xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานศึกษาปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯใหม่คาดเสร็จไตรมาส3-4 ปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กระทรวงพลังงานเดินหน้าปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติใหม่ จ้างที่ปรึกษาลุยดูทุกมิติ พร้อมรับฟังเสียงทุกภาคส่วน คาดแล้วเสร็จใน 9 เดือนหรือราว ไตรมาส 3-4 ปีนี้ เผย ราคาLNGลดลง แหล่งเอราวัณมาตามนัด ผลกระทบ ปตท.ต่ำกว่าคาดการณ์ ด้าน “คุณหญิงทองทิพ” ห่วงกระทบขีดความสามารถการแข่งขัน สินค้าไทยแข่งยาก


นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงฯ โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เตรียมว่าจ้างที่ปรึกษา ดำเนินการศึกษา การปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ของประเทศให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายโดยกำหนดกรอบการศึกษาแล้วเสร็จภายใน 9 เดือนหรือประมาณ ไตรมาส 3-4 ในปี 2567 ซึ่งการศึกษาจำเป็นต้องมองผลกระทบในทุกมิติประกอบด้วย ทั้งต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะส่งผ่านไปยังประชาชน ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องเช่น ปิโตรเคมี รวมถึงศักยภาพการแข่งขันของบมจ.ปตท. และที่สำคัญคือขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศที่จะเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงด้วย

“ประเด็นนี้คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต ผู้เชี่ยวชาญปิโตรเลียมได้แสดงความเป็นห่วงว่าจะกระทบอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพราคาซื้อขายวัตถุจากโรงแยกก๊าซฯ ของ บมจ.ปตท. จะเป็นราคาอ้างอิงตลาด ไม่ใช่ราคาอ้างอิงต้นทุนก็ตาม แต่ เมื่อ ปตท.มีภาระมากขึ้นก็อยู่ในระหว่างการเจรจากับบริษัทในเครือ ที่ใช้วัตถุดิบขอขยับราคาเช่นกัน ซึ่งเมื่อต้นทุนปิโตรเคมีขั้นต้นขยับขึ้น ก็จะกระทบมายังอุตสาหกรรมขั้นกลาง-ขั้นปลาย ผู้ผลิตพลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ และอื่นๆตามมาขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องอาจลดลงได้เช่นกัน”ปลัดพลังงานกล่าว

ดังนั้นกรอบการศึกษาต้องรอบด้าน เช่น กรณีหากนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว( LNG )เข้ามาเพิ่มขึ้น มีการใช้ก๊าซอ่าวไทย น้อยลง ผลกระทบต่อเนื่องกับประเทศเป็นอย่างไร ควรจะมีการกำหนดเพดานหรือกรอบการนำเข้า LNG ในการคำนวน pool Gas หรือไม่, หรือในกรณี กลับไปใช้สูตร pool Gas แบบเดิมที่ไม่อิง การนำเข้า LNG ราคาตลาดจร ในส่วนนี้ควรจะกำหนดกำไรของ โรงแยกก๊าซฯให้เหมาะสม แล้วหากมีกำไรเกินเกณฑ์ ก็ควรนำมาส่งมอบในการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชน, หรือ รัฐบาลควรซื้อโรงแยกก๊าซฯจาก ปตท.มาบริหารจัดการเอง ซึ่งก็จะตอบโจทย์ในการลดต้นทุนค่าครองชีพ และไม่กระทบต่อผู้ถือหุ้นของ ปตท. ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ก็จะต้องเป็นตุ๊กตาให้ที่ปรึกษาหาคำตอบต่อไป

“สนพ.จะต้องตั้งโจทย์ให้ ที่ปรึกษา พิจารณาให้รอบด้าน ซึ่งการปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯระยะสั้นที่ประกาศใช้ ตามมติ ครม. 19 ธ.ค.66นั้น ส่งผลให้ต้นทุนของโรงแยกก๊าซฯ เปลี่ยนแปลงจากก๊าซฯ ในอ่าวไทยเป็นต้นทุนถัวเฉลี่ยก๊าซฯ จากทุกแหล่ง ได้แก่ อ่าวไทย เมียนมา และก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas: LNG) (Pool Gas) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ บมจ.ปตท. ที่จะปรับสูงขึ้น ยกเว้นก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG)ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในประเทศ”ปลัดกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของ ปตท.จากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ ที่มีการประมาณการผลกระทบเบื้องต้น ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.67 ทำให้ผลการดำเนินงานโดยรวมของธุรกิจก๊าซฯ ของ ปตท. ปรับตัวลดลงประมาณ 6,500 ล้านบาท นั้น หากดูข้อมูลที่แท้จริง ผลกระทบก็อาจจะลดลง เพราะ ราคาSopt LNG ที่ใช้คำนวณอยู่ที่ 13เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู แต่ขณะนี้ลดลงเหลือประมาณ 9.50 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ในขณะเดียวกัน ปลายเดือนมีนาคมนี้ หากแหล่งเอราวัณผลิตได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก็อาจะทำให้ การพึ่งพาLNG ลดลง ผลกระทบต่อ ปตท.ก็ลดลงไปด้วย ในขณะเดียวกัน ปตท. ได้วางแผนเพื่อหามาตรการในการลดผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น การปรับแผนการเดินเครื่องของโรงแยกก๊าซฯ (Optimization) การเสนอแนวทางการจัดหา LNG เพื่อให้บรรลุเป้าหมายกรอบราคาค่าไฟฟ้าตามนโยบายภาครัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น