำไรจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมันที่เกิดขึ้นจริง (Realized Oil Hedging) 339 ล้านบาท หรือ 0.14 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากรายการดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันสุทธิ (Net InventoryLoss) รวม 1,123 ล้านบาท หรือ 0.46 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี(Accounting GIM) 18,221 ล้านบาท หรือ 7.44 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน

ขณะเดียวกัน บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 5,754 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,767 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 44% โดยในปี 2566 มีกำไรจากการด้อยค่าและตัดจำหน่ายทรัพย์สิน 825 ล้านบาท จากการกลับรายการด้อยค่าพัสดุคงคลัง ซึ่งในปี 2566 บริษัทบันทึกผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 2,923 ล้านบาท น้อยกว่าปี 2565 ที่ 33%

สำหรับในไตรมาส 4/2566 บริษัทมีรายได้จากการขายสุทธิ 75,296 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากราคาขายเฉลี่ยลดลง 4% ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง ขณะที่ปริมาณขายเพิ่มขึ้น 1% ซึ่งในไตรมาส 4/2566 บริษัทบันทึกผลการดำเนินงาน ขาดทุนสุทธิ 3,417 ล้านบาท น้อยลงเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 7,149 ล้านบาท และลดลง 240% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2566 ที่มีกำไรสุทธิ 2,439 ล้านบาท

ส่วนทิศทางและแนวโน้มราคาน้ำมันดิบปี 2567 คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของโลกอยู่ที่ประมาณ 104 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับปี 2566 อยู่ที่ 102 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ผ่อนคลายลง ขณะที่ทิศทางและแนวโน้มราคาปิโตรเคมี ปี 2567 คาดอุตสาหกรรมปิโตรเคมียังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา จากกำลังการผลิตใหม่ที่ทยอยเพิ่มขึ้นในประเทศจีน ขณะที่ความต้องการของตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่า โดยความต้องการของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในปี 2567 คาดจะเติบโต 2-3% หลังจากผ่านพ้นฐานต่ำในปี 2566 จะเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ในช่วงครึ่งหลังของปีอาจเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของความต้องการที่ชัดเจนขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น