xs
xsm
sm
md
lg

"คมนาคม"หารือ MLIT และ13 บริษัทชั้นนำญี่ปุ่นแลกเปลี่ยนความรู้-เทคโนโลยีก่อสร้างที่ทันสมัยและมีมาตรฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



คมนาคมสัมมนากับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีมาตรฐานร่วมกับเอกชนชั้นนำของญี่ปุ่น 13 บริษัทและพาศึกษาดูงานโครงการสะพานพระราม 10 "ทางด่วน พระราม3"ต่อยอดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไทยอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมราชรถสโมสร อาคารราชรถสโมสร กระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวกลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เป็นประธานเปิดงานสัมมนาทางวิชาการด้านการขนส่งทางถนนระหว่างไทยและญี่ปุ่น พร้อมด้วย Mr. ONODERA Seiichi, Deputy Minister for international Projects รองประธานองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น โดยมีผู้แทนจากกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานทางถนนจากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 13 บริษัท เข้าร่วมสัมมนาฯ ในการนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ โครงการก่อสร้างสะพานพระราม 10 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานทางถนน และเป็นแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในอนาคต


นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การจัดสัมมนาทางวิชาการด้านการขนส่งทางถนนระหว่างไทยและญี่ปุ่น ภายใต้บันทึกความร่วมมือระหว่าง “กระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT)” มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนนโยบาย เทคโนโลยีและประสบการณ์ด้านการขนส่งทางถนน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน โดยการสัมมนาฯ แบ่งเป็น 4 หัวข้อ ได้แก่

1. Tunneling Technology เทคโนโลยีการขุดอุโมงค์ เป็นกระบวนการที่ใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือพิเศษเพื่อขุดเจาะทางเข้าอุโมงค์ในที่ดินหรือหินใต้ดินสำหรับการก่อสร้างเส้นทางขนส่งหรือสายท่อต่าง ๆ

2.Operation and Maintenance Technology เทคโนโลยีในการดำเนินการและบำรุงรักษาสิ่งของหรืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลตามเป้าหมาย

3. Intelligent Transportation Systems : ITS Technology เทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการและปรับปรุงระบบการขนส่งทางถนนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น ระบบควบคุมการจราจรอัจฉริยะ ระบบเช็คสภาพถนน

4. New Material Technology เทคโนโลยีที่ใช้ในการพัฒนาวัสดุใหม่ ซึ่งอาจเป็นการพัฒนาวัสดุที่มีคุณสมบัติพิเศษหรือที่ดีกว่าวัสดุทั่วไปในแง่ต่างๆ เช่น คอนกรีตชนิดพิเศษแห้งเร็ว


นายมนตรี เดชาสกุลสม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมรับรู้ถึงความสำคัญของถนนที่เชื่อมต่อกับชุมชน ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเชื่อมต่อการขนส่งแบบไร้รอยต่อจึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ตรงตามมาตรฐานระดับสากล โดยให้ความสำคัญกับความมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และยั่งยืน การสัมมนาฯ ในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ จะได้แลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีมาตรฐานร่วมกับบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งเร่งรัดพัฒนาและบูรณาการเทคโนโลยีด้านโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพในทุกมิติ


สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานพระราม 10 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความกว้างที่สุดในประเทศไทย โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก ก่อสร้างเป็นสะพานขึง (Cable Stayed Bridge) คู่ขนานกับสะพานพระราม 9 ตัวสะพานมีจุดเริ่มต้นบริเวณเชิงลาดสะพานพระราม 9 (ฝั่งธนบุรี) ขนาด 8 ช่องจราจร ความยาวช่วงกลางสะพาน (Mid Span) 450 เมตร ความยาวสะพาน 780 เมตร สิ้นสุดโครงการฯ ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ เชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ระยะทางรวมประมาณ 2 กิโลเมตร

การก่อสร้างได้คำนึงถึงปัญหาการจราจรที่ติดขัดสะสมในช่วงขึ้นสะพานพระราม 9 จึงออกแบบการก่อสร้างให้มีความลาดชันน้อยกว่าสะพานพระราม 9 ที่เริ่มยกระดับจากพื้นดิน เป็นเริ่มยกระดับจากระดับชั้นที่ 2 ซึ่งสูงจากพื้นดินประมาณ 10 เมตร ทำให้ผู้ใช้ทางสามารถวิ่งขึ้น - ลงสะพานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ไม่เกิดการชะลอตัวสะสมในช่วงขาขึ้นสะพาน

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแบบจำลองสะพาน Full Model สำหรับทดสอบความแข็งแรงของสะพานต่อแรงลม ซึ่งสามารถรับแรงลมได้ถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโด ดังนั้น สะพานจึงมีความแข็งแรงเป็นอย่างยิ่ง


ทั้งนี้ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก มีผลการดำเนินงาน (ณ เดือนมกราคม 2567) ร้อยละ 72.44 คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการโครงการฯ (บางส่วน) ได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ กับพื้นที่ปริมณฑลด้านตะวันตก และช่วยลดเวลาการเดินทางให้กับผู้ใช้ทางพิเศษให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น