xs
xsm
sm
md
lg

EGCO ลั่นปี 67 โตต่อเนื่อง ลุยโรงไฟฟ้าลม “หยุนหลิน” ให้เสร็จทันสิ้นปีนี้หวั่นถูกปรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ผลิตไฟฟ้า” มั่นใจปีนี้โตต่อเนื่อง รับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าใหม่ที่ COD เพิ่ม รวมทั้งการปิดดีลโรงไฟฟ้า Compass ในสหรัฐฯ พร้อมอัดงบลงทุนปีนี้ 3 หมื่นล้านบาท ลุยเพิ่มกำลังผลิตใหม่อีก 1 พันเมกะวัตต์ พร้อมเร่งติดตั้งกังหันลมให้ครบ 80 ต้นในโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งหยุนหลิน ให้แล้วเสร็จในสิ้นปีนี้ หากเสร็จไม่ทันถูกปรับแน่

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) หรือเอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า ในปี 2567 บริษัทคาดว่าจะมีผลดำเนินงานเติบโตขึ้นกว่าปีก่อน เนื่องจากรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากโรงไฟฟ้าใหม่ที่จ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ในปีนี้ และโรงไฟฟ้าที่เพิ่งปิดดีลซื้อหุ้นในต้นปี 2567 เช่นกลุ่มโรงไฟฟ้า Compass” ที่สหรัฐฯ โครงการพลังงานหมุนเวียนของเอเพ็กซ์ ในสหรัฐฯ โรงไฟฟ้า EGCO Cogen ส่วนขยาย เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทได้ซื้อหุ้น 30% ในบริษัท พีที จันทรา ดายา อินเวสตาสิ (CDI) ที่ดำเนินธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ในเครือบริษัท พีที จันทรา อศรี ปิโตรเคมีคอล ทีบีเค กรุ๊ป (CAP) ผู้นำในธุรกิจเคมีและโครงสร้างพื้นฐานในประเทศอินโดนีเซีย มูลค่าการลงทุน 194 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,800 ล้านบาท ทำให้เอ็กโก กรุ๊ป ร่วมเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่มีศักยภาพในประเทศอินโดนีเซีย ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ 2 แห่ง โรงงานผลิตและบำบัดน้ำ รวมทั้งท่าเทียบเรือและคลังเก็บผลิตภัณฑ์เคมี ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับ CAP ในการลงทุนพลังงานหมุนเวียน เช่น โซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์ลอยน้ำในนิคมฯ ของ CAP ด้วย

นายเทพรัตน์กล่าวว่า ในปี 2567 บริษัทตั้งงบลงทุนรวม 30,000 ล้านบาทเพื่อใช้ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้า ซึ่งปีนี้เอ็กโก กรุ๊ปวางเป้าหมายมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 6,996 เมกะวัตต์


ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมนอกชายฝั่งหยุนหลินในไต้หวันนั้น ขณะนี้มีการติดตั้งกังหันลมแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบแล้ว 33 ต้น โดยสิ้นปีนี้บริษัทจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จครบ 80 ต้น ซึ่งโครงการนี้ได้มีการเจรจาปรับโครงสร้างทางการเงิน หลังจากดีเลย์มาอันเนื่องจากไต้หวันปิดประเทศจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 และการเกิดมรสุมในแต่ละปีทำให้การติดตั้งกังหันลมในทะเลทำได้เพียงปีละ 5-6 เดือนเท่านั้น ส่งผลต้นทุนค่าใช้จ่าย overrun

อย่างไรก็ดี โครงการพลังลมนอกชายฝั่งหยุนหลิน บริษัทไม่สามารถเลื่อนเวลา COD ไปมากกว่านี้แล้ว หากไม่สามารถติดตั้งได้ครบ 80 ต้นภายในสิ้นปี 2567 ก็จะถูกปรับและยุติการติดตั้งกังหันลมส่วนที่เหลือ ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายที่บริษัทคาดหวังว่าจะทำได้ โดยได้ว่าจ้างเรือเพื่อขนเสากังหันลมขนาดใหญ่และหนัก เพื่อดำเนินการตอกเสากังหันลมในทะเลเพิ่มเพื่อเร่งดำเนินการโครงการนี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น