xs
xsm
sm
md
lg

BTS สัญญาณบวกไหลเข้า ตัดขาย “เคอรี่ฯ” ปลดล็อกภาระ - หนุนโต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



จับตา “กลุ่มบีทีเอส” ตัดสินใจขายหุ้น “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” ผู้ถือหุ้นหวังช่วยปลดล็อกสภาพคล่องทางการเงิน เลิกแบกรับผลขาดทุนสะสมจากการแข่งขันขนส่งสินค้าที่ดุเดือด หลังได้สัญญาณบวกเตรียมรับเงินจาก “กรุงเทพธนาคม” 2.3 หมื่นล้านบาทต้นไตรมาส 2 ขณะที่ธุรกิจเดินรถไฟฟ้าเริ่มฟื้นตัว

การประกาศเจตนารมณ์เข้าซื้อกิจการหรือเทกโอเวอร์ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ของบริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของ S.F. Holding Co., Ltd. บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น โดยจะทำคำเสนอซื้อ (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) หุ้นสามัญของ KEX จำนวนทั้งสิ้น 1,275,202,145 หุ้น คิดเป็น 73.18% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ซึ่ง ราคาเสนอซื้อต่อหน่วยอยู่ที่ 5.50 บาท หรือคิดเป็นมูลค่าเสนอซื้อ 7,013 ล้านบาท ถือเป็นข่าวที่นักลงทุนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับผู้ที่ถือครอง หุ้นบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS)

นั่นเพราะการเทนเดอร์ออฟเฟอร์ครั้งนี้เหมือนการเปิดฟ้าให้ BTS และบริษัทในกลุ่มมีโอกาสหลุดพ้นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการเติบโตทางธุรกิจ และกลับมาเป็นกลุ่มธุรกิจที่โดดเด่นได้อีกครั้ง และต้องเข้าใจว่าการทำธุรกิจมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ และไม่ประสบความสำเร็จ แต่ส่วนใหญ่เมื่อไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่ตามมาคือการแบกรับผลจากความผิดพลาดไว้กับตัว และน้อยครั้งที่จะได้พบโอกาสดี ๆ ในการตัดส่วนที่เสียออกไปได้ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับ KEX และ BTS ในเวลานี้

“เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในฐานะผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนภาคเอกชนรายใหญ่ในประเทศไทย โดยมี Kerry Logistics Network Limited (KLN) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทางอ้อม 49% และมีกลุ่มบริษัทของเครือ BTS ถือรวมกันกว่า 20% เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 แต่หลังจากนี้กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อ KEX กำลังจะได้ผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ที่พร้อมจะรับซื้อหุ้นจากผู้ที่ต้องการขาย

ล่าสุด นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร BTS ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อกรณีดังกล่าวว่า บริษัทและบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) (VGI) อยู่ระหว่างการพิจารณาขายหุ้น KEX ออกไปทั้งหมด หลังจากที่ผ่านมาการถือหุ้น KEX ส่งผลกระทบต่องบของบริษัทอย่างต่อเนื่อง เพราะมองว่าเป็นผลดีระยะยาวต่อบริษัท

จากข้อมูลพบว่า กลุ่มบีทีเอสถือหุ้น KEX ผ่าน บริษัท วี จี ไอ จำกัด (มหาชน) (VGI) สัดส่วน 15.45% ขณะที่ BTS ถืออยู่ 5.06% โดยหาก VGI ขายหุ้นทั้งหมดออกมาที่ราคาเทนเดอร์ฯ 5.50 บาทต่อหุ้น พบว่า VGI จะได้รับเงินประมาณ 1,480 ล้านบาท ส่วน BTS จะได้เงินประมาณ 485 ล้านบาท

โดยมีการประเมินว่า หาก BTS และ VGI ตัดสินใจขายหุ้น KEX ออกไป จะทำให้กลุ่มบริษัทไม่มีการรับรู้ขาดทุนเพิ่มเติมในอนาคต จากธุรกิจขนส่งที่แข่งขันกันกันดุเดือด และทั้งสองบริษัทจะกลับมามีผลดำเนินงานที่โดดเด่นอีกครั้ง จากธุรกิจให้บริการเดินรถไฟฟ้าและธุรกิจโฆษณานอกบ้านที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สัญญาณที่เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อราคาหุ้น BTS และ VGI ปรับตัวลดลงจากความกังวลงบไตรมาส 3/2566-2567 ของ VGI จะมีผลขาดทุนสุทธิ 2,700-2,900 ล้านบาท โดยหลักเป็นผลขาดทุนจากการตั้งสำรองการด้อยค่าเงินลงทุนในหุ้น KEX และขาดทุนจากการดำเนินงานกว่า 170-180 ล้านบาท ทำให้แนวโน้มงบปี 2566/2567 อาจมีผลขาดทุนสุทธิกว่า 1,000 ล้านบาท

ขณะที่ บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) เพิ่งรายงานผลขาดทุนสุทธิส่วนของผู้เป็นเจ้าของบริษัทที่ 3,880.6 ล้านบาท สำหรับปี 2566 โดยขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 37.1 สาเหตุหลักมาจากปริมาณการจัดส่งที่ลดลงจากการช่องทางแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคจากการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ ไปสู่การซื้อตามหน้าร้านค้า (Physical offline shopping) หลังการเปิดประเทศ

โดยรายได้จากการขายและการให้บริการอยู่ที่ 11,470.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 32.5 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน อันเนื่องมาจากการลดลงของปริมาณการจัดส่งพัสดุโดยยอดรวมของปริมาณกำรจัดส่งพัสดุลดลงร้อยละ 30 ซึ่งมีสำเหตุหลักมาจากปริมาณการซื้อขายผ่านทางตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ที่ต่ำกว่าบริษัทคาดการณ์ โดยเฉพาะการลดลงในช่วงไตรมาส 3/2566

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 หุ้น KEX เข้าเทรดในตลาดหุ้นไทยครั้งแรกอย่างสวยหรู แม้จะอยู่ในสถานการณ์เกิดการ แพร่ระบาดของโควิด-19 แต่นักลงทุนก็พร้อมเทใจเชื่อมั่นในธุรกิจหุ้นขนส่งที่น่าจับตามอง เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตลาดอี-คอมเมิร์ซเติบโตสูง จากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปซื้อของออนไลน์เป็นหลัก ด้วยราคาปิดตลาดวันแรก 63.00 บาท จากราคาหุ้น IPO ที่ระดับ 28.00 บาท แต่ปัจจุบันราคาหุ้น KEX เคลื่อนไหวอยู่ประมาณ 5.40 บาทต่อหุ้น

ด้วยราคาหุ้นในปัจจุบันของ KEX ถือว่าเป็นการสร้างความผิดหวังให้นักลงทุนที่คาดฝันเอาไว้มาก โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้บริษัทประสบปัญหาขาดทุนมาจากการแข่งขันอันดุเดือดของธุรกิจขนส่งสินค้า จนทำให้ผู้บริหารของ KEX ตัดสินใจปรับกลยุทธ์ลดค่าส่งสินค้า เพื่อตีตลาดขนส่งแบบราคาประหยัด ด้วยหวังว่าปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้นจะเข้ามาชดเชยรายได้ในส่วนที่หายไปได้ แต่จนแล้วจนรอดทุกอย่างไม่ได้เป็นเช่นนั้น ขณะที่บริษัทก็เดินหน้าดัมพ์ราคาค่าบริการอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ฟาก BTS หากไม่นับเรื่อง KEX ถือว่ากำลังอยู่ในช่วงแห่งการฟื้นตัวอย่างเด่นชัดจากปริมาณผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าและกำลังจะได้รับเงินก้อนใหญ่จากปัญหาคาราคาซังของภาครัฐ ดังนั้นหากตัดส่วนที่เป็นปัญหาออกไปได้บางส่วน น่าจะช่วย BTS ให้ดูดีขึ้นได้กว่าเป็นอยู่ในปัจจุบัน ด้วยเพราะ KEX และ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ที่กลุ่มบริษัทถือหุ้นประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด “สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE ของ BTS ออกมาแสดงความเห็นถึงแนวโน้มการดำเนินงานปี 2567/2568 (เม.ย. 2567-มี.ค. 2568) ว่าธุรกิจหลักคือรถไฟฟ้า จะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นกว่าปี 2566/2567 (เม.ย. 2566-มี.ค. 2567) แน่นอน เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) เปิดให้บริการแบบเต็มที่แล้ว

โดยจำนวนผู้โดยสารจะเติบโตขึ้นจากปัจจัยการเติบโตตามธรรมชาติของการให้บริการ ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นจากการที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ อีกทั้งร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรกไปแล้วและเริ่มมีการใช้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไป

นอกจากนี้ BTS มีแผนทำโปรโมชั่นเพื่อจูงใจประชาชนให้หันมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น โดยล่าสุดได้จัดโปรโมชั่นในสายสีเหลือง แพ็กเกจเที่ยวเดินทางเหมาจ่ายรายสัปดาห์ ผู้โดยสารที่ซื้อแพ็กเกจจะได้รับเที่ยวเดินทางจำนวน 10 เที่ยว และมีระยะเวลาในการใช้งาน 7 วัน ราคา 250 บาท (25 บาทต่อเที่ยว) สามารถใช้เดินทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้ทั้ง 23 สถานี

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่เกิดอุบัติเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดร่วงลงมากว่า 4.3 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 นั้น ขณะนี้ BTS ได้ทำการซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะเริ่มเปิดให้บริการครบทั้ง 30 สถานี (จากช่วงซ่อมบำรุงที่ให้บริการได้ 26 สถานี) พร้อมเก็บค่าโดยสารตามอัตราปกติได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป ซึ่ง BTS จะรอดูสถานการณ์การเดินทางอีกระยะ เพื่อจัดทำโปรโมชั่นจูงใจเช่นกัน

ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบคือสายหลัก ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน กับส่วนต่อขยายที่ 1 (ช่วงสถานีสะพานตากสิน-บางหว้า กับอ่อนนุช-แบริ่ง) และส่วนต่อขยาย 2 (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ย 8.2 แสนคนต่อวัน โดยส่วนต่อขยายทั้ง 2 สายทางที่เริ่มจัดเก็บค่าโดยสารมาตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2567 นั้น ส่งผลให้ผู้โดยสารลดลงบ้างเล็กน้อย แต่มั่นใจว่าจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะเติบโตเช่นกัน

 “ผลประกอบการปีหน้าที่จะเริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย. 2567 เชื่อว่าจะดีขึ้นกว่าปี 2566 จากการที่เปิดบริการรถไฟฟ้าเต็มทุกสายแล้ว เศรษฐกิจจะดีขึ้นจากการที่ร่างงบประมาณฯ ผ่านแล้วจะเริ่มมีเงินอัดฉีดเข้ามาในระบบ สงครามต่าง ๆ ก็น่าจะเริ่มคลี่คลายลง ผู้โดยสารจะโตตามเศรษฐกิจ จากที่โตตามธรรมชาติอยู่แล้ว”

จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันสายสีเหลืองมีผู้โดยสารเฉลี่ย 40,000 คนต่อวัน และสายสีชมพูเฉลี่ย 50,000 คนต่อวัน จากที่เคยคาดการณ์จะมีผู้โดยสารของแต่ละสายทางกว่า 100,000 คนต่อวันล่าสุดทางผู้บริหาร BTS ประเมินว่าต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปีจากนี้จำนวนผู้โดยสารจึงจะเริ่มเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดย BTS จะมีการประชุมคณะกรรมการ และแจ้งผลประกอบการงวดไตรมาส 3 ปี 2566/2567 (ต.ค.-ธ.ค. 2566) วันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้

สำหรับกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เริ่มกระบวนการตามระเบียบของกทม.เพื่อเร่งชำระหนี้ระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) หรืองาน E&M โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 วงเงิน 23,488.69 ล้านบาทนั้น ผู้บริหาร BTS เชื่อว่า จะได้รับชำระหนี้ภายในเดือนเมษายน 2567 ตามที่เคยเจรจากับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งจะช่วยเรื่องกระแสเงินสดของ BTS ได้เป็นอย่างมาก

ส่วนกรณีที่ BTS ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง 2 ครั้ง เพื่อให้กทม.ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 โดยครั้งแรกเป็นเงินประมาณ 11,755 ล้านบาท และการฟ้องร้องครั้งที่ 2 มีวงเงิน 11,068.50 ล้านบาทนั้น ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของศาลปกครอง พร้อมย้ำว่า BTS ยังไม่มีแผนจะฟ้องร้องเพิ่มเติมจนกว่าทั้ง 2 คดีนี้จะสิ้นสุดก่อน

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ทิสโก้ ประเมินสถานการณ์ของ BTS ว่า การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นรายใหญ่น่าจะส่งผลดีต่อ KEX หลังจากผู้บริหารได้อธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นรายใหญ่จาก KLN เป็น SF International Holding (ประเทศไทย) เนื่องจากกลุ่ม SF มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจขนส่งด่วน

อย่างไรก็ตาม  ประเมินว่า KEX จะยังคงขาดทุนจนถึงปี 68 F เทียบกับความคาดหวังของบริษัทว่าจะถึงจุดคุ้มทุน EBITDA ภายในไตรมาส 4 ปี 67 F และกลับมามีกำไรสุทธิในปี 68F เนื่องจากมองกลยุทธ์ของบริษัทในแง่ดีในการมุ่งเน้นไปที่ลูกค้าระดับกลางถึงระดับสูง และลูกค้าอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มรายได้ต่อการฝากขายในขณะที่ดำเนินโครงการลดต้นทุน

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิผลของแผนและอัตราการปรับปรุงรายได้ที่เกิดขึ้นจริงยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ทำให้คงคำแนะนำขาย ในราคาที่เหมาะสม 4.80 บาท

ขณะที่ บล.หยวนต้า ประเมินทิศทางธุรกิจของ VGI ว่า คาดบริษัทมีผลขาดทุนปกติในไตรมาส 3 ปี 66/67 ที่ 211 ล้านบาท ขาดทุนลดลงเมื่อเทียบไตรมาส 2 ปี 66/67 ที่ขาดทุน 264 ล้านบาท ขณะที่ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 65/66 ที่ขาดทุน 34 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสำคัญมาจาก

1)คาดรายได้รวมปรับเพิ่ม 22% เทียบไตรมาสก่อน ขณะที่ปรับลดลง 10% เทียบปีก่อน เหลือ 1,322 ล้านบาท เทียบปีก่อน ลดลงจากฐานที่สูงในปีก่อน เมื่อแบ่งตามธุรกิจพบว่ารายได้จากสื่อป้ายโฆษณาในรถไฟฟ้าทรงตัว มีผลกระทบจากการทยอยเปลี่ยนป้ายโฆษณาจาก Static เป็น Digital ขณะที่รายได้จาก Digital Service ปรับตัวดีขึ้น22% จากปีก่อน เป็น 463 ล้านบาท จากการที่ธุรกิจ Rcare มีรายได้จากการขายประกันเพิ่มขึ้น ส่วนรายได้จาก Distribution ลดลง 36% เทียบปีก่อน เหลือ 245 ล้านบาท จากการปรับกลยุทธ์ของ Fanslink ในการขายสินค้ามาขายสินค้า House brand มากขึ้น

2) ด้านประสิทธิภาพในการทำกำไรดีขึ้นจากปีก่อน ตามยอดขายที่ดีขึ้น และกลยุทธ์ในการเพิ่มอัตรากำไรของ Fanslink ในการเพิ่มสัดส่วนรายได้สินค้า House brand ที่มีมาร์จิ้นสูง 

3) ส่วนแบ่งกำไรของบริษัทร่วมคาดขาดทุน 220 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 2 ปี 66/67 ที่ขาดทุน 264 ล้านบาทแต่มากกว่าปีก่อนที่ขาดทุน 94 ล้านบาท จาก KEX ที่มีผลขาดทุนมากขึ้น โดยคาดบันทึกรายการพิเศษเป็นลบ 2.7 พันล้านบาท แต่เป็นขาดทุนทางบัญชี ไม่กระทบเงินสด

และหาก VGI ตัดขายหุ้น KEX หากคำนวณตามมูลค่าทางบัญชีของ KEX ตามวิธีส่วนได้ส่วนเสียที่ VGI บันทึก ณ สิ้น ก.ย.2566 ที่ 4,196 ล้านบาท หรือราว 15.60 บาทต่อหุ้น ตามสัดส่วนที่ VGI ถือ 15.45% คาดว่าบริษัทจะมีบันทึกรายการพิเศษ ขาดทุนด้อยค่าเงินลงทุนใน KEX ในไตรมาส 3 ปี 66/67 ราว 2,715 ล้านบาท ทำให้คงประมาณการมีผลขาดทุนปกติที่ 825 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขาดทุนปกติ 580 ล้านบาท แนะนำ “ซื้อ”

ส่วน BTS ด้านบล. ทิสโก้ ประเมินว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานและผลกำไรในไตรมาสถัด ๆ ไปยังดูไม่สดใส เพราะนอกจากจะไม่มีกำไรพิเศษจากการขายหุ้นแรบบิท-ไลน์เพย์ (RLP) ซึ่งเกิดขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2566/2567 แล้วธุรกิจระบบขนส่งมวลชน (MOVE) แม้ส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอส โกรท (BTSGIF) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้โดยสาร รวมทั้งความคืบหน้าคดีความ แต่บริษัทจะต้องบันทึกส่วนแบ่งขาดทุนจากรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพูที่เพิ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค.นี้ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีกว่าทั้งสายสีเหลืองและชมพูจะกำไร

ส่วนธุรกิจสื่อโมษณาและแพลตฟอร์มทางการตลาด (MIX) ธุรกิจหลักยังคงมีความท้าทายและยังคงต้องรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจาก บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หรือ KEX ต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจที่สร้างรายได้ค่าเช่า (MATCH) นั้น มอง บมจ.ธนูลักษณ์ (TNL) จะยังคงเติบโตจากทิศทางธุรกิจใหม่ที่มุ่งสู่ธุรกิจบริการทางการเงิน

นั่นทำให้ BTS ยังอยู่ระหว่างทบทวนประมาณการกำไร มูลค่าที่เหมาะสมและคำแนะนำการลงทุนต่อหุ้น BTS เนื่องจากผลประกอบการในช่วง 6 เดือนแรกปี 2566/2567 ต่ำกว่าที่คาด และมีปัจจัยเสี่ยงมาจากการฟื้นตัวที่ช้า ค่าใช้จ่ายจากการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู สีเหลือง มากกว่าคาด 

ดังนั้น ด้วยสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น  จึงทำให้ผู้ถือหุ้น BTS ต่างคาดหวังว่า บริษัทน่าจะตัวเบาขึ้น เพราะเงินที่ได้จาก กทม.จะถูกเอาไปใช้ชำระหนี้ที่ค้าง และทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลงไปมาก ขณะเดียวกันหากเกิดการตัดขายหุ้น KEX จริง จะยิ่งทำให้สภาพคล่องทางการเงินของกลุ่มบริษัทคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และยิ่งทำให้ BTS กลับมาสู่เส้นทางของตัวเองได้อย่างโดดเด่น จนมีความเป็นไปได้ที่ราคาหุ้นจะเริ่มขยับตัวไปอยู่ในระดับที่ควรจะเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น