xs
xsm
sm
md
lg

“ภูมิธรรม”ลุยต่อดันราคาเกษตร เกาะติดผลผลิต หาตลาดล่วงหน้า แก้ปัญหาคงค้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ภูมิธรรม” โชว์ผลงานดูแลราคาสินค้าเกษตร ตั้งแต่เดือนก.ย.66 ถึงปัจจุบัน ราคาเพิ่มขึ้นทุกรายการ ทั้งข้าว มัน ปาล์ม ข้าวโพด ยางพารา รวมถึงหอมแดง มังคุด ทุเรียน ส้มเขียวหวาน พร้อมเปิดมาตรการดันราคาต่อ เร่งทำแผนระดับนโยบายเพื่อบริหารสมดุลทุกฝ่าย ทำคู่มือผลผลิต ระบบเตือนภัย หาตลาดล่วงหน้า พร้อมผนึกเอกชน หน่วยงานรัฐ แก้ปัญหาคงค้าง ทั้งใบด่าง พัฒนาพันธุ์ข้าว เพิ่มเปอร์เซ็นต์ปาล์ม

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือนก.ย.2566 ที่รัฐบาลเศรษฐา ได้เข้ามาบริหารประเทศ และตนได้เข้ามากำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการกำหนดมาตรการในการดูแลราคาสินค้าเกษตรสำคัญทันที ซึ่งหลายมาตรการต่อเนื่องมาจากรัฐบาลที่แล้ว ก็ไม่ได้ทิ้ง แต่ได้ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จนสามารถผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว เพิ่ม 12% มันสำปะหลัง เพิ่ม 49% ปาล์มน้ำมัน เพิ่ม 9% ยางพารา ยางแผ่นดิบ เพิ่ม 22% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่ม 6% พืชหัว เช่น หอมแดง เพิ่ม 27% ผลไม้ เช่น มังคุด เกรดมันรวม ราคาสูงสุด 100 บาท/กิโลกรัม (กก.) ทุเรียน เกรด AB ราคาสูงสุด 205 บาท/กก. ส้มเขียวหวาน 22 บาท/กก เพิ่มขึ้น 57% เป็นต้น

“ราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการทำงานเชิงรุกด้วยความใส่ใจ และใช้ความสามารถในการบริหารจัดการ โดยมีการวางแผนล่วงหน้า จัดการผลผลิตในแต่ละช่วงเวลา ทำให้รู้ล่วงหน้า พยากรณ์ล่วงหน้าได้ แม้ว่าสินค้าเกษตรจะออกเป็นช่วงฤดูกาล แต่เมื่อมีแผนรับมือ และปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ทำให้เราดูแลราคาสินค้าเกษตรกรให้มีเสถียรภาพได้ และจากนี้ จะยังคงเดินหน้าดูแลราคาสินค้า เพื่อดูแลพี่น้องเกษตรต่อไป”

นายภูมิธรรมกล่าวว่า สำหรับแผนดูแลราคาสินค้าเกษตรจากนี้ไป จะมีการวางระบบติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดตามฤดูกาล เพื่อเตรียมการตอบสนองข้อเรียกร้อง และรับมือกับปัญหาล่วงหน้า โดยจะสื่อสารใกล้ชิดกับเกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้าเกษตร บริหารจัดการสมดุลในห่วงโซ่สินค้าเกษตร ทั้งระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบ ผู้บริโภค และได้มอบหมายให้คณะกรรมการสินค้าเกษตรต่าง ๆ ที่ตนกำกับดูแล พิจารณามาตรการรับมือล่วงหน้า รวมไปถึงศึกษาโครงสร้างต้นทุน และราคาสินค้าเกษตร ให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์สมดุล เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบ ซึ่งต้องรับฟังทุกภาคส่วนให้มีความเข้าใจร่วมกัน

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดในแต่ละจังหวัด ทำการสำรวจสถานการณ์ผลผลิต ปริมาณผลผลิต และแนวโน้มราคาเป็นการล่วงหน้า จัดทำระบบแจ้งเตือนกรณีมีสิ่งบ่งชี้ที่จะส่งผลให้มีปัญหาด้านราคา เพื่อให้ส่วนกลางทราบ จะได้เตรียมแก้ไขปัญหาได้ทัน ส่วนทูตพาณิชย์ ให้จัดทำคู่มือตลาดว่าตลาดที่ดูแลอยู่ มีความต้องการสินค้าเกษตรอะไรบ้าง ต้องการแบบไหน อย่างไร เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้ ให้ผู้ประกอบการได้รับทราบ จะได้เตรียมเพาะปลูก เตรียมผลิตเพื่อขายตามความต้องการของตลาด ซึ่งได้กำหนดเป็น KPI ในการวัดผลงานด้วย

ขณะเดียวกัน จะทำงานร่วมกับภาคเอกชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ปัญหาที่คงค้าง เช่น การแก้ไขปัญหาโรคใบด่าง ที่เกิดขึ้นในมันสำปะหลัง ได้หารือกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาพันธุ์ที่แข็งแรง ทนโรค และจะร่วมมือกับหน่วยงานอาสา ช่วยแจกจ่ายพันธุ์ หากหน่วยงานรัฐมีปัญหาเรื่องงบประมาณ การพัฒนาพันธุ์ข้าว ให้ตอบโจทย์ตลาดโลก ให้แข่งขันได้ในตลาดโลก เพราะทุกวันนี้ ผลผลิตต่อไร่ไทยยังแพ้เวียดนามอยู่มาก ส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายป่า ไม่สร้างมลภาวะ เพิ่มระดับราคาผลปาล์ม ด้วยการเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันการสกัดโดยห้ามลานรับซื้อทำปาล์มร่วง และผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่มใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการผลิต เช่น การใช้โดรน ซึ่งรัฐพร้อมจะสนับสนุนทั้งทางด้านเทคนิคและเงินทุน ให้กับเกษตรกรที่พร้อมปรับเปลี่ยน

สำหรับการพัฒนาเกษตรกรและผลผลิต จะผลักดันเกษตรกรให้เป็นสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ ปรับแนวคิดในการทำการเกษตร เป็นเกษตรสมัยใหม่ และให้ความสำคัญในด้านคุณภาพ มาตรฐาน ผลักดันให้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ทั้งเกษตรเชิงอนุรักษ์ และส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

ส่วนด้านการตลาด ส่งเสริมการทำเกษตรพันธสัญญา เพื่อให้เกษตรกรมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน ส่งเสริมตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านตลาดชุมชน การร่วมมือกับไปรษณีย์ไทย ในการระบายสินค้าเกษตร และผลักดันขายออนไลน์ ซึ่งเป็นตลาดแนวใหม่ มีการเติบโตสูง ไม่ใช่แค่การนำสินค้าไปขายในตลาด แต่ขายอยู่ในอากาศ ขายได้ทุกที่ทุกเวลา รวมทั้งจะผลักดันให้ใช้อินฟลูเอนเซอร์สินค้าเกษตร ที่จะเข้ามาช่วยขายสินค้าเกษตร เพราะทุกวันนี้ คนชอบแบบนี้ รวมไปถึงการใช้กลไกภาครัฐ ในการขายสินค้าเกษตร เช่น การทำจีทูจี เพื่อขายข้าว ซึ่งขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับอินโดนีเซีย โดยมั่นใจว่าจะเจรจาได้จบ อย่างน้อยต้องก่อนที่ผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่จะออกมาในช่วงเดือน มี.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น