xs
xsm
sm
md
lg

"สรพันธ์" ร่วมยินดี "ทูตสวิส" บรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก ย้ำไทยเดินหน้าเปลี่ยนรถเมล์ไฟฟ้า 2,000 คัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.คมนาคมร่วมแสดงความยินดีกับเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีส "ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก" ย้ำไทยเดินหน้าเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางเป็นไฟฟ้า (E-Bus) 2,000 คัน

นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นางมนพร เจริญศรี) พร้อมด้วย นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้แทนกระทรวงคมนาคม ร่วมเป็นเกียรติในงานเลี้ยงรับรองความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสวิตเซอร์แลนด์ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ข้อบทที่ 6 ของความตกลงปารีส และการดำเนินโครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครให้เป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (โครงการ E-Bus) ครบ 2,000 คัน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ กล่าวว่า ตนได้ร่วมงานเลี้ยงรับรองและแสดงความยินดีต่อ นายเปโดร สวาห์เลน (H.E Mr. Pedro Zwahlen) เอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในความสำเร็จของการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ข้อบทที่ 6 ของความตกลงปารีส ซึ่งถือเป็นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมคู่แรกของโลกที่มีการใช้ผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่ถ่ายโอนระหว่างประเทศ (Internationally Transferred Mitigation Outcomes : ITMOs) ตามแผนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด


สำหรับความตกลงปารีส (Paris Agreement) เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่มุ่งเน้นให้ประเทศภาคีเกิดการเสริมสร้างการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมความตกลงปารีส เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 และได้ให้ข้อเสนอการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับประชาคมโลก (National Determined Contribution - NDC) โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573 ตามร่างแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564-2573 (Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021-2030) ผ่านการดำเนินการในสาขาต่างๆ เช่น สาขาพลังงานและขนส่ง สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และสาขาการจัดการของเสีย

นายสรพันธ์กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีความพร้อมและมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศไทยกับสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมทั้งขับเคลื่อนนโยบายและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมทั้งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาการคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น